Moonshot Thinking คิดข้ามโลก สู่ “ธุรกิจยั่งยืน” 

Moonshot Thinking คิดข้ามโลก สู่ “ธุรกิจยั่งยืน” 

วิกฤติโลกซับซ้อนจาก เศรษฐกิจทุนนิยมเดินผิดทาง ผ่าแนวคิด UN รุกใช้โมเดล Moonshot กล้าคิดข้ามโลก ดันโลกอุดมคติ สู่ ความเป็นจริง ดับวิกฤติ สร้าง"โลก" - "ธุรกิจ" สมดุล โตยั่งยืน ปี 2030

โลกกำลังเผชิญกับภาวะวิกฤติจากการพัฒนาธุรกิจแบบทุนนิยม จนนำสู่ปัญหาอันซับซ้อน ยิ่งพัฒนายิ่งเพิ่มภาวะวิกฤติให้กับโลก มีการบริโภคนิยมไร้ขีดจำกัด นำทรัพยากรที่มีจำกัดมาใช้อย่างไม่เป็นธรรม สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น ผู้คนในเมืองกลับไม่ได้มีสุขภาพดีขึ้น ขณะที่ยังมีหลายประเทศเผชิญกับความหิวโหย ยังไม่นับรวมการขาดปฏิบัติกับมนุษยชาติด้วยความเท่าเทียม 

ยิ่งไปกว่านั้น คาดการณ์ว่าภายในปี 2593 ประชากรโลกจะเพิ่มขึ้น 8.3 พันล้านคน ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น และมีประชากรอายุมากกว่า 65 ปี ถึง 1,000 ล้านคน นั่นเท่ากับความต้องการใช้ทรัพยากรอาหารและพลังงานสูงขึ้น ทำให้ทรัพยากรไม่เพียงพอต่อการบริโภค ที่จะส่งต่อไปยังประชากรรุ่นถัดไป 

จึงเป็นที่มาของการนำเสนอ 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals:SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ (UN -United Nations) เป็นคำตอบในการแก้ไขปัญหาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หยุดวิกฤติโลกร้อน” ที่มีสภาพอุณหภูมิของโลกสูงขึ้น จนเสี่ยงต่อการเกิดหายนะในที่สุด 

ทั้งนี้ UN ได้เริ่มประกาศเป้าหมายดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2558 โดยร่วมมือกับพันธมิตรทุกภาคส่วนจาก 175 ประเทศ ภายใต้ความตกลงปารีส และ SDGs (Paris Agreement and the SDGs) ร่วมกันขับเคลื่อน SDGs เพราะเห็นว่าจะเป็นทางรอดทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน เสริมร้างมาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ช่วยแก้ไขปัญหาที่โลกเผชิญอยู่ เช่น ความยากจน ความไม่เท่าเทียม สภาวะโลกร้อน สันติภาพ ความสงบสุข พร้อมกันกับเป้าหมายควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ภายใน ปี 2573 (คศ.2030)

นี่คือความท้าทายของภาคธุรกิจที่ต้องการมีอายุยืนยาวไปสู่ยุคหน้า จะต้องไม่ทำเพียงความเคยชินและความสำเร็จของการเติบโตแบบเดิมซึ่งไม่เพียงพออีกต่อไป แต่จะต้องคิดถึงโอกาสในอีก 10-20 ปีข้างหน้าก่อนธุรกิจและโลกจะถึงจุดกัลปาวสาน!!

ทั้งนี้ในงานสัมมนา Global Business Dialogue 2019 ที่จัดโดย สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการต่างประเทศ และสถานเอกอัครราชทูตฟินแลนด์ ประจำประเทศไทย ในหัวข้อ “Designing New Growth model Towards Sustainability” เพื่อเป็นกรณีศึกษาเกี่ยวกับโมเดลการพัฒนาสู่ความยั่งยืนที่ประสบความสำเร็จจากองค์กรชั้นนำระดับโลก ซึ่งนอกจากจะทำให้ธุรกิจมีส่วนช่วยเกื้อหนุนระบบนิเวศทางธรรมชาติแล้ว ยังเอื้อให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านโมเดล คิดข้ามโลกพุ่งไกลสู่ดวงจันทร์ (Moonshot Thinking) มานำเสนอ 

โดยโมเดลดังกล่าว ถูกออกแบบโดยสถาบัน Futur/io, จากประเทศเยอรมนี เพื่อหวังแก้ไขปัญหาความซับซ้อนของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน เป็นการเชื่อมโยงปัญหากับ SDGs ขององค์การสหประชาชาติ (UN)  ที่ผ่านมาโมเดลดังกล่าว ยังถูกนำไปใช้กับองค์กรระดับโลก อาทิ กูเกิล (Google), ไมโครซอฟต์, ซีเมนส์ (Siemens) และ เลโก้ (LEGO)

มาร์ค บัคลี่ย์ ตัวแทนอย่างเป็นทางการขององค์การสหประชาชาติ ด้านเป้าหมายการพัฒนายั่งยืน (Sustainable Development Goals) เขายังเป็นสมาชิกเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรม และการแก้ไขปัญหาด้านสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงใน World Economic Forum และนักธุรกิจเพื่อสังคม ทายาทรุ่นที่ 5 ของเกษตรกรผู้ทำเกษตรอินทรีย์ในเยอรมัน และถือเป็นรุ่นที่ 3 ที่ทำเกษตรแนวดิ่ง ปลูกพืชโดยไร้ดิน

อีกทั้งยังเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Adaptive Nutrition Joint ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 100% โดยไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและขยะใดๆ ถูกนำมาหมุนเวียนใช้ในฟาร์มอย่างสมดุล

โดยมาร์คได้ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญก่อตั้งสถาบัน Futur/io, Germany ได้นำแนวคิด Moonshot Thinking การปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจเพื่ออนาคตโลกยั่งยืน ในอีก 20 ปีข้างหน้า วิธีคิดออกแบบธุรกิจให้มีวิสัยทัศน์เชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนา SDGs เพื่อก้าวกระโดดพุ่งจรวดไปไกลถึงดวงจันทร์ (Moonshot Thinking)

ความหมายของคำว่า Moonshot ของมาร์ค ไม่ได้คิดไปไกลจนทิ้งโลกที่กำลังเสื่อมโทรมลง แล้วหนีไปอยู่ดวงจันทร์ แต่หมายถึง การออกแบบวิสัยทัศน์ โมเดลที่มีความใจกล้า บ้าบิ่น คิดข้ามช็อทแบบไร้ขีดจำกัด ไม่เกรงกลัวสิ่งที่มองไม่เห็นในอนาคต ที่ไม่ใช่ทำเพื่อตัวเอง หรือธุรกิจ แต่มีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่และท้าทาย ที่พร้อมด้วยจิตสำนึกที่ดีมีคุณธรรม ไม่ต่างจากการออกแบบจรวดที่พาโลกกลับมาสู่จุดสมดุลเต็มไปด้วยความสวยงาม โลกอนาคตที่ดีขึ้น น่าอยู่แบบโตแบบยั่งยืน

เขาจินตนาการถึงวิกฤติของโลกว่าถูกขจัดให้หมดไป ตั้งแต่ปราศจากความยากจน และพี่น้องผู้หิวโหย ทุกคนมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี เข้าถึงคุณภาพการศึกษา มีความเท่าเทียมทางเพศ ในทุกพื้นที่บนโลกใบนี้ มีน้ำที่สะอาดสำหรับทุกคน และทั่วโลกใช้พลังงานสะอาดเพื่อสนับสนุนภาคการผลิตในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ยั่งยืน มีการลงทุนไปกับอุตสาหกรรมพลิกโลก ช่วยเปลี่ยนแปลงโลกให้น่าอยู่ โดยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ อาทิ ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data), ปัญญาประดิษฐ์ (AI) หรือ บล็อกเชน รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงโอกาสอย่างเทียม ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ

หากคนอยู่ในสังคมที่มีการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างสมดุล ธุรกิจจะเติบโตได้อย่างยั่งยืน เพราะมีการบริโภค การผลิตที่ช่วยอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรบนโลก นี่คือความฝันของการหยุดวิกฤติโลกร้อน และสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงได้ภายในปี 2030

กระบวนการ Moonshot Thinking เป็นการเริ่มต้นจากการสร้างเป้าหมายก้าวกระโดด ระดมแนวคิดจากคนหลากหลาย เพื่อมองถึงอนาคตที่ไม่ใช่เพื่อตัวเอง หรือคนในยุคปัจจุบัน แต่มองถึงโอกาสในอนาคตต่อไปข้างหน้าอีก 10-20 ปี ที่ธุรกิจจะสร้างประโยชน์ให้กับสังคม และคนรุ่นถัดไป จึงจะเป็นธุรกิจที่ยั่งยืนและสร้างมูลค่าได้สูงขึ้น

เขายังเห็นว่า อุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร ถือเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่จะต้องปฏิวัติระบบใหม่ เพราะแม้จะเป็นอุตสาหกรรมที่มีความเก่าแก่ที่สุดมีอายุยาวนานกว่า 12,000 ปี ซึ่งธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มทั่วโลกทำเงินได้ 13 ล้านล้านดอลลาร์ แต่ยังเป็นอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซสู่อากาศสูงที่สุด เป็นอุตสาหกรรมที่ปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลน้อยที่สุด ใช้แรงานสูงที่สุด มีการใช้ทรัพยากรมากที่สุด โดยส่วนใหญ่ยังขาดความสมดุลในการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างสมดุล

นี่คือหนึ่งในตัวการหายนะที่ทำให้โลกล่มสลาย เพราะพื้นที่ทำเกษตรมีจำกัด หากโลกเติบโตในปัจจุบันเราต้องการโลกเพิ่มขึ้นอีก 3 ใบ ทั้งที่ความเป็นจริง เราสร้างโลกใหม่ทดแทนใบเก่าไม่ได้ เราจึงต้องปรับเปลี่ยนวิธีการคิดซะใหม่ !! 

โดยเขาระบุว่า ก่อนคิดถึง Moonshot Thinking ต้องเริ่มต้นจากเข้าใจระบบนิเวศในจักรวาล ที่ทุกอย่างสัมพันธ์กันอย่างสมดุล แต่วิกฤติที่เกิดขึ้นเกิดจากความต้องการควบคุมจักรวาลเราล้วนเกิดจาก “ละอองดาว” (Stardust) มีองค์ประกอบในร่างกายคน คือ ออกซิเจน คาร์บอน โฮโดรเจน และไนโตรเจน เป็นระบบเดียวกับองค์ประกอบที่เกิดขึ้นบนโลก จะเห็นว่า แบคทีเรียที่ดีซึ่งเป็นองค์ประกอบในร่างกายมนุษย์เริ่มหายไปเช่นเดียวกับสิ่งมีชีวิตบางชนิดกำลังสูญพันธุ์จากภาวะโลกร้อน  

นั่นเพราะพลังงานที่มนุษย์ผลิตขึ้นบนโลกในปัจจุบันทำให้โลกร้อนขึ้นไม่ต่างจากระเบิดกว่า 500,000 ลูกต่อวัน นี่คือสิ่งที่ภาคธุรกิจต้องหันหัวเรือใหม่ ออกแบบธุรกิจที่ไม่พาทุกคนไปสู่ทางตัน ดังนั้นมนุษย์ทุกคนจึงต้องร่วมมือข้ามพรมแดน ข้ามข้อจำกัดทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบเพื่อฟื้นฟูโลก

การออกแบบธุรกิจจึงต้องคิดเป็นเป็นระบบมีการบูรณาการเชื่อมโยงหลากหลายศาสตร์ ตั้งแต่วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสังคม โดยใช้วัตกรรมเพื่อปฏิวัติวงการอุตสาหกรรม โดยเฉพาะภาคการเกษตรและอาหารเพื่อความยั่งยืน ภาคธุรกิจขนาดใหญ่หลายบริษัทมีพัฒนาการที่ดีขึ้นใน5 ปี เช่น เนสท์เล่ (Nestle) มีคะแนนที่ดีขึ้นจาก 61%ในปี 2013 เพิ่มขึ้นเป็น 69% ในปี 2016 ขณะที่ยูนิลีเวอร์ (Unilever) จาก 56 %ในปี 2013 เพิ่มขึ้นเป็น 74% ในปี 2016 และ โคคา - โคล่า (Coca-Cola) จาก 46% ในปี 2013 เพิ่มเป็น 57% ในปี 2016

