‘แอพแชท’ เครื่องมือสื่อสารผู้ชุมนุมในฮ่องกง

‘แอพแชท’ เครื่องมือสื่อสารผู้ชุมนุมในฮ่องกง

การรวมตัวอย่างรวดเร็วในการประท้วงที่ฮ่องกง เพราะพวกเขาใช้แอพสื่อสารเฉพาะกลุ่ม ไม่ให้ทางการจับได้

....................................

ในศึกสงคราม ผู้ที่กุมระบบการสื่อสารไว้ได้คือ ผู้ชนะ น่าจะเป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับการชุมนุมประท้วงในฮ่องกงที่เริ่มต้นตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายนและยืดเยื้อต่อเนื่องมาเป็นเวลาเกือบ 3 เดือน

เหตุประท้วงรัฐบาลฮ่องกงและอิทธิพลทางการจีนในฮ่องกงมีจุดเริ่มต้นมาจากการต่อต้านร่างกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนให้จีน ล่าสุด แคร์รี่ หล่ำ หัวหน้าผู้บริหารเขตปกครองพิเศษฮ่องกง แถลงผ่านการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์เมื่อวันที่ 4 กันยายนว่า ทางการฮ่องกงขอถอนร่างกฏหมายตัวปัญหาออกจากการพิจารณาเป็นกฏหมายอย่างเป็นทางการ

ความตึงเครียดในฮ่องกงเพิ่มสูงขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยผู้ชุมนุมประท้วงมีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับการเซ็นเซอร์และการดักฟังข้อมูลการสื่อสารในโลกออนไลน์ของพวกเขา

มีรายงานในเดือนสิงหาคมว่า นักเคลื่อนไหวในฮ่องกง นัดชุมนุมผ่านระบบการสื่อสารที่ไม่ใช่วิธีที่ใช้กันปกติ โดยนัดผ่าน AirDrop ซึ่งเป็นเทคโนโลยีในการส่งข้อมูลระหว่างเครื่องโดยตรงโดยใช้ไวไฟและบลูทูธเพื่อส่งข้อมูลหากันของค่าย Apple และ Tinder แอพพลิเคชั่นหาเพื่อนหรือหาคู่ที่อยู่รอบตัวในพื้นที่ใกล้ๆ กัน

เว็บไซต์ Business Insider รายงานว่า ในขณะที่ผู้ชุมนุมกำลังจัดการชุมนุมประท้วงในสวนสาธารณะแห่งหนึ่งในฮ่องกงอยู่ เพียงไม่นานก็มีตำรวจเข้ามาห้ามการชุมนุม

กลุ่มผู้ประท้วงดังกล่าวบอกตำรวจว่า พวกเขากำลังรวมตัวกันเพื่อเล่น Pokémon GO แต่ในความเป็นจริงแล้ว พวกเขากำลังถกกันถึงวิธีการประท้วงและแบ่งปันเคล็ดลับของวิธีจัดการกับตำรวจ โดยใช้แอพแชทดังกล่าว

เครือข่ายตาข่าย

ในช่วงกลางเดือนสิงหาคม มีรายงานว่าประชาชนชาวฮ่องกงจำนวนมากกำลังใช้ FireChat แอพส่งข้อความแบบออฟไลน์ในการติดต่อสื่อสารเพื่อนัดชุมนุม

ก่อนที่จะมีการประท้วงในฮ่องกง FireChat เป็นแอพสำหรับการส่งข้อความที่นิยมใช้กันในหมู่ของคนที่ชอบไปงานเทศกาลต่างๆ ซึ่งต้องการสื่อสารกับผู้คนที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง

แอพนี้ทำงานโดยอาศัยเครือข่ายไร้สายที่กระจายสัญญาณลอยตัวกันแบบ Mesh หรือตาข่ายไร้สาย ซึ่งหมายความว่าผู้ใช้สามารถเชื่อมต่อกันผ่านบลูทูธ ไวไฟหรือฟีเจอร์ Multipeer Connectivity ของค่าย Apple โดยไม่ต้องเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในการติดต่อสื่อสารแบบเพียร์ทูเพียร์

แอพดังกล่าวช่วยให้ผู้ใช้ส่งข้อความถึงกันโดยไม่ต้องใช้สัญญาณอินเตอร์เน็ต โดยข้อความจะเด้งไปยังโทรศัพท์เครื่องที่อยู่ใกล้เคียงที่กำลังใช้แอพนี้ทันที แทนที่จะเด้งไปที่ดาวเทียมก่อนที่จะส่งมาที่เครื่องโทรศัพท์อีกครั้ง

ไม่ว่าใครก็ตามที่อยู่ในเครือข่ายตาข่ายเดