Green Pulse: Traffy Waste, Traffy Fondue สู่เมืองอัจฉริยะ

Green Pulse: Traffy Waste, Traffy Fondue สู่เมืองอัจฉริยะ

ทีมวิจัยฯ NECTEC พัฒนาแอพพลิเคชั่นจัดการปัญหาการจัดเก็บขยะรั่วไหล สู่การแก้ปัญหาเมือง

ประเทศไทย มีความพยายามในการจัดการปัญหาขยะ โดยเฉพาะขยะพลาสติกอย่างจริงจังตั้งแต่หลังการประชุมการลดปริมาณขยะทะเลในกลุ่มประเทศอาเซียน (ASEAN Confererence on Reducing Marine Debris in ASEAN region)ในช่วงเดือนเมษายน 2561 ก่อนที่จะ

ก่อนที่รัฐบาลจะจัดตั้งคณะอนุกรรมการการบริหารจัดการขยะพลาสติก ซึ่งอยู่ภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ จัดทำโรดแมปฯ และแผนปฏิบัติการ ก่อนที่ ครม.จะให้ความเห็นชอบในที่สุด “เพื่อเป็นกรอบแนวทางความร่วมมือในการบริการจัดการขยะพลาสติกร่วมกับทุกภาคส่วน”


ความพยายามเหล่านี้ ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของปัญหาด้านขยะของประเทศที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ

ในช่วงระยะ เวลา 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีขยะพลาสติกเกิดขึ้นประมาณ 12% ของปริมาณขยะทั้งหมด หรือประมาณปีละ 2 ล้านตัน ซึ่งในสองล้านตันดังกล่าว สามารถนำกลับไปใช้ประโยชน์เฉลี่ยปีละประมาณ 500,000 ตัน ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 1.5 ล้านตัน ไม่ได้นำกลับมาใช้ประโยชน์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว อาทิ ถุงร้อน ถุงเย็น ถุงหูหิ้ว แก้วพลาสติก หลอดพลาสติก และกล่องโฟมบรรจุอาหาร ซึ่งมีอายุยาวนานในสิ่งแวดล้อมที่อาจมากถึงกว่า 450-1,000 ปี

ทางกรมควบคุมมลพิษเองได้ระบุว่า หากดูในภาพรวมปริมาณขยะทั้งหมด จากตัวเลขสถิติที่ได้บันทึกได้ จะพบว่า การส่งเสริมให้ประชาชนคัดแยกขยะเพื่อลดปริมาณขยะมูลฝอยทั้งหมด และส่วนหนึ่งได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ใหม่มากขึ้น ทำให้ปริมาณขยะโดยเฉพาะในพื้นที่เขตเมืองอย่างกรุงเทพมหานครมีปริมาณลดลงจากเดิมเกือบ 300 ตันต่อวัน แต่การบริหารเก็บขนรวบรวมขยะทั้งจากบ้านเรือน แหล่งชุมชน และแหล่งสาธารณะ ยังมีปัญหาด้านประสิทธิภาพการเก็บรวบรวม อันเนื่องมาจากข้อจำกัดในการเก็บค่าบริการทำให้ไม่สามารถพัฒนารูปแบบการให้บริการได้


สำหรับหัวหน้าทีมวิจัยระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพวิเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ดร.วสันต์ ภัทรอธิคม มีความเห็นสอดคล้องกับกรมควบคุมมลพิษที่มองว่า แม้ปัญหาขยะ โดยเฉพาะขยะพลาสติก จะเป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ แต่จริงๆ แล้ว ในหลายๆที่โดยเฉพาะในเขตเมืองหรือเทศบาล ขยะที่ดูล้นเกินไม่ได้หมายความถึงขยะที่เพิ่มขึ้นไปทุกครั้ง หากแต่ปัญหาอยู่ที่ระบบจัดการการจัดเก็บขยะของเมืองหรือเทศบาลนั่นเอง ที่ทำให้ปัญหาขยะในบางที่เหมือนมีความรุนแรงขึ้น

"จากโครงการ Smart City ที่เราได้ทำที่เทศบาลจังหวัดภูเก็ต พอมาถึงเรื่องขยะ ตอนแรกเราก็คิดเหมือนกันว่า ปริมาณขยะมันไม่เท่าเดิม แต่พอเราศึกษาจริงๆ พบว่า มันไม่ใช่ มันไม่ได้มากขนาดนั้น แต่มันเกิดลักษณะของการสะสมของตัวขยะ ซึ่งมาจากปัญหาการจัดเก็บที่ไม่เป็นระบบ ไม่เป็นไปตามเวลาหรือไม่ประจำสม่ำเสมอ ซึ่งกลายเป็นปัจจัยหนึ่งของปัญหาขยะในบ้านเรา" ดร.วสันต์กล่าว

เมื่อได้รับทุนจากกระทรวง ICT ราวสามปีก่อน ทางทีมวิจัยฯ ภายใต้การนำของดร. วสันต์ จึงเริ่มคิดค้นระบบจัดการจัดเก็บขยะอัจฉริยะ เพื่อมาช่วยอุดช่องว่างดังกล่าว และนำไปสู่การนำเทคโนโลยีทางด้านการสื่อสารใหม่ๆมาใช้ อาทิ การพัฒนาแอพพลิเคชั่นสื่อสาร มาช่วยในงาน และขยายผลไปสู่แอพพลิเคชั่นจัดการปัญหาของเมืองในภาพรวมอีกด้วย โดยระบบการจัดการการเก็บขยะอัจฉริยะ เรียกว่า Traffy Waste( Intelligent Garbage Monitoring and Management System) และแอพพลิเคชั่นจัดเก็บขยะนอกถัง หรือ Traffy Fondue ที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้แก้ปัญหาเมืองอื่นๆ

