‘ยันม่าร์’ จากดีเซลสู่โซลูชั่น วิชั่น 100 ปี สู่ความยั่งยืน

‘ยันม่าร์’ จากดีเซลสู่โซลูชั่น วิชั่น 100 ปี สู่ความยั่งยืน

“ยันม่าร์” แบรนด์เครื่องยนต์ดีเซล สัญชาติญี่ปุ่นอายุกว่า 100 ปี พลิกเกมรับมือคลื่นเทคโนโลยี-เมกะเทรนด์ที่เข้ามาดิสรัปด้วย‘โซลูชั่น เทคโนโลยี’ ตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายของอุตสาหกรรมในต่างประเทศเพื่อความยั่งยืนในศตวรรษที่2

จากกระแสดิจิทัล เทคโนโลยี ที่เข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนและสถานการณ์ตลาดเปลี่ยนไป ขณะที่แนวโน้มประชากรโลกในปี 2050 จะมีจำนวนเพิ่มขึ้น20% สวนทางกับพื้นที่ทำการเกษตรและจำนวนเกษตรกรลดลง 13% ล่าสุดในประเทศญี่ปุ่นจำนวนเกษตรกรญี่ปุ่นลดลงเหลือ 1% จากจำนวนประชากรทั้งประเทศ ทว่าผลผลิตยังเท่าเดิม เนื่องจากการนำเทคโนโลยีทางการเกษตรเข้ามาไปช่วยเพิ่มศักยภาพในการผลิต

ฮิโรมิ คุโบตะ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารแบรนด์ บริษัท ยันม่าร์ จำกัด กล่าวว่า จากสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ยันม่าร์ มองหาตลาดใหม่พร้อมกับการพัฒนารูปแบบของเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่นำไปใช้ในรูปแบบของ โซลูชั่น เทคโนโลยี” ที่มีความหลากหลายเพื่อสนองตอบความต้องการของอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อเป็นทางรอดในอนาคต เพราะตลาดในประเทศญี่ปุ่น ‘ไม่ใช่’ คำตอบสุดท้ายอีกต่อไป

เนื่องจากยอดขายยันม่าร์ ช่วง 6 ปี ที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี 2557 ที่มียอดขาย 6,550 ล้านเยน ในจำนวนนี้มาจากในประเทศญี่ปุ่น 3,661 ล้านเยน และต่างประเทศ 2,889 ล้านเยน และในปี 2559 สัดส่วนยอดขายในต่างประเทศเริ่มมากกว่าในประเทศ หลังจากนั้นตัวเลขยอดขายในต่างประเทศขยับขึ้นมาเรื่อยๆจนกระทั่งล่าสุดปีนี้ มียอดขาย 8,600 ล้านเยน มาจากต่างประเทศ 4,558 ล้านเยน ในประเทศ 4,042 ล้านเยน 

ทั้งนี้จากการประเมินสถานการณ์คาดว่า ภายในปี 2564 สัดส่วนยอดขายจากต่างประเทศจะมีสัดส่วน 60% ที่เหลือ 40% มาจากตลาดในประเทศญี่ปุ่น และอนาคตสัดส่วนรายได้ในประเทศลดลง โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ซึ่งเป็นสัดส่วนรายได้หลัก จึงหันมาให้ความสำคัญกับตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้เพราะเป็นตลาดที่ยังมีพื้นที่เพาะปลูก และสัดส่วนของเกษตรกรจำนวนมาก 

ทั้งนี้ในประเทศไทยยืนหนึ่งเพราะมีสัดส่วนยอดขายมากสุด จากปัจจุบันมีโรงงานผลิตในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง ที่ผลิตเครื่องยนต์ขนาดเล็ก แทรกเตอร์ และรถตัดอ้อย นอกจากนี้ยังนำเข้ารถไถอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ รถดำนา และรถเกี่ยวนวดข้าวจากญี่ปุ่น รวมถึงเครื่องจักรกลสำหรับการก่อสร้างและสำหรับอุตสาหกรรมเข้าทำตลาด

“ต่อจากนี้ไปยันม่าร์จะเน้นขยายส่วนแบ่งตลาดในประเทศพัฒนาแล้ว และบุกเบิกตลาดที่กำลังเติบโตเพื่อสร้างรากฐานที่จำเป็นต่อการแข่งขึ้นระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นโรบอทแทรกเตอร์ ระบบกึ่งอัตโนมัติ เครื่องยนต์ที่ใช้พลังงานได้2 ชนิด เครื่องยนต์ที่ใช้ก๊าซสำหรับอุตสาหกรรมออกมารองรับกับเทรนด์ของตลาด”