การเอาชนะทางด้านธุรกิจ เป็นเกมที่แข่งขันต่อเนื่องไม่มีวันจบสิ้น จนถึงทางตันเติบโตไม่ได้ภายใต้ทรัพยากรและพลังงานที่มีจำกัด สุดท้ายธุรกิจก็ไม่อยู่รอด ดังนั้นจึงต้องมองธุรกิจที่แตกต่าง ปรับวิสัยทัศน์ในการเชื่อมโลกให้เป็นหนึ่งเดียวกัน คือการที่มนุษย์ทุกคนร่วมมือกันบริหารจัดการทรัพยากรมั่นคง ปลอดภัย โดยการนำเทคโนโลยีมาสร้างอนาคตที่ดีขึ้น เขากล่าว

4บันไดบนผืนผ้าใบ“Moonshot”

ในสัมมนาดังกล่าว มาร์ค และสถาบัน Futur/io โดยมีผู้เชี่ยวชาญ ประกอบด้วย มิคก้า ไลน์โอเนน (Miikka Leinonen) ที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์นวัตกรรม จาก Ghost ฟินแลนด์ และ ฟรีเดอริเก้ รีมเมอร์ (Friederike Riemer) นักวิทยาศาสตร์เพื่อสร้างสรรค์อนาคต จากสถาบัน Futur/io เยอรมนี มาจัดทำเวิร์คช็อปให้องค์กรชั้นนำได้ร่วมออกแบบความคิดล้ำๆ แบบโมเดล Moonshot ใน 4 ขั้นตอน เป็นโมเดลที่จะใช้เติมบนผืนผ้าใบกรอบ 4 เหลี่ยมในแบบ (Canvas Model)

1.กรอบการมองอนาคต ที่จะต้องปลุกสมองจินตนาการถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอีก20 ปีภายในปี 2040 ข้างหน้า (Future Human 2040) มี 5 ด้าน ที่ไม่ใช่คิดถึงตัวเอง แต่คิดถึงคนรุ่นถัดไป ที่จะต้องออกแบบ คือ ความกังวลและความกลัว (Concerns & Fears), รูปแบบการทำงานในยุคถัดไป (Work), กิจกรรมและสังคม (Activities & Social Life) และสิ่งที่ทำเป็นประจำ (Routines) และความฝันของพวกเขา (Big dream)

“นี่เป็นขั้นตอนของการฝึกออกกำลังสมองให้คิดนอกกรอบ เพราะบางคนก่อนจะไปถึงMoonshot ที่ออกแบบโมเดลที่ยิ่งใหญ่จึงต้องเริ่มต้นจากจินตนาการถึงโลกยุคหน้าก่อน บางธุรกิจคิดถึงเพียงวันนี้และพรุ่งนี้ และส่วนใหญ่คิดถึงตัวเองมากกว่าคนอื่น เช่น การทำเงินได้เท่าไหร่ จึงต้องฝึกคิดถึงคนยุคหน้าคิดแบบหนังไซไฟ (Sci-fi) พวกเขาใช้ชีวิตอย่างไรทั้งภาษา การเรียนรู้ ชีวิต การทำงาน เทคโนโลยี ซึ่งอาจจะเป็นยุคของการเป็นพลเมืองโลก (Global Citizen) ไม่มีพรมแดน แบ่งเชื้อชาติ”

สิ่งเหล่านี้จะทำให้มองเห็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ที่จะช่วยทำให้วางเป้าหมายถึงสิ่งสิ่งที่จะเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาให้กับโลก

