พ.ฎีกา แจงแนวคิดห้ามตรวจร่างคำพิพากษา เคยมีปัญหาปี 40

พ.ฎีกา แจงแนวคิดห้ามตรวจร่างคำพิพากษา เคยมีปัญหาปี 40

หนึ่งในผู้พิพากษาศาลสูง เล่าย้อนร่าง รธน.ปี 40 มีแนวห้ามตรวจร่างคำพิพากษา สุดท้ายพบสถิติคำพิพากษาชั้นต้นถูกกลับแก้ไขมาก ความเสียหายตก ปชช. เชื่อการตรวจร่างก่อนเพิ่มความรอบคอบ การเสนอแก้ควรศึกษาถ่องแท้ก่อน

เมื่อวันที่ 7 ต.ค.62 แหล่งข่าวผู้พิพากษาในศาลฎีการายหนึ่ง ได้กล่าวถึงกรณีที่สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะรองประธาน กมธ.กฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ออกมาให้ความเห็นถึงกรณีนายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา ใช้อาวุธปืนยิงตัวเอง บนบัลลังก์ศาล โดยนายสิระ จะเสนอเรื่องดังกล่าวให้ที่ประชุม กมธ.พิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงและดูเรื่องของข้อกฎหมายจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม เพื่อห้ามกระทำการตรวจร่างคำพิพากษาก่อนอ่านให้คู่ความฟัง การห้ามกระทำการใด ๆ อันมีผลเป็นการแทรกแซงผลคำพิพากษา ตามข้อเรียกร้องของนายคณากรหรือไม่ว่า ศาลยุติธรรมใช้ระบบตรวจสำนวนและร่างคำพิพากษาที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมาตั้งแต่ดั้งเดิมโดยถือว่าเป็นการตรวจสอบภายในองค์กรเพื่อให้เกิดความถูกต้องเป็นธรรมแก่คู่ความ และเป็นการช่วยดูแลมาตรฐานของคำพิพากษาที่จะมีผลกระทบต่อประชาชน อีกทั้งยังเป็นการถ่ายททอดประสบการณ์จากผู้พิพากษาผู้ใหญ่ ไปยังผู้พิพากษารุ่นต่อๆ มา แต่การตรวจร่างคำพิพากษายังคงให้อิสระแก่องค์คณะผู้พิพากษาที่จะยืนยันคำตัดสินของตนโดยไม่จำต้องปฏิบัติตามความเห็นที่มีลักษณะเป็นข้อทักท้วงของผู้พิพากษาผู้ใหญ่ที่ต้องมีความรับผิดชอบในการทำความเห็นเป็นลายลักษณ์อักษร และสามารถตรวจสอบได้

โดยเมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญฯ ปี 2540 มีแนวคิดให้องค์คณะผู้พิพากษามีอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีปราศจากการตรวจสอบ โดยห้ามผู้พิพากษาที่เป็นผู้บริหารศาลตรวจสำนวนและร่างคำพิพากษาก่อนอ่านให้คู่ความฟัง หลังจากนั้นมีสถิติซึ่งรวบรวมไว้ปรากฏชัดแจ้งว่า คำพิพากษาศาลชั้นต้นถูกกลับและแก้ไขโดยศาลสูงมากขึ้นเป็นลำดับๆ จนน่าตกใจ (ตามรายงานการศึกษาของคณะทำงานเพื่อพิจารณาผลกระทบจากการปรับโครงสร้างศาล ตาม รธน.ปี 2540) ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากผลคำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงตกแก่ประชาชนเพราะมีความผิดพลาดเกิดมากขึ้นแม้คำพิพากษาศาลชั้นต้นจะถูกแก้ไขโดยศาลสูงให้ถูกต้องสมบูรณ์ก็ตาม กระทั่งเมื่อมี รธน.ปี 2550 จึงมีการแก้ไขกฎหมายกลับมาใช้ระบบตรวจคำพิพากษาแบบเดิมที่ใช้อยู่ในปัจจุบันซึ่งไม่ได้ถือว่าเป็นการแทรกแซงการตัดสินคดีแต่เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ถูกต้องและให้เกิดความละเอียดรอบคอบมากยิ่งขึ้น

ดังนั้นในการเสนอให้แก้ไขกฎหมายเพื่อให้องค์คณะผู้พิพากษาใช้ดุลพินิจอย่างอิสระโดยผู้เสนอความเห็นไม่ได้ศึกษาข้อมูล และความเป็นมาของระบบการตรวจสำนวนและร่างคำพิพากษาที่ใช้อยู่ภายในองค์กรศาลยุติธรรม และปัญหาที่เกิดขึ้นจากการห้ามตรวจสอบร่างคำพิพากษาก่อนอ่านให้คู่ความฟังทุกกรณี ให้ถ่องแท้เสียก่อนอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบการพิจารณาพิพากษาคดี ความเสียหายย่อมตกแก่ประชาชนในที่สุดดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต