บาทแข็งสกัดต่างชาติปักหลักไทยหลังเกษียณ

บาทแข็งสกัดต่างชาติปักหลักไทยหลังเกษียณ

บาทแข็งพ่นพิษชาวต่างชาติวัยเกษียณที่พำนักถาวรในไทย ต้นทุนการใช้ชีวิตแพงขึ้น ขณะบางส่วนเลือกใช้ชีวิตหลังวัยเกษียณในเวียดนาม กัมพูชา และฟิลิปปินส์แทน เหตุค่าครองชีพถูกกว่าไทย

เงินบาทที่แข็งค่ามากที่สุด เมื่อเทียบกับสกุลเงินประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเดียวกัน นอกจากส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของไทยแล้ว ล่าสุด ยังทำลายความฝันของบรรดาชาวต่างชาติที่ต้องการมาพำนักในประเทศไทยหลังเกษียณจากงานประจำด้วย โดยเฉพาะ การจ่ายเงินมากขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดหรือเงื่อนไขทางการเงินในการขอวีซ่าพำนักในประเทศไทย

เว็บไซต์บลูมเบิร์ก นำเสนอรายงานเรื่องนี้ โดยสัมภาษณ์ชาวอังกฤษ อดีตช่างเทคนิคเครื่องบิน ซึ่งเข้ามาปักหลักที่พัทยา โดยซื้อทาวน์เฮาส์ รถปิคอัพและจักรยานยนต์ ว่า ย้อนหลังไปเมื่อ20ปีก่อน เขาเดินทางเข้ามาประเทศไทยตอนอายุ 55 ปี ซึ่งตอนนั้นค่าเงินปอนด์สเตอริงของอังกฤษเทียบเงินบาทไทยประมาณ 60 บาท แต่ตอนนี้ค่าเงินปอนด์เมื่อเทียบเงินบาทไม่ถึง 38 บาท

“ตอนนั้นค่าครองชีพในไทยถูกมาก แต่ตอนนี้ไม่ได้เป็นแบบนั้นแล้ว”แม็กซีอดีตช่างเทคนิคเครื่องบินชาวอังกฤษ ซึ่งพำนักอยู่ที่พัทยา หนึ่งในจุดหมายปลายทางยอดนิยมของไทยในหมู่ชาวยุโรปวัยเกษียณ กล่าว

แรงกดดันจากเงินบาทแข็งที่มีต่อบรรดาชาวต่างชาติวัยเกษียณเป็นแค่หนึ่งตัวอย่าง โดยขณะนี้ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่ามากที่สุดเมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และทำให้ไทยเสียเปรียบด้านการแข่งขันทั้งในด้านส่งออกและการท่องเที่ยว


บลูมเบิร์ก รายงานว่า ปีนี้ค่าเงินบาทแข็งขึ้นมามากกว่า 6 % ถือเป็นค่าเงินที่แข็งที่สุดในภูมิภาคเอเชีย ส่งผลให้เศรษฐกิจของไทยที่พึ่งพาการส่งออกสูง อาจตกต่ำลงมากที่สุดในรอบ 5 ปี ขณะที่การท่องเที่ยว ที่เป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของไทยอีกอุตสาหกรรมหนึ่ง ก็ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งเช่นกัน

รายได้จากการท่องเที่ยวคิดเป็นประมาณ 1 ใน 5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)ไทย ส่งผลให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวค่อนข้างกังวลว่า หากค่าเงินบาทแข็งมากจนหลุด 29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบรุนแรง

คณะกรรมการสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าเกือบถึง 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักท่องเที่ยวสนใจมาเที่ยวไทยน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้

ขณะที่คณะกรรมการสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ปรับการคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวไทยปีนี้ลงมาอยู่ที่ 39.7 ล้านคน จากต้นปี ที่คาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวมามากกว่า 40 ล้านคน ลดการคาดการณ์รายได้จาก 2 ล้านล้านบาทเมื่อต้นปี ลงมาเหลือ 1.95 ล้านล้านบาท

ที่ผ่านมา ไทย ได้ใช้มาตรการยกเว้นวีซ่าเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน แต่คณะกรรมการสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยกำลังหารือกับทางการว่าจะมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวอะไรที่จำเป็นอีกบ้าง


ในส่วนของชาวต่างชาติวัยเกษียณที่ต้องการมาพำนักถาวรในประเทศไทยนั้น ปีที่แล้ว รัฐบาลได้ออกวีซ่าให้จำนวน 80,000 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ประมาณ 30% และการที่จะมีคุณสมบัติครบเกณฑ์เข้ามาพำนักถาวรในไทยได้ ชาวต่างชาติต้องแสดงบัญชีเงินฝากที่ธนาคารของไทยวงเงิน 26,261 ดอลลาร์ หรือ 8 แสนบาท หรือมีรายได้ต่อเดือน 65,000 บาท

สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเปิดเผยว่า เมื่อปี2561 การให้วีซ่าแก่ชาวต่างชาติวัยเกษียณที่ต้องการเข้ามาพำนักในไทยอย่างถาวรนั้น มีสัญชาติอังกฤษมากที่สุด รองลงมาคือ ชาวอเมริกัน ชาวเยอรมัน ชาวจีน และชาวสวิต

ด้าน มาซาคัตสึ ฟูกายา เทรดเดอร์สกุลเงินตลาดเกิดใหม่จากมิซูโฮะ แบงก์ จำกัด ในกรุงโตเกียว ให้ความเห็นว่า ค่าเงินบาทของไทยยังคงแข็งค่ามากกว่านี้หากบริษัทต่างๆที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีในการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ย้ายฐานการผลิตมาในประเทศไทย

ขณะที่นีลส์ โคลอฟ ชาวเดนมาร์กที่ย้ายเข้ามาพำนักเป็นการถาวรในประเทศเมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้ว และปัจจุบันบริหารองค์กรที่คอยให้ความช่วยเหลือชาวต่างชาติในพัทยา กล่าวว่า ตอนนี้มีชาวต่างชาติบางส่วนที่เกษียณแล้วเลือกไปปักหลักในเวียดนาม กัมพูชา และฟิลิปปินส์แทนประเทศไทย ที่เงินบาทแข็งค่ามาก

"ตอนนี้มีชาวต่างชาติที่เกษียณแล้วจำนวนหนึ่ง ตัดสินใจไปซื้อบ้านในเวียดนาม กัมพูชาและฟิลิปปินส์แทนเพราะในสามประเทศนี้ค่าเงินไม่ได้แข็งมากและช่วง 6เดือนก่อนเราจะเห็นชาวต่างชาติเข้าคิวยาวที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในพัทยาเพื่อขอวีซ่าเข้าไทยแต่ตอนนี้ไม่มีการเข้าคิวอีกแล้ว


ขณะที่คริสเตียน ฟอสเตอร์ ชาวออสเตรียที่เกษียณและเข้ามาพำนักถาวรในไทยตั้งแต่20 ปีที่แล้ว กล่าวว่า ชาวต่างชาติวัยเกษียณบางส่วนเลือกที่จะประหยัดด้วยการลดทอนค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ

“มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ตอนนี้ทุกอย่างในไทยมีราคาแพงมาก แต่ก็เป็นเรื่องที่เราต้องปรับตัว ปรับแนวทางการใช้ชีวิตให้อยู่แบบประหยัด” ฟอสเตอร์ กล่าว พร้อมทั้งระบุว่าต้นทุนการใช้ชีวิตในประเทศไทยยังถูกกล่าวประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ เช่น สหรัฐ และยุโรป ประกอบกับรัฐบาลไทยยังคงให้การสนับสนุนให้ชาวต่างชาติเข้ามาพำนักเป็นการถาวรในฐานะประเทศจุดหมายปลายทางของผู้เกษียณจากงานประจำ

อย่างไรก็ตาม การที่เงินบาทแข็งค่ามากเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ทำให้เงินบำนาญประมาณ 1,000 ปอนด์ที่แม็กซี่ ช่างเทคนิคเครื่องบินที่เกษียณจากงานแล้วชาวอังกฤษไม่พอกับเงินขั้นต่ำรายเดือนที่เขาต้องนำไปฝากไว้ในธนาคารเมื่อต้องไปต่อวีซ่าจำนวน 22,000 ปอนด์

“ผมต้องเก็บเงินจำนวนมากไว้ในบัญชี โดยที่ไม่สามารถนำออกมาใช้ได้”แม็กซี กล่าวพร้อมทั้งพูดทิ้งท้ายว่า ถึงแม้จะได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท แต่เขาก็ยังต้องการพำนักถาวรในประเทศไทยต่อไป