2.การระดมสมองเพื่อช่วย (Ideation Platform) แนวคิดจะถูกแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน คือ การออกแบบแนวคิดธุรกิจที่โมเดลแก้ไขปัญหาให้กับโลก 20 ปีข้างหน้า จากนั้นแลกเปลี่ยนกับคนอื่นในกลุ่ม และขั้นตอนสุดท้ายจะทำให้เห็นแนวคิดภาพรวมที่เชื่อมโยงที่จะพัฒนาแนวคิดตัวเอง หรือต่อยอดแนวคิดคนอื่นให้ดีขึ้นไป

มาร์คยกตัวอย่างไอเดียของเขาที่พัฒนา “ALOHAS Eco-Center” เป็นบริษัทที่ผลิตอาหารและเครื่องดื่มที่ใช้พลังงานหมุนเวียนในระบบ 100% ที่ความฝันคือจะมีศูนย์ ALOHAS ทุกแห่งในโลก เพื่อผลิตพลังงานหมุนเวียน อาหาร และใช้ทรัพยากรอย่างสมดุล เมื่อแลกเปลี่ยนกับคนอื่น อาจจะมีการต่อยอด เพิ่มโรงเรียน ระบบขนส่ง เป็นต้น

“เป็นขั้นตอนระดมความคิดที่จะช่วยกันทำให้สังคมดีขึ้นจากธุรกิจ มีการแลกเปลี่ยนและต่อยอดเพื่อค้นหาแนวคิดที่ดีที่สุด ยิ่งคุยกับคนมากเท่าไหร่ความคิดก็จะกว้างขึ้น

3.การออกแบบวิสัยทัศน์ (Moonshot)เป็นการคิดอย่างใจกล้า ข้ามขีดจำกัด ทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นจริง แบ่งเป็น 7 ขั้นตอน ประกอบด้วย 1.เข้าใจสถานการณ์ปัจจุบันค้นหาสิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลง (Current Status) เข้าใจปัญหาและวิกฤติที่โลกกำลังเผชิญอยู่ 2.ใครในสังคมที่จะทำให้ Moonshot กลายเป็นจริง 3.คิดชื่อของ Moonshot 4.คิดถึงความเกี่ยวข้องของMoonshot ที่คิดและออกแบบขึ้นมานั้นเกี่ยวข้องทำให้สังคมดีขึ้นได้อย่างไร (Relevance) ซึ่งแนวคิดจะต้องสัมพันธ์กับ 17 ข้อของ SDGs จึงจะเป็นการตอกย้ำถึงการพัฒนาสังคมยั่งยืนได้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น ขจัดความหิวโหย ลดความเหลื่อมล้ำ 4.ปัญหาและอุปสรรคที่เป็นข้อจำกัด สกัดกั้นแนวคิด Moonshot (Breakthrough) เช่น ปัญหาทางการเงิน หรือความแตกต่างทางวัฒนธรรม 5. สิ่งที่แตกต่างแนวคิดแตกต่างจากธุรกิจทั่วไป (Surprise) เป็นสิ่งที่ไม่มีธุรกิจใดมีมาก่อนในตลาด 6.ออกแบบระยะเวลาที่คาดการณ์ว่าจะทำให้เป็นจริงได้ และ 7. เครื่องมือในการวัดเป้าหมาย (Measurements) ทั้งด้านคุณภาพ และปริมาณ ที่สะท้อนว่าMoonshot นั้นได้บรรลุเป้าหมายตามความฝัน

4.กลยุทธ์การสื่อสาร (Moonshot Story) สิ่งสำคัญที่ทำให้แนวคิด Moonshot เข้าถึงคนทั่วไปและหาแนวร่วมมาสนับสนุนความฝัน ประกอบด้วย 6 ขั้นตอนคือ 1. มองโลกในยุคปัจจุบัน ยกตัวอย่างวิสัยทัศน์ Moonshot ของประธานาธิบดี จอห์น เอฟ เคนเนดี้ ในปี 1962 ที่ประกาศวิสัยทัศน์ “เราเลือกไปดวงจันทร์” เพราะเป็นการสร้างโอกาสสร้างความร่วมมือเพื่อสันติสุขที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เป็นถ้อยคำที่ปลุกให้คนรู้สึกฮึกเหิม และเป็นการช่วงชิงความเป็นมหาอำนาจกับสหภาพโซเวียต ในยุคสงครามเย็น เพื่อประกาศความยิ่งใหญ่  

