ผลสำรวจชี้บ.ญี่ปุ่นลดลงทุนในจีน-ฮ่องกงเหตุกังวลสงครามการค้า

ผลสำรวจชี้บ.ญี่ปุ่นลดลงทุนในจีน-ฮ่องกงเหตุกังวลสงครามการค้า

ทุกภูมิภาคของโลกจะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ซึ่งจะทำให้การค้าทั่วโลกมีการชะลอตัว โดยตลาดการเงิน อัตราการแลกเปลี่ยนเงินตรา จะได้รับผลกระทบรุนแรง และมีความผันผวนสูง หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น ซึ่งท้ายที่สุดจะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย

บริษัทชั้นนำสัญชาติญี่ปุ่น ตั้งแต่นินเทนโดจนถึงยูนิโคล่ ที่เป็นเจ้าของแบรนด์ฟาสต์ รีเทลลิง ที่ต่างก็มีศูนย์ห่วงโซ่อุปทานอยู่ในจีน หรือฮ่องกง พร้อมใจลดการลงทุนในจีนและในประเทศที่เกี่ยวข้องกับจีน เพราะสงครามการค้าที่ยืดเยื้อระหว่างสหรัฐและจีน ประกอบกับปัจจุบันนี้ ค่าแรงงานในจีนเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้ผลสำรวจความคิดเห็นล่าสุด บ่งชี้ว่า อย่างน้อยหนึ่งในสี่ของบริษัทญี่ปุ่นตัดสินใจลดการลงทุนในจีน

ผลสำรวจความคิดเห็นครั้งนี้ บ่งชี้ว่า บริษัทญี่ปุ่นจำนวนมากเตรียมปรับโครงสร้างเครือข่ายการจัดหาระหว่างประเทศที่พวกเขาสร้างขึ้นมาเมื่อหลายปีก่อน เพราะผลพวงจากกรณีพิพาททางการค้าระหว่างสองมหาอำนาจเศรษฐกิจโลกอย่างสหรัฐและจีน

ผลสำรวจความเห็นพนักงานระดับผู้จัดการหรือผู้บริหารระดับสูงของบริษัทญี่ปุ่น 1,000 แห่งที่เข้าไปทำธุรกิจในจีน พบว่า 23% ของผู้ตอบแบบสอบถามบอกว่าควรลดการลงทุนในจีนในช่วงที่สหรัฐและจีนกำลังมีความขัดแย้งทางการค้าระหว่างกัน ส่วน 60.4% บอกว่าจะรอดูสถานการณ์โดยยังคงดำเนินธุรกิจเหมือนเดิมและลงทุนในจำนวนเท่าเดิม

แต่เมื่อวิเคราะห์ลงลึกในรายละเอียดของกลุ่มที่“รอดูสถานการณ์”พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามมีความคิดแตกออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกรู้สึกว่าจีนสูญเสียขีดความสามารถด้านการแข่งขันในฐานะเป็นโรงงานผลิตสินค้าป้อนโลกและเตรียมจะระงับการลงทุนใหม่ๆ กับอีกกลุ่มยังคงเชื่อว่าจีนที่มีประชากร 1.4 พันล้านคนยังคงเป็นโอกาสทางธุรกิจอันยิ่งใหญ่ที่ไม่ควรเพิกเฉย

ทีมบริหารภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เริ่มลงโทษด้วยการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเมื่อปี 2561 ยิ่งทำให้สถานการณ์ตึงเครียดทางการค้าของสองประเทศรุนแรงขึ้น และเดือนที่แล้ว สหรัฐเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนรอบที่4 กับสินค้าประเภทต่างๆ รวมถึง เครื่องถ่ายเอกสารและสมาร์ทวอทช์ ซึ่งหลังจากสหรัฐเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนรอบที่4 นิกเคอิ และศูนย์วิจัยเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ได้ทำการสำรวจความเห็นของบรรดาผู้นำในบริษัทญี่ปุ่นในช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา

เอเซอิ อิโตะ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยโตเกียว ให้ความเห็นว่า ผู้ตอบแบบสอบถามต่างรอดูสถานการณ์และแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นเพราะพวกเขาคาดการณ์ว่า ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนอาจจะยืดเยื้อไปมากกว่านี้

นินเทนโด บริษัทเกมยักษ์ใหญ่คือตัวอย่างบริษัทญี่ปุ่นที่พึ่งพาการผลิตในจีนเพื่อส่งออกไปขายในตลาดสหรัฐ นินเทนโด รับจ้างผลิตคอนโซลเกมให้ตลาดสหรัฐ ด้วยการไปว่าจ้างบริษัทฟ็อกซ์คอนน์หรือที่รู้จักกันในชื่อฮอนไห่ พรีซิชั่น อินดัสตรี บริษัทไต้หวันที่มีฐานการผลิตขนาดใหญ่อยู่ในจีน

เมื่อปี2561 องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นบริษัทญี่ปุ่นพบว่า 40%ของผู้ประกอบการญี่ปุ่นในจีน พึ่งพาการส่งออกจากจีนในสัดส่วนกว่า50% ของยอดขายโดยรวม และสหรัฐเป็นปลายทางส่งออกรายใหญ่สุดอันดับ2 รองจากญี่ปุ่น นั่นหมายความว่าจีน คือฐานการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปสหรัฐ แต่หากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนยืดเยื้อยาวนานไปเรื่อยๆ เศรษฐกิจสหรัฐและจีนจะชะลอตัวลงไปเรื่อยๆ และเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานระหว่างสองประเทศจะถูกทำลาย

