ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 7 - 11 ต.ค. 62 และสรุปสถานการณ์ 30 ก.ย. - 4 ต.ค. 62

ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 7 - 11 ต.ค. 62 และสรุปสถานการณ์ 30 ก.ย. - 4 ต.ค. 62

ราคาน้ำมันดิบคาดปรับลด จากกำลังการผลิตของซาอุฯ ที่เพิ่มสูงขึ้น และตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอ

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 50 - 56 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 56 - 61 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (7 – 11 .. 62)

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มถูกกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังซาอุดิอาระเบียสามารถกลับมาดำเนินการผลิตน้ำมันดิบได้ในระดับที่สูงขึ้น หลังโรงงานแปรรูปน้ำมันดิบและแหล่งผลิตน้ำมันดิบถูกโจมตีเมื่อวันที่ 14 ก.ย. ประกอบกับปริมาณน้ำมันดิบคงคลังในสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากความต้องการใช้สำหรับโรงกลั่นลดลงในช่วงปิดซ่อมบำรุงตามฤดูกาล นอกจากนี้ ความต้องการใช้น้ำมันยังคงถูกกดดันจากสภาพเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และจีนที่ยังคงอ่อนแอ อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงจับตาผลการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในช่วงวันที่ 10 – 11 ต.ค. นี้ ซึ่งสหรัฐฯ เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่าจะสามารถทำข้อตกลงการค้ากับจีนเร็วกว่าที่คาดไว้

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

  • กำลังการผลิตน้ำมันดิบของซาอุดิอาระเบียมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องซึ่งเร็วกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ หลังโรงงานแปรรูปน้ำมันดิบและแหล่งผลิตน้ำมันดิบถูกโจมตีเมื่อวันที่ 14 .. ที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบหายไปกว่า 7 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือประมาณร้อยละ 5 ของกำลังการผลิตน้ำมันดิบของโลก โดยซาอุดิอาระเบียสามารถกลับมาผลิตน้ำมันดิบได้สู่ระดับ 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วงสิ้นเดือน ก.ย. ซึ่งใกล้เคียงกับกำลังการผลิตในเดือน ส.ค. ที่ระดับ 9.78 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  •  ปริมาณน้ำมันดิบในสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังโรงกลั่นในสหรัฐฯ ปรับลดกำลังการกลั่นในช่วงฤดูกาลปิดซ่อมบำรุง โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 27 ก.ย.ปรับเพิ่มขึ้น 3.1 ล้านบาร์เรล ซึ่งสูงกว่าที่ตลาดคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 1.6 ล้านบาร์เรล
  • อุปสงค์น้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวลดลงจากเศรษฐกิจที่ยังคงอ่อนแอ โดยดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐฯ ลดลงสู่ระดับ 8 ในเดือน ก.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 10 ปี ประกอบกับ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของจีนในเดือน ก.ย. อยู่ที่ระดับ 49.8 ซึ่งปรับตัวขึ้นเล็กน้อยจากเดือน ส.ค. ที่ระดับ 49.5 ทั้งนี้ตัวเลขดัชนีที่ต่ำกว่าระดับ 50 นับเป็นภาวะหดตัวของภาคการผลิตสหรัฐฯ และจีน ซึ่งเป็นผลจากการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยังคงยืดเยื้อ
  • ตลาดยังคงจับตาผลการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในช่วงวันที่ 10 – 11 ต.ค. 62 ที่กรุงวอชิงตัน โดยนายหลิว เหอ รองนายกรัฐมนตรีจีนจะเป็นผู้นำคณะเจรจาการค้าของจีน ทั้งนี้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้กล่าวก่อนหน้านี้ว่าสหรัฐฯ จะสามารถทำข้อตกลงการค้ากับจีนเร็วกว่าที่คาดไว้
  • ตลาดยังคงกังวลเกี่ยวกับความตึงเครียดในตะวันออกกลาง หลังสหรัฐฯ เตรียมใช้มาตรการคว่ำบาตรเรือสัญชาติจีนที่ยังนำเข้าน้ำมันจากอิหร่าน และได้สั่งลงโทษคว่ำบาตรบริษัทเรือ COSCO ของจีนที่ได้ลอบขนส่งน้ำมันอิหร่านไปแล้ว
  • เอกวาดอร์ประกาศจะถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มโอเปคตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 หลังประสบปัญหาทางด้านการเงินภายในประเทศอย่างต่อเนื่องและไม่ต้องการที่จะลดกำลังผลิตน้ำมันดิบตามข้อตกลงของกลุ่มโอเปคและผู้ผลิตนอกกลุ่ม
  • เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคการบริการจีน ดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯ การแถลงผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป และการว่างงานสหรัฐฯ

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (30 ก.ย. – 4 ต.ค. 62)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 3.10 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 52.81 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 3.54 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 58.37 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 57.80 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงกดดันจากเศรษฐกิจที่ยังคงอ่อนแอ โดยดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐฯ ในเดือน ก.ย. 62 ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 47.8 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย.52 ประกอบกับซาอุดิอาระเบียสามารถกลับมาดำเนินการผลิตน้ำมันดิบได้อีกครั้ง นอกจากนี้ ตัวเลขปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรับตัวสูงขึ้นกว่า 3 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ตลาดยังได้รับแรงหนุน จากการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปคในเดือน ก.ย. 62 ที่ปรับลดลง 750,000 บาร์เรลต่อวัน ลงไปแตะระดับ 28.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่ปี 2554 นอกจากนี้ การผลิตน้ำมันดิบของรัสเซียในเดือน ก.ย. 62 ปรับตัวลดลงไปอยู่ระดับ 11.24 ล้านบาร์เรลต่อวัน