อว.หนุน‘นวัตกรรมตำรวจ’ มั่นใจส่งตีตลาดเพื่อนบ้าน

อว.หนุน‘นวัตกรรมตำรวจ’ มั่นใจส่งตีตลาดเพื่อนบ้าน

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สร้างมิติใหม่วงการวิจัย จับมือกระทรวงการอุดมฯ เปิดตัวต้นแบบเทคโนโลยีพร้อมใช้จากแพลตฟอร์มไอโอที “อุปกรณ์ติดตามรถหาย” - “ด่านตรวจอัจฉริยะ” เพิ่มประสิทธิภาพงานบริการสาธารณะ เผยเล็งผลิตส่งขายหน่วยงานด้านความมั่นคงในประเทศเพื่อนบ้าน

พ.ต.ต.ภูริตพัชร์ นันทสิทธิ์อังกูร สารวัตรพิสูจน์หลักฐานจังหวัดอ่างทอง ปฏิบัติราชการ ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 7 เปิดเผยระหว่างการเสวนา “บทบาทของตำรวจกับการพัฒนานวัตกรรมบริการสาธารณะ” ในงาน "อินโนเวชั่น ไทยแลนด์ เอกซ์โป" โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือเอ็นไอเอ ว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ความสำคัญการใช้เทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพงานบริการสาธารณะ ลดความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่พนักงานในการป้องกันและปราบปรามอาชญากร ภายใต้การเตรียมการแผนงานวิจัยและนวัตกรรมที่สำคัญหรือริเริ่มใหม่ของงานตำรวจคือ “เมืองปลอดภัย”

โดยร่วมมือกับหน่วยงานภายใต้สังกัด กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในหลายประเด็นและโครงการนำร่องในแผนงานดังกล่าว ซึ่งในส่วนที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ เอ็นไอเอ มี 2 โครงการคือ โครงการนวัตกรรมเพื่อการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมยานยนต์ ของ สน.บางซื่อ (BIP:Bangsue Innovation Police) และโครงการด่านตรวจอัจฉริยะ

"ในส่วนของตำรวจสากลหรือตำรวจในประเทศฐานนวัตกรรมนั้น มีความร่วมมือกับหน่วยงานวิจัยในประเทศของเขา พัฒนาเทคโนโลยีระดับสูงเพื่อภารกิจด้านความมั่นคงของประเทศ ส่วนเทคโนโลยีระดับรองที่ซับซ้อนไม่มากและใช้ในงานบริการสังคมนั้น นอกจากใช้ในประเทศแล้วก็ยังส่งออกสร้างรายได้เข้าประเทศด้วย ดังนั้น การพัฒนานวัตกรรมจะเป็นการเปิดมิติใหม่ให้กับงานตำรวจ ที่จะทำการผลิตควบคู่กับภาคธุรกิจเอกชนแล้วคาดหวังที่จะส่งขายให้กับตำรวจในประเทศเพื่อนบ้านด้วย” พ.ต.ต.ภูริตพัชร์ กล่าว

สน.บางซื่อ ชู IoT ติดตามรถหาย 

พ.ต.ท.วรภัทร สุขไทย สารวัตรป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ รับผิดชอบโครงการ นวัตกรรมเพื่อการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมยานยนต์ (BIP:Bangsue Innovation Police) กล่าวว่า ปัญหาอาชญากรรมที่พบบ่อยในพื้นที่ สน.บางซื่อคือ การโจรกรรมรถจักรยานยนต์ จึงมองหานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่จะแก้ปัญหานี้ โดยเริ่มจากการนำโจทย์เข้าหารือหน่วยงานเทคโนโลยีของประเทศคือ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) การหารือครั้งนั้นได้ Solution แนวทางแก้ปัญหาการโจรกรรมรถโดยใช้ เทคโนโลยีติดตามยานพาหนะ(GPS Tracker)


“ทาง สน.บางซื่อ สนใจที่จะนำอุปกรณ์ GPS Tracker ติดตั้งใช้กับยานพาหนะของประชาชนในพื้นที่ แต่ติดปัญหาตรงที่ราคาอุปกรณ์และค่าบริการ โดยอุปกรณ์ที่ทดลองใช้กับรถตำรวจนั้นปกติใช้ติดตามรถบรรทุกน้ำมัน มีราคา 7,500 บาท ค่าบริการสัญญาณเครือข่ายรายเดือน 300 บาท อาจจะคุ้มค่าเมื่อใช้กับกิจกรรมการขนส่ง แต่ราคาสูงเกินไปสำหรับการติดตั้งกับรถจักรยานยนต์ของประชาชน จึงได้ร่วมกับบริษัทเอกชน พัฒนานวัตกรรม NB-IoT GPS Tracker ตามนโยบายPPP (Public & Private Partnership) ของรัฐบาล นำเสนอโครงการฯ กับ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) เพื่อเป็นต้นแบบ GPS Tracker ในราคาที่ประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้”