เมื่อเดือนกรกฎาคม ริโก้ ผู้ผลิตเครื่องถ่ายเอกสาร ได้ย้ายฐานการผลิตจากจีนไปยังประเทศไทย เช่นเดียวกับบริษัทเซรามิคส์ และเคียวเซรา ที่ย้านฐานการผลิตจากจีนไปเวียดนาม

ฟาสต์รีเทลลิง เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าลำลองยี่ห้อยูนิโคล่ เตรียมย้ายฐานการผลิตจากจีนไปเวียดนาม และประเทศอื่นๆในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถือเป็นการเตรียมพร้อมกรณีสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ยืดเยื้อยาวนานกว่าที่คาดการณ์

นอกจากบริษัทญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิตออกจากจีนไปประเทศต่างๆแล้ว ไอเอชเอส มาร์กิต ยังคาดการณ์ว่า ผลพวงจากการเพิ่มการจัดเก็บภาษีของสหรัฐ และ จีน จะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)ที่แท้จริงของเศรษฐกิจโลก ลดลง 0.6% ผลผลิตจากภาคการผลิตของจีนจะลดลง 1.6% ในขณะที่จีดีพีของสหรัฐที่แท้จริงจะลดลง 1.1% ซึ่งจะไม่มีใครชนะในสถานการณ์เช่นนี้

ในทุกภูมิภาคของโลกจะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ซึ่งจะทำให้การค้าทั่วโลกมีการชะลอตัว โดยตลาดการเงิน อัตราการแลกเปลี่ยนเงินตรา จะได้รับผลกระทบรุนแรง และมีความผันผวนสูง หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น ซึ่งท้ายที่สุดจะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย

ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ ระบุว่า ตัวเลขขาดดุลการค้าของสหรัฐเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 5.49 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนส.ค. สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 5.45 หมื่นล้านดอลลาร์ จากระดับ 5.40 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนก.ค. แต่สหรัฐ ขาดดุลการค้าต่อจีนลดลง 3.1% ในเดือนส.ค. เมื่อเทียบรายเดือน และลดลง 11.4% เมื่อเทียบรายปี

นอกจากนี้ สหรัฐ ยังขาดดุลการค้าต่อสหภาพยุโรปลดลง 23.7% ในเดือนส.ค. เมื่อเทียบรายเดือน แต่เพิ่มขึ้น 8.1% เมื่อเทียบรายปี ขณะที่ขาดดุลการค้าต่อเยอรมนีพุ่งแตะระดับ 7.1 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์

กระทรวงพาณิชย์ยังระบุด้วยว่า การส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 2.079 แสนล้านดอลลาร์ในเดือนส.ค. ส่วนการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 2.628 แสนล้านดอลลาร์

ขณะที่แลร์รี่ คุดโลว์ ที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจประจำทำเนียบขาว กล่าวว่า จะมีเซอร์ไพรส์ ในการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนในสัปดาห์หน้าที่กรุงวอชิงตัน

ทั้งนี้ สหรัฐและจีนจะเจรจาการค้าในระดับรัฐมนตรีในวันที่ 10-11 ต.ค.นี้ ที่กรุงวอชิงตัน ขณะที่นายหลิว เหอ รองนายกรัฐมนตรีจีน จะเป็นผู้นำคณะเจรจาการค้าของจีน

"จะมีเรื่องน่าประหลาดใจในทางที่ดีในการเจรจา ผมไม่ได้ให้คำทำนาย แค่อยากบอกว่า อย่าได้มองข้ามความเป็นไปได้นี้ โดยอาจจะมีเซอร์ไพรส์ ก่อนการเจรจาในครั้งนี้ จีนได้สั่งซื้อสินค้าเกษตรหลายรายการ ถึงแม้จะเป็นจำนวนไม่มากนัก แต่ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดี" นายคุดโลว์ กล่าว

อย่างไรก็ดี คุดโลว์ กล่าวว่า การที่สหรัฐให้การสนับสนุนการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง อาจส่งผลกระทบต่อการเจรจาการค้ากับจีน

“ผมรู้ว่าเรายังคงจับตากระบวนการประชาธิปไตยและเสรีภาพในฮ่องกง ซึ่งสหรัฐให้การสนับสนุนอย่างมาก สิ่งนี้อาจมีผลกระทบต่อการเจรจา” คุดโลว์ กล่าว

ขณะที่สื่อชั้นนำของสหรัฐอย่างซีเอ็นเอ็น รายงานว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้โทรศัพท์แจ้งต่อประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนว่า สหรัฐจะไม่หยิบยกกรณีการเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงมาเป็นประเด็นในการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีน

ส่วนตัวเลขการลงทุนโครงการใหม่ทั้งระบบช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 ที่บริษัทต่างชาติเข้าไปลงทุนในประเทศอื่น เช่นสร้างโรงงาน ศูนย์วิจัย และสำนักงาน ลดลงเหลือเท่าระดับเดียวกับช่วงครึ่งหลังของปี 2552 ที่เศรษฐกิจโลกยังคงเสียหายจากวิกฤติการเงินสหรัฐ

ข้อมูลจากไฟแนนเชียล ไทม์ ระบุว่า จำนวนการลงทุนใหม่ทั้งระบบ (จีเอฟไอ) พุ่งสูงสุด 8,152 โครงการระหว่างเดือน ม.ค.-มิ.ย.2561 จากนั้นก็ลดลงตลอด 1 ปีต่อมา อยู่ที่ 6,243 โครงการในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้