จากลอนดอนเป็นลอนดง

จากลอนดอนเป็นลอนดง

คอลัมน์โลกในมือคุณ 'สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์' พาไปเยือนลอนดอน เล่าถึงพื้นที่อนุรักษ์กลางเมืองลอนดอนในมิติที่ลึกและมีชีวิตชีวา!

ฉันไม่ได้กลับไปลอนดอนมาร่วม 27 ปีตั้งแต่เรียนจบ ถ้าไม่นับทริปสั้นๆ ครั้งหนึ่งเมื่อ 17 ปีก่อนที่ต้องกลับไปทำธุระจำเป็นหลังแม่ตาย ก็ถือว่าไม่ได้เห็นเมืองนี้จริงๆ มาเกือบ 3 ทศวรรษ

การได้ไปเยือนลอนดอนเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาจึงออกจะสะเทือนใจ ไม่ได้สะเทือนด้วยความโศกเศร้า แต่เขย่าๆ ตื่นตาเบิกใจกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น แม้ว่าจะติดตามข่าวคราวมาเรื่อยๆ ทางอินเตอร์เน็ต แต่ไม่เคยนึกถึงผลกระทบที่มันจะส่งต่อจิตใจ

ฉันหมายถึง ผลจากการฟื้นฟูธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในเมือง

โปรแกรมเยือนคืนถิ่นประเดิมด้วยเยี่ยมชมสถานที่อนุรักษ์ธรรมชาติใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นหลังจากฉันจากไปแล้ว อันดับแรกก็ต้องเป็น London Wetland Centre ศูนย์พื้นที่ชุ่มน้ำลอนดอนริมแม่น้ำเทมส์ในย่านบานส์ ซึ่งต้องถือว่าเป็นพื้นที่อนุรักษ์กลางเมือง เพราะอยู่ตรงข้ามฝั่งจากแฮมเมอร์สมิธ แค่ข้ามสะพานแล้วเดินหรือปั่นจักรยานทะลุอุโมงค์ต้นไม้เลียบแม่น้ำก็ถึงแล้ว

พื้นที่ชุ่มน้ำแห่งนี้ดูแลและจัดการโดยWildfowl and Wetlands Trust(WWT) แปลไทยได้ว่า “กองทุนนกน้ำไก่ป่าและพื้นที่ชุ่มน้ำ” เป็นเอ็นจีโออนุรักษ์ก่อตั้งหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยเซอร์ปีเตอร์ สก็อต ผู้ถือว่าเป็นบิดาแห่งการอนุรักษ์ยุคโมเดิร์นคนสำคัญ

ศูนย์พื้นที่ชุ่มน้ำลอนดอนเป็นพื้นที่ธรรมชาติสร้างใหม่จากบ่อเก็บน้ำเก่ายุควิคตอเรียข้างแม่น้ำเทมส์ ซึ่งขุดไว้เก็บน้ำอย่างตรงไปตรงมาเป็นบ่อเหลี่ยมๆ กั้นเป็นตารางด้วยคันดิน WWT ไปเจอมันเข้าในปี 1989 และมองเห็นศักยภาพที่จะฟื้นฟูธรรมชาติขึ้นมาใหม่ให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำอนุรักษ์ในเมืองแห่งแรกในยุโรป 

ปีนั้นเป็นปีสุดท้ายในชีวิตของปีเตอร์ สก็อต ด้วยชื่อเสียง ผลงาน และสายสัมพันธ์ระดับไฮโซสุดๆ WWT จึงได้ข้อตกลงกับมหานครลอนดอนให้ออกแบบและจัดการเป็นศูนย์อนุรักษ์และเรียนรู้ธรรมชาติกว้างใหญ่ราว 187 ไร่ นับเป็นของขวัญชิ้นสุดท้ายที่ปีเตอร์ สก็อตมอบให้สังคม

ศูนย์พื้นที่ชุ่มน้ำสร้างใหม่เปิดสู่สาธารณะในปี 2000 หลังจากนั้นเพียงสิบปี มันได้รับโหวตเป็นพื้นที่อนุรักษ์ธรรมชาติในเมืองสุดโปรดอันดับหนึ่งจากผู้อ่านนิตยสารนิยมธรรมชาติ

ปัจจุบันมีนกทุกชนิดที่พบในลอนดอน หลายชนิดไม่เจอที่อื่นใดในเมือง ยกเว้นที่นี่เท่านั้น คนไม่สนใจดูนกจริงจัง ก็เพลิดเพลินไปกับการจัดสรรพื้นที่ มีทั้งผืนน้ำโล่งกว้างและเกาะดอน ทุ่งพงอ้อไม้น้ำ ที่หลบภัยวางไข่ของนกน้ำแมลงน้ำและปลา ทุ่งดอกไม้อนุรักษ์ผึ้งและเหล่าแมลงผสมเกสร และแนวดงไม้พุ่ม hedgerow ถิ่นหลบภัยอาศัยหากินของสัตว์ต่างๆ ตลอดจนดงไม้ต้นใหญ่ๆ และเนื่องจากมันอยู่ติดกับแม่น้ำเทมส์ มันยังมีบทบาทเป็นแก้มลิงรับน้ำท่วม เพราะมีส่วนที่ออกแบบให้เป็นบึงรับน้ำจากเทมส์ด้วย

ศูนย์พื้นที่ชุ่มน้ำลอนดอนไม่ได้สร้างไว้ให้สัตว์ป่าและบริการทางนิเวศแก่เมืองเท่านั้น มันถูกออกแบบให้สวย ให้สุนทรีย์ ให้สนุก มีโซนเหมาะกับเด็กและมีโซนให้สายนักดูนกเข้มข้น

เมื่อสังคมกระแสหลักเข้าใจความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำและชื่นชอบมัน มหานครลอนดอนก็เปิด Walthamstow Wetlands ขึ้นมาอีกแห่งเมื่อปีที่แล้ว อยู่ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของเมือง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำประปาสำคัญ ถือว่าเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำอนุรักษ์ในเมืองที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป

แต่ความงามของพงอ้อทุ่งหญ้าทุ่งดอกไม้ที่สัตว์เล็กสัตว์น้อยชอบนักหนาไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในพื้นที่อนุรักษ์พิเศษเหล่านี้ มันกระจายไปตามสวนสาธารณะต่างๆ และริมคลองบางแห่งก็เห็นเริ่มหาทางฟื้นฟูกัน สระในสวนสาธารณะหลายแห่งที่เคยเป็นขอบปูนแข็งๆ ถูกปรับให้พงหญ้าพงอ้อและดอกไม้ชายน้ำขึ้นได้ เป็นที่พักพิงสำคัญของสัตว์น้ำ สวนแปลงเรขาคณิตที่แต่ก่อนจะปลูกดอกไม้ประดับเป็นระเบียบสีสดตัดไปมา หลายแห่งเปลี่ยนไปเป็นแนวทุ่งดอกไม้แซมหญ้าไข่เหาดอกฟุ้งๆ เหมือนแดนนางไม้ปล่อยให้ขึ้นปนไปกับดอกไม้สวนดูรกๆ แต่ไม่ใช่รกแบบไม่ใส่ใจ เป็นรกสวยสบายใจ ให้อารมณ์อิสระ ไม่เนี้ยบ ไม่เกร็ง

เทรนด์ออกแบบสวนที่เปลี่ยนไปสะท้อนกระแสทำเมืองให้เป็นแหล่งอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นเมืองที่พยายามร่วมบรรเทาวิกฤตประชากรผึ้งและแมลงตกต่ำจนมีแนวโน้มเสี่ยงสูญพันธุ์

ต้นไม้ใหญ่ก็มีมากขึ้น อันที่จริง แต่ไหนแต่ไรลอนดอนก็เป็นเมืองที่มีต้นไม้เยอะ สมัยฉันเป็นนักศึกษาก็ถือว่าเป็นเมืองที่มีต้นไม้มากที่สุดแห่งหนึ่งในโลกแล้ว แต่ลอนดอนก็ยังสามารถเพิ่มจำนวนต้นไม้ใหญ่เข้าไปได้อีก สวนสาธารณะบางแห่ง เช่น ฮอลแลนด์พาร์คเพิ่มพื้นที่โซนป่าทึบ ถนนหลายสายก็ปลูกต้นไม้เพิ่มเติม

ถ้าสงสัยว่าหาที่ตรงไหนมาปลูก ก็ขอตอบตรงๆ ว่าเอาที่มาจากรถยนต์ ถนนหลายเส้นเปลี่ยนเป็นทางคนเดินและจักรยาน ยกพื้นผิวขึ้นมาให้สูงเสมอฟุตบาทเดิม กลายเป็นลานสาธารณะเชื่อมระหว่างตึกรามอาคาร ร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่

ถึงวันนี้ถ้านับเฉพาะพื้นที่สีเขียวที่สาธารณชนคนทั่วไปเข้าถึงในลอนดอนก็ปาเข้าไป 48 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่เมือง ถ้ารวมสวนส่วนบุคคลเข้าไปคำนวณด้วยก็เกินครึ่งเมืองแน่นอน และลอนดอนยังมีเป้าที่จะเพิ่มต้นไม้และพงพืชมากขึ้นไปอีก

เพราะเป้าหมายของลอนดอนคือพัฒนาให้เป็น “เมืองอุทยานแห่งชาติ” หรือ National Park City แห่งแรกในโลก ซึ่งเขาก้าวเข้าถึงเส้นชัยนั้นแล้วในปีนี้ตามข้อกำหนดที่ตั้งไว้ แต่ยังคงมุ่งพัฒนาให้เขียวมากขึ้น เป็นมิตรกับนานาชีวิตมากขึ้น ทั้งชีวิตมนุษย์และเพื่อนร่วมโลกต่างสายพันธุ์

เขานิยาม National ParkCity ว่าเป็นเมืองที่ขอบเขตของพื้นที่ส่วนต่างๆ ไม่ขีดเส้นแบ่งแยกออกจากกันด้วยโครงสร้างแข็งของอิฐปูน กระจก และโลหะ แต่เชื่อมต่อกันด้วยสวนสาธารณะและพื้นที่สีเขียวต่างๆ โยงใยเป็นโครงข่าย เกื้อหนุนแมลงนกสัตว์ป่ามากมายที่เด็กๆ จะออกไปสำรวจ เล่น และเรียนรู้ได้กลางแจ้ง เป็นเมืองที่มีคุณภาพชีวิตสูงส่ง อากาศสะอาด น้ำสะอาด ร่มรื่นสุนทรีย์จนคนจำนวนมากเลือกที่จะเดินและปั่นจักรยานไปไหนมาไหน เป็นเมืองที่จะเขียวมากขึ้นไปอีกในอนาคต เป็นที่ที่คนและธรรมชาติกลับมาคืนดีฟื้นฟูความสัมพันธ์กัน

ในศัพท์ของวิศวกร นี่เป็นเมืองที่มีระบบโครงสร้างเขียว –greeninfrastructure หมายความว่าธรรมชาติไม่ได้มีบทบาทเป็นเพียงองค์ประดับเพื่อความงามสุนทรีย์เท่านั้น แต่เป็นตัวค้ำจุนชีวิตในเมือง  เป็นเมืองที่พยายามรับมือกับวิกฤตโลกร้อนและการสูญพันธุ์ครั้งยิ่งใหญ่ที่มนุษย์ก่อขึ้น

จากเมืองที่บางครั้งทึมเทาซึมเศร้าเซ็ง ลอนดอนกลายเป็นเมืองที่ให้ความรู้สึกโปร่งโล่งสบายใจผ่อนคลายกว่าเดิม

ที่น่าสนใจคือ มันเป็นความรู้สึกที่คนจริตต่างจากฉัน ไม่ได้สนใจไขว่หาธรรมชาติ ก็สัมผัสได้เช่นกันฉันมีเพื่อนสายเที่ยวเมืองแท้ๆ ประเภทกินช้อปเดินตลาด เป็นคนที่แต่ก่อนไม่เคยชอบลอนดอน เดี๋ยวนี้เปลี่ยนใจกลายเป็นชอบ แม้แต่ในช่วงหน้าหนาวขาดแสงแดด เธอใช้คำเดียวกันอธิบายความรู้สึก – โปร่งโล่งสบายใจ แต่นึกไม่ออกว่าเพราะอะไร

จนเมื่อฉันชี้ให้เห็นว่า ถนนหลายเส้นที่เธอเดินเมื่อก่อนเป็นถนนรถยนต์

มันก็ง่ายๆ เมื่อเมืองถูกพัฒนาให้เป็นถิ่นอาศัยของมนุษย์แทนรถยนต์ มันย่อมส่งผลให้มนุษย์รู้สึกดี ดีต่อกาย ดีต่อใจ

จบตรงนี้แหละ ไม่ต้องฝากสารอะไรถึงกทม. ไม่ต้องขอหวังว่าปิดปรับปรุงสวนลุมพิณีหนึ่งปี เปิดมาอีกทีปีหน้ามันจะมีพงอ้อดงพืชชายน้ำให้นกให้ปลา