Green Pulse: สภาสูงฝรั่งเศสผ่านร่างกม. ห้ามผู้ประกอบการก่อขยะ

Green Pulse: สภาสูงฝรั่งเศสผ่านร่างกม.  ห้ามผู้ประกอบการก่อขยะ

สภาสูงฝรั่งเศสผ่านร่างกฏหมายห้ามแบรนด์หรูทำลายสินค้าทิ้งเปล่าประโยชน์ สอดคล้องกับกระแสความนิยมที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆของพรรคการเมืองแนวอนุรักษนิยมในการเลือกตั้งของยุโรปเมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งรวมถึงในฝรั่งเศส

การผ่านร่างกฏหมายห้ามทำลายสินค้าที่ไม่ใช่อาหาร เช่น เสื้อผ้า เครื่องไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์สุขอนามัยและเครื่องสำอางของฝรั่งเศสจะเริ่มมีผลบังคับใช้ภายใน 4 ปี ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส ระบุว่า ในฝรั่งเศส แต่ละปีจะมีสินค้าอุปโภคบริโภคที่เป็นของใหม่ถูกทิ้งหรือทำลายทิ้งเป็นมูลค่ามากกว่า 650 ล้านยูโร มากกว่าผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันที่ถูกนำไปบริจาคถึง 5 เท่า

ร่างกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของร่างกฎหมายเศรษฐกิจที่ส่งให้คณะรัฐมนตรีฝรั่งเศสพิจารณาเมื่อเดือนกรกฎาคม และจะบังคับใช้ระหว่างปี 2564-2566 บังคับให้ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายส่งมอบผลิตภัณฑ์เหล่านี้เพื่อนำกลับมาใช้ซ้ำหรือรีไซเคิล

เมื่อเดือนมกราคมปีนี้ สถานีเอ็ม 6 เผยแพร่สารคดีที่รวมถึงวิดีโอจากกล้องแอบถ่าย เปิดโปงว่า บริษัทค้าปลีกออนไลน์ชื่อดังของสหรัฐ อย่างอเมซอน ทำลายผลิตภัณฑ์หลายล้านชิ้นที่ลูกค้าส่งคืนหรือขายไม่ออก โดยเป็นข้อตกลงระหว่างอเมซอนกับผู้ค้าปลีก

ปีที่แล้ว เบอร์เบอร์รี บริษัทแฟชั่นชั้นนำของอังกฤษ ก็ถูกประณามอย่างรุนแรงหลังจากยอมรับว่า แต่ละปี บริษัทเผาทำลายเสื้อผ้า เครื่องประดับและน้ำหอมที่ขายไม่ออก มูลค่ารวม 28.6 ล้านปอนด์ เพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าเหล่านี้ถูกนำกลับมาขายในราคาถูก เพื่อรักษาภาพลักษณ์แบรนด์หรู ซึ่งต่อมาพบว่าเป็นวิธีปฏิบัติกันทั่วไปในอุตสาหกรรมนี้

แต่เบอร์เบอร์รี ก็ตัดสินใจยกเลิกการเผาสินค้าค้างสต็อกเพื่อปกป้องชื่อเสียงของแบรนด์ พร้อมทั้งยกเลิกการใช้ขนสัตว์จริง เช่นขนมิงค์ แรคคูน เพื่อพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม โดย“มาร์โค ก็อบเบททิ”ประธานบริหารของเบอร์เบอร์รี กล่าวว่า ความหรูหรานำสมัยควรครอบคลุมถึงการมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย

ตามปกติ ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ถูกนำไปจำหน่ายในร้านค้าลดราคา และมีอายุเกินห้าปี เบอร์เบอร์รีจะนำกลับมาใช้ใหม่ ซ่อมแซม บริจาค หรือรีไซเคิลผลิตภัณฑ์ พร้อมทั้งใช้กลยุทธ์ในการลดจำนวนการผลิตสินค้า และผลิตสินค้าให้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ซึ่งช่วยลดปริมาณสินค้าค้างสต็อกได้มาก

นอกจากนี้ เบอร์เบอร์รี ยังจับมือกับบริษัทสินค้าหรูแต่ยั่งยืนอย่าง Elvis & Kresse ปรับเปลี่ยนหนังแท้ที่ถูกตัดเป็นชิ้นๆ จำนวน 120 ตันให้กลายเป็นสินค้าใหม่ภายในห้าปีข้างหน้า

กระทรวงสิ่งแวดล้อมของฝรั่งเศส เปิดเผยว่า ประชากรเกือบ 70 ล้านคน ผลิตขยะคนละ 5 ตันต่อปี ซึ่งปริมาณขยะที่มาหมายมหาศาลนี้ กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ และเมื่อปีที่แล้ว รัฐบาลออกรายงานเรื่องโรดแมปการเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียนว่า จะลดปริมาณขยะไม่อันตรายที่ส่งไปแหล่งฝังกลบลงให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี 2568

ขยะที่ชาวฝรั่งเศสทิ้งในปี 2557 นำกลับไปหมุนเวียนได้เพียง 39% ที่เหลือเป็นขยะอินทรีย์ราวครึ่งหนึ่ง ต้องนำไปเผาหรือฝังกลบ ก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและสิ้นเปลืองพลังงาน ส่วนขยะพลาสติกที่นำไปรีไซเคิลได้มีเพียง 1 ใน 5 เท่านั้น ต่ำกว่าสหภาพยุโรป(อียู)ที่อัตราเฉลี่ย 30% และประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ที่สูงกว่า 90%

นักวิทยาศาสตร์ ระบุว่า ปัจจุบันทั่วโลกผลิตขยะพลาสติกปีละกว่า 300 ล้านตัน และมีขยะพลาสติกปนเปื้อนอยู่ในทะเลและมหาสมุทรไม่ต่ำกว่า 5 ล้านล้านชิ้น ส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์มีการผลิตถึงปีละ 40 ล้านตันด้วยกัน

วุฒิสภาฝรั่งเศสจะส่งต่อร่างกฏหมายนี้ให้แก่สภาผู้แทนราษฎรที่พรรคของประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ครองเสียงข้างมาก โดยร่างกฎหมายนี้ นอกจากจะบังคับใช้บรรดาเจ้าของแบรนด์หรูห้ามเผาทำลายสินค้าที่ขายไม่ออกแล้ว ยังบังคับให้ร้านซ่อมคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือใช้วัสดุมือสอง บังคับให้ผู้ผลิตของเล่น วัสดุก่อสร้าง บุหรี่ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ต้องกำจัดขยะที่เกิดจากการผลิตและบรรจุภัณฑ์ของสินค้าเหล่านี้

และบังคับให้ผู้ผลิตต้องให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคตั้งแต่ปี 2564 เรื่องวิธีซ่อมสินค้า ซึ่งรัฐบาลฝรั่งเศสมั่นใจว่าร่างกฎหมายนี้จะเป็นกลไกสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนที่สินค้าต่าง ๆ สามารถซ่อมแซม ใช้ซ้ำ หรือหมุนเวียนใช้ใหม่ได้

นี่ถือเป็นความคืบหน้าอย่างมาก เพราะที่ผ่านมา ฝรั่งเศสได้ออกกฏหมายให้ซูเปอร์มาร์เก็ตบริจาคอาหารที่เหลือจากการขายให้หน่วยงานการกุศลและเกษตรกรเพื่อนำไปเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์เพื่อแก้ปัญหาของเน่าเสียจากอาหารที่ถูกทิ้ง

กลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแสดงความยินดีกับกฏหมายฉบับนี้เพราะจะช่วยปกป้องสิ่งแวดล้อม เนื่องจากในฝรั่งเศสมีอาหารถูกทิ้งประมาณ 20-30 กิโลกรัมต่อคนในแต่ละปี