2.ค้นหาสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์ที่จะช่วยขับเคลื่อน Moonshot คือ องค์ความรู้ใหม่ที่เพิ่มโอกาสในการเอาชนะโดยการสำรวจอวกาศโดยไม่ต้องสู้รบในสงคราม และ3.ค้นหาคำตอบว่าทำไมทุกคนต้องเชื่อใน Moonshot ที่คิดค้นขึ้นมา อาจจะหาคำตอบทำให้คนเชื่อ ว่าการไปดวงจันทร์ในยุคนั้นไม่ใช่สิ่งที่ง่าย จึงต้องไปให้ถึงเพราะทำได้ทำในสิ่งที่คนในยุคนั้นมองว่ายากเป็นไปไม่ได้ให้สำเร็จ 4.ก้าวข้ามแรงต่อต้าน Moonshot จากบางกลุ่มเป็นสัญลักษณ์ของการสร้างมหาสมุทรแห่งสันติภาพหรือข่มขู่ถึงโรงละครแห่งสงคราม 5.ค้นหา 3 พลังอิทธิพล ผลักดันMoonshot อย่างเช่น Moonshot ของเคเนดี้ เป็นความท้าทายที่จะต้องยอมรับ ไม่มีทางเลื่อนออกไป และมุ่งมั่นเป็นผู้ชนะ และสุดท้าย 6.ช่วงเวลาที่จะทำให้เกิดขึ้น

ฟรีเดอริเก้ รีมเมอร์ มองถึงแนวคิด Moonshot ว่า ถือเป็นการเปลี่ยนธุรกิจไปในที่ไม่เคยทำมาก่อนเพื่อความยั่งยืนและธุรกิจเติบโตอย่างก้าวกระโดด จึงต้องลืมรูปแบบธุรกิจเดิมให้หมดสิ้น เพราะไม่มีทางประสบความสำเร็จแบบใหม่ได้หากคิดแบบเดิม โดยการแบ่งภาคธุรกิจเพื่อทุ่มเทสรรพกำลังเพื่อ Moonshot โดยเฉพาะหากต้องการเป็นผู้นำเปลี่ยนแปลงตลาด สิ่งสำคัญคือการแสวงหาแนวร่วมที่ไม่ใช่เพียงคนในแวดวงธุรกิจ แต่จะต้องคุยกับคนทุกกลุ่มเพื่อมองโลกได้กว้างไกลตั้งแต่ เด็ก ผู้หญิง ภาครัฐ และเอกชน ภาคประชาสังคม รวมถึงคู่แข่งที่อาจจะค้นพบแนวคิดเพื่ออนาคตจากการพูดคุยก็เป็นได้

ปัจจุบันมาร์คและสถาบัน Futur/io ได้เริ่มขยายแนวคิดMoonshot ไปยังประเทศต่างๆ โดยเริ่มต้นจากยุโรป และขยายมาสู่เอเชีย เป็นเวลา 2-3 ปี อาทิ เยอรมนี สวิสเซอร์แลนด์ อิตาลี เกาหลี จีน และไทย เป็นต้น โดยรวมมีการเผยแพร่ไปแล้วกว่า 32 ประเทศ ในปี 2562 และจะมีแผนจะขยายไป 48 ประเทศในปี 2563 เขากำลังเข้าไปมีส่วนร่วมเวิร์คช็อปนำ Moonshot เข้าไปช่วยวางแผนโรดแมปสร้างการเปลี่ยนแปลงให้โลกอนาคตปี 2050 ให้กับ UN โดยมีผู้เข้าร่วมจากองค์กรต่างๆ 200 คน บนเป้าหมายที่จะกู้วิกฤติและฟื้นฟูโลกใบนี้ให้น่าอยู่

..................................