ปัจจุบันยันม่าร์มี 7 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ 1.เครื่องยนต์สำหรับอุตสาหกรรม 2.เครื่องยนต์สำหรับเรือเดินทะเล 3.เครื่องจักรกลการเกษตรและอุปกรณ์ 4.เครื่องจักรสำหรับก่อสร้าง 5.ระบบพลังงาน 6.เรือสำราญ7.เครื่องมือและส่วนประกอบของเครื่องจักร รองรับกับความต้องการของตลาดในแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน รวมทั้งเป็นการสร้างกระจายความจากการที่มีธุรกิจที่หลากหลาย

ฮิโรมิ กล่าวต่อว่า วิชั่น 100 ปีข้างหน้าในการก้าวสู่ศตวรรษที่2 ของยันม่าร์ในธุรกิจเครื่องจักรกลการเกษตรจะเปลี่ยนมาเป็นผู้สนับสนุนในอุตสาหกรรมอาหารและการเกษตรจากเดิมเฉพาะแค่เกษตรกรรม เพราะจากนี้ไปยันม่าร์ ไม่ได้จำกัดตัวเองอยู่แค่เครื่องจักรกลทางการเกษตรอีกต่อไป แต่จะเน้นการพัฒนาโซลูชั่น โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมาตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงในตลาด

สำหรับเทรนด์เทคโนโลยีที่ยันม่าร์จับตามมองเป็นพิเศษ ได้แก่ 1. เครื่องยนต์ไฟฟ้า 2. เครื่องจักรที่ทำงานอัตโนมัติ และ 3.สามารถเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายมากขึ้น โดยจะเชื่อมโยงกับ 7 เมกะเทรนด์ที่จะเข้ามามีบทบาทในการกำหนดโครงสร้างของโลกในปี2573 ประกอบด้วย 1. กระแสโลกในอนาคต 2.ประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น 3. โลกกลายเป็นสังคมเมือง4. อนาคตด้านพลังงาน5. ความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ 6.วิกฤติอาหารในอนาคต และ7.ความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ยกตัวอย่าง ในญี่ปุ่นได้พัฒนา SMART PILOT ซึ่งเป็นแบรนด์ที่ติดตั้งเทคโนโลยีในการขับแบบอัตโนมัติ ในกลุ่มรถแทรกเตอร์ โดยใช้สมาร์ทโฟน แท็บเล็ตในการควบคุมการทำงานในระยะไกลผ่านระบบดาวเทียมไร้คนขับ ในประเทศอยู่ระหว่างการวิจัยและทดลองในแปลงสาธิต นอกจากนี้ยังได้พัฒนาเรือสำราญ และเครื่องปรับอากาศที่ใช้สามารถพลังงานไฟฟ้าจากโซล่าเซลล์ แก๊สและไบโอดีเซลที่เหลือจากเครื่องยนต์ออกมาเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค

 “ยันม่าร์มุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมและโซลูชั่นต่างๆ เพื่อสร้างคุณค่าให้กับสังคมในอีก 100 ปีข้างหน้า ด้วยการนำเสนอโซลูชั่นเทคโนโลยีที่สร้างผลผลิตได้อย่างสูงสุดโดยใช้ทรัพยากรให้น้อยที่สุด เพื่อตอบโจทย์ความต้องการ และสร้างชีวิตที่ดีเพื่ออนาคตของทุกคน” 

นอกจากนี้ หนึ่งในกลยุทธ์ที่สำคัญก็คือ สปอร์ตมาร์เก็ตติ้ง เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภค ( Brand Engagement) โดยในไทย ยันม่าร์ได้ร่วมกับกลุ่มบางกอกกล๊าซ สโมสรบีจีปทุมยูไนเต็ด ด้วยการเป็นผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการ และได้ขยายการสนับสนุนและพัฒนาด้านการศึกษาเยาวชนภายใต้ ยามาโอกะ ฮานาซากะ อคาเดมี”  มีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะกีฬาฟุตบอลให้กับเยาวชน และสร้างโอกาสให้กับเยาวชนให้สามารถทำตามความฝันในการเป็นนักกีฬาฟุตบอลอาชีพ ล่าสุด 2เยาวชนไทยรุ่นแรกที่ได้เข้าร่วมสโมสรเซเรโซ โอซาก้าคือ ตะวัน โคตรสุโพธิ์ และ พงศรวิช จันทวงศ์

.................................

Key to success

-ปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

-ลดความเสี่ยงด้วยการมีธุรกิจหลากหลาย

-จับเทรนด์เทคโนโลยีและตลาดพัฒนาสินค้าและบริการ

-สื่อสารแบรนด์ผ่านสปอร์ตมาร์เก็ตติ้ง