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) หนุน 1.3 ล้านบาท

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (เอ็นไอเอ) สนับสนุน 1.3 ล้านบาท พัฒนาระบบ GPS Tracker ให้กับ สถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ โดยได้ร่วมกับบริษัทเอกชน สร้างนวัตกรรมต้นแบบ NB-IoT GPS Tracker ประมาณ 200 ชุด ราคาในโครงการทดสอบ 1,500 บาท ค่าบริการสัญญาณเครือข่าย 50 บาทต่อเดือน รวมทั้งพัฒนาระบบเฝ้าติดตาม ซึ่งมีศูนย์สั่งการ (Command Control) อยู่ที่ สน.บางซื่อ จากนั้นเตรียมจะเปิดรับลงทะเบียนผู้เข้าร่วมทดสอบติดตั้งอุปกรณ์ 200 คัน โดยกำหนดเงื่อนไขเบื้องต้นคือ เจ้าของรถต้องอยู่ในพื้นที่ดูแลของ สถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ

Tracker จะระบุพิกัดสถานที่จอดยานพาหนะ และส่งสัญญาณเตือนไปยัง 3 ส่วนคือ สน.บางซื่อ, เจ้าของรถและผู้ประกอบการที่ร่วมพัฒนา ในกรณีรถถูกกระแทก ถูกงัดแงะ ถูกไฟไหม้ ถูกถอดแบตเตอรี่ ทั้งยังบันทึกพฤติกรรมผู้ขับขี่เพื่อดูว่าขับขี่เร็วกว่ากฎหมายกำหนดหรือไม่ และแจ้งเตือนกรณีวินจักรยานยนต์รับจ้างวิ่งรับลูกค้านอกเขต ซึ่งกรณีเป็นการควบคุมและตัดปัญหาวิน จยย.แย่งกันรับผู้โดยสารข้ามเขตฯ

ด่านตรวจอัจฉริยะเริ่ม ม.ค.63

ด้านโครงการวิจัยและพัฒนา ด่านตรวจอัจฉริยะ พ.ต.ต.ณรงค์ฤทธิ์ งามแฉ่ง สารวัตรสถานีตำรวจทางหลวง 3 กองกำกับการ 2 กองบังคับการตำรวจทางหลวง ดูแลประชาชนที่ใช้บริการทางหลวงในช่วง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทางประมาณ 200 กิโลเมตร กล่าวว่า ด่านตรวจอัจฉริยะจะมีเทคโนโลยีหลักคือ กล้องพร้อมเอไอประมวลผลประสิทธิภาพสูง ทำหน้าที่บันทึกภาพเก็บข้อมูลยานพาหนะทั้งขาขึ้นและขาล่อง

เมื่อได้รับการประสานแจ้งให้สกัดรถต้องสงสัย ระบบสามารถแจ้งได้ทันทีถึงข้อมูลเวลาที่รถเป้าหมายนั้นผ่านด่านฯ จำนวนผู้โดยสารและข้อมูลอื่นๆ จะช่วยให้การสกัดจับทำได้รวดเร็ว โดยระบบนี้เตรียมติดตั้งในช่วงเดือน ม.ค.2563  จากปัจจุบันเมื่อได้รับแจ้งให้สกัดรถเป้าหมาย เจ้าหน้าที่จะรุดไปตั้งด่านตรวจแล้วอยู่เฝ้าประมาณ 3 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ หากรถเป้าหมายยังไม่ปรากฏก็ต้องย้ายจุดตั้งด่านตรวจใหม่ก็ต้องใช้เวลาอีก 3 ชั่วโมง แต่นวัตกรรมนี้จะทำให้ทราบทันทีว่ารถเป้าหมายเข้าพื้นที่แล้วหรือยัง เมื่อกี่โมง เป็นต้น จึงสนับสนุนให้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่สะดวกและเรียลไทม์ยิ่งขึ้น