SDGsพลิกโมเดลธุรกิจไทย

ปราชญ์ เกิดไพโรจน์ ผู้จัดการด้านสิทธิมนุษยชน บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU  หนึ่งในผู้งานสัมมนา Global Business Dialogue 2019 ระบุว่า ไทยยูเนี่ยนได้วางเป้าหมาย สร้างเปลี่ยนแปลงทางบวกในอุตสาหกรรมอาหารทะเล ที่ไม่จำกัดแค่เพียงห่วงโซ่โรงงาน แต่จะต้องกว้างไกลไปสู่สินค้าอาหารมีโภชนาการปลอดภัยต่อลูกค้า ภายใต้วิสัยทัศน์ “Sea Change” เปลี่ยนอุตสาหกรรมอาหารทะเล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความยั่งยืนข้อ 14 ของ SDGs ในเรื่องอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเลเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Life Under Water) รวมถึงให้ความสำคัญกับทรัพยากรมนุษย์

จึงต้องมีการออกแบบกระบวนการทำงาน ตั้งแต่วิสัยทัศน์ผู้นำ ที่มีฝ่ายสิทธิมนุษยชนทำงานร่วมกับฝ่ายบุคคลและฝ่ายจัดซื้อเพื่อให้มีการเชื่อมโยงภาคการผลิตที่มีโรงงาน 17 แห่งทั่วโลก มีการจ้างงานกว่า 49,000 คน โดยเชื่อมโยงตั้งแต่แหล่งจับปลา โดยทำงานร่วมกับเจ้าของเรือประมง และบริษัทจัดหาแรงงาน มีการผลักดันเรื่องการจัดหาแรงงานอย่างมีจริยธรรม (Responsible Recruitment) เช่นกัน โดยมีการตรวจสอบย้อนกลับ ถึงแหล่งที่มาของปลาครบทุกมิติจากน่านน้ำใด จับด้วยวิธีการใด จากบริษัทและเรือลำใด มีการจ้างงานแบบไหน

 “มีการผลักดันให้จับปลาอย่างสมดุล ห้ามทำประมงผิดกฎหมาย มีการจ้างแรงงานถูกกฎหมาย ได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม ไม่มีแรงงานภาคบังคับ โดยร่วมมือกับบริษัทจัดหาแรงงานที่จะต้องมีการจ้างแรงงานอย่างถูกตามกฎหมาย ซึ่งไทยเคยได้ใบเหลือง ปัจจุบันถูกปลดจาก IUU(Illegal, Unreported and Unregulated Fishing) คือทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม"

ปราชญ์ ยังมองว่าแนวทางการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน จะต้องเข้าใจธุรกิจและผู้เกี่ยวข้องในธุรกิจ เพื่อวางขอบเขตของการเข้าไปเชื่อมต่อ และปฏิสัมพันธ์ ป้องกันจุดเสี่ยงเกิดวิกฤติในอนาคต โดยการสำรวจซัพพลายเชนในแต่ละระดับชั้น ตั้งแต่ธุรกิจผู้เกี่ยวข้อง คู่ค้า องค์กรต่างๆ ตลอดจนลูกค้า จะต้องเข้าไปช่วยเหลือ หรือสนับสนุนทั้งงบประมาณและแนวทางเพื่อผลักดันให้เป้าหมายการพัฒนายั่งยืนบรรลุวัตถุประสงค์ แม้กระทั่งคู่แข่งในธุรกิจไม่ควรมองว่าเป็นคู่แข่ง แต่ต้องเข้าไปร่วมมือในการผลักดันให้ทั้งอุตสาหกรรมเกิดการเปลี่ยนแปลง

“จับมือกับคู่แข่งผลักดันมาตรฐานการรับรอง MSC (Marine Stewardship Council) อีกทั้งร่วมมือกับ Calysta บริษัทชั้นนำด้านไบโอเทคโนโลยีในการวิจัยโปรตีนทดแทนผลิตเป็นอาหารกุ้งทดแทนโปรตีนจากปลาช่วยลดการใช้ทรัพยากร รวมถึงการทำโครงการกำกจัดขยะในทะเล (Global Ghost Gear Initiative)เก็บอุปกรณ์ประมงที่ถูกทิ้งลงในทะเล สัดส่วน 70% ของขยะทะเลทั้งหมด”