"ท่านนายกเทศบาลภูเก็ตบอกว่า ปัญหาของขยะของเทศบาลคือ ถ้าไม่มาเก็บ ขยะก็จะพอกพูนในพื้นที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของเมือง

ในส่วนของประชาชนเอง ถ้ารถไม่มาเก็บ เขาก็ไม่รู้ ไม่แน่ใจ ตรวจสอบย้อนกลับอะไรไม่ได้ ว่าขยะที่กองอยู่นั้น จริงๆมันอันเก่าหรืออันใหม่ รถมาเก็บแล้วไหม ก็เป็นจุดเร่ิมต้นของการพัฒนาระบบจัดเก็บขยะอัจฉริยะเพื่อตอบคำถามเหล่านี้ หรือพูดอีกอย่างคือ การสร้างระบบจัดเก็บขยะที่ทันสมัยผ่านเทคโนโลยีสื่อสารใหม่ๆนั่นเอง" ดร.วสันต์กล่าว

เมื่อได้โจทย์มาแล้ว ทางทีมวิจัยจึงเริ่มสร้างระบบการจัดเก็บขยะอัจฉริยะนี้ โดยปลายทาง จะมีการติดเซนเซอร์กับรถขยะ ที่พร้อมส่งข้อมูลการเก็บขยะ ไม่ว่าจะเป็นด้านเวลาหรือสถานที่เข้ามายังศูนย์เพื่อให้ AI ช่วยประมวลผลผ่านอะกอลิทึ่ม แล้วแจ้งผลผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ Traffy Waste ซึ่งจะช่วยบอกข้อมูลให้ทั้งเจ้าหน้าที่ หรือประชาชนทั่วไปที่มีแอพพลิเคชั่นดังกล่าว เกิดเป็น big data การจัดเก็บขยะของเมืองและการสื่อสารผ่านแอพลลิเคชั่นที่รวดเร็ว ตรวจสอบได้

"สิ่งที่จะปรากฎจาก big data ที่กำลังเกิดขึ้น คือประสิทธิภาพของการจัดการกับขยะของเมืองนั่นเอง ซึ่งจะช่วยในการบริหารขยะของเมืองให้ดีขึ้น ไม่รั่วไหลออกจากระบบจัดการ กลายเป็นปัญหาในสิ่งแวดล้อม" ดร. วสันต์กล่าว

หลังจากที่ได้ทำการศึกษาทดลองใช้ที่เทศบาลเมืองภูเก็ต และป่าตอง ดร.วสันต์กล่าวว่า ในปีนี้ จะมีการขยายผลไปยังเมืองอื่นๆทั้งในภาคตะวันออกและภาคอีสาน อีกประมาณ 5-10 เมือง อาทิ เทศบาลศิลา ชลบุรี เมืองขอนแก่น เป็นต้น

ส่วนกรุงเทพมหานคร ดร.วสันต์กล่าวว่า ยังอยู่ในระหว่างหารือกับผู้บริหารกรุงเทพมหานครเพราะมีกระบวนการขั้นตอนการทำงานภายในองค์กร

จากขยะในถังที่ไม่ได้จัดเก็บ ทางทีมวิจัยยังคิดถึงเรื่องการจัดการขยะที่อยู่นอกถังหรือถูกทิ้งเกลื่อน ก่อนที่จะพัฒนาแอพพลิเคชั่นการสื่อสารอีกตัวหนึ่งเพื่อมาช่วยอุดช่องโหว่ดังกล่าว เกิดเป็น แอพพลิเคชั่น Traffy Fondue

โดย ดร.วสันต์ กล่าวว่า Traffy Fondue ใช้หลักการง่ายๆ ของการแจ้งราชการในอดีตย้ายมาใส่ไว้ในแอพพลิเคชั่นผ่านกายถ่ายภาพแล้วส่งสื่อสารระหว่างกันระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ

ด้วยความละเอียดชัดเจนของภาพถ่ายและข้อมูล และจุดรับแจ้งที่ชัดเจนและการตอบรับที่รวดเร็ว การแก้ปัญหาของเมืองผ่านแอพพลิเคชั่นดังกล่าว จะได้รับการแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ดร.วสันต์กล่าว

ดร.วสันต์กล่าวว่า สิ่งที่จะต้องสร้างคือ ระบบสื่อสารขนาดใหญ่ ซึ่งปัญหาขยะ นำไปสู่การรายงานปัญหาของเมืองด้านอื่นๆ โดยประชาชนให้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบได้รับทราบและเข้ามาแก้ไขได้ในที่สุด ดร.วสันต์กล่าว

"เอาแค่ท่อตัน หรือฝาท่อเปิด ถ้าเป็นแต่ก่อนเราก็คงไม่รู้จะแจ้งที่ไหน แต่ถ้าเรามีแอพพลิเคชั่นนี้เราอาจเป็นอีกคนที่ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมเมืองหรืออุบัติเหตุจากฝาท่อที่เปิดทิ้งไว้ได้ ที่สำคัญคือ big data ของปัญหาเมืองที่ตะเกิดตามมาเพื่อช่วยในการวิเคราะห์ของผู้บริหาร" ดร.วสันต์กล่าว

ดร.วสันตกล่าวว่า ในปัจจุบัน มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนกว่า 300 แห่งที่นำ Traffy Fondue ไปใช้แก้ปัญหาในพื้นที่ของตัวเอง

"มันเป็นการสร้างขบวนการแก้ปัญหาของเมืองขึ้นมาอีกระบบที่มีการสื่อสารสองทางใกล้ชิดกันมากขึ้น มันคือเรื่อง Smart Living ที่เอาเทคโนโลยีมาข่วยบริหารปัญหาและขีวิตให้ดียิ่งขึ้น" ดร.วสันต์กล่าว