ด้าน ดร. ดีพัก พาริค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านกลยุทธ์ บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทต้องการปูทางธุรกิจในอนาคตที่จะเป็นผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ระดับโลก จึงเข้าไปลงทุนและซื้อกิจการกระจายไป 5 ทวีป 31 ประเทศ มีโรงงาน 101 แห่ง และมีพนักงาน 19,581 คน รายได้ 11,700 ล้านดอลลาร์ โดยมีองค์ประกอบในการก้าวไปสู่พันธกิจจากคน กระบวนการผลิต เทคโนโลยี และสร้างคุณค่าร่วมให้กับผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) จึงมีนโยบายในการหาโซลูชั่นการผลิตสินค้าที่ดีที่สุด และจะแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมเคมี (Mega Trend ) ที่มี 12 เทรนด์ในการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ 

ประกอบด้วย พลาสติกอนาคต การเปลี่ยนไปสู่พลังงาน อาหารเสริมในอนาคต การเติบโตของเทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีดิจิทัล เคมีภัณฑ์ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน การพัฒนาของใช้ส่วนตัว และสินค้าเกษตรเพื่อตอบสนองการขยายตัวของประชากรโลก

กลุ่มธุรกิจได้วางวิสัยทัศน์ยาวไกลถึงปี 2050 จะที่ประชากรโลกเพิ่มขึ้น 8,300 ล้านคน มีความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นถึง 50 % ต้องการอาหารเพิ่มขึ้น 50% เพิ่มความมั่งคั่งทำให้คนชนกลางเพิ่มขึ้น 60% ที่อาศัยอยู่ในเมือง 60% ซึ่งเป็นยุคที่จะมีการบริการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การจัดการขยะ น้ำ และภาวะโลกร้อน ที่จะต้องมีการกำกับดูแลด้านคุณธรรมและจริยธรรม ในการใส่ใจด้านความยั่งยืนจนมีกฎหมายกำกับดูแลไปยังผู้บริโภค และความต้องการเทคโนโลยีชีวภาพ จะเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนภายในปี 2030

“เป็นจุดพลิกโฉมในการทำให้คนหันใส่ใจสิ่งแวดล้อมและเพิ่มปริมาณการบริโภค ที่ต้องการอยู่รอดต้องเปลี่ยนแปลง เพราะนับวันพลังงานฟอสซิลมีแต่จะน้อยลง แม้มีการพัฒนาพลังงานจากแร่ยูเรเนียมและพลูโตเนียม แต่วันหนึ่งมันย่อมหมดไป เราจึงให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจหมุนเวียน”

โดยวางเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 6% และนำขวด PET 750,000 ตันมารีไซคลิ่ง เป็นวัตถุดิบภายในปี 2025 อาทิ อินโดรามาทำโครงการ Up cycling ร่วมกับไนกี้ และจับมือกับโค้กเพื่อเปลี่ยนระบบซัพพลายเชนในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ ในขณะเดียวกันบริษัทยังลงทุนสร้างโรงงานพลาสติกรีไซเคิล โดยนำขยะพลาสติกมารีไซเคิลเป็นเสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า จนไปถึงเฟอร์นิเจอร์ ตลอดจนโครงการธนาคารขยะรีไซเคิล (Waste Recycle Bank) เข้ามาเชื่อมโยงในการทำงาน อีกทั้งยังมีกาลงทุนระบบการผลิต ให้เป็นระบบรีไซเคิลนำทรัพยากรหมุนเวียนมาใช้ ลดการใช้พลังงาน น้ำ และมีมาตรการตรวจวัดเพื่อลดการปล่อยมลพิษให้มากที่สุด

เป็นการขับเคลื่อนการสร้างความยั่งยืนที่เกิดจากภาคเอกชน ที่หวังจุดประกายให้องค์กรต่างๆ หันมาลงมือทำเพื่อรักษาโลกให้อยู่อย่างยั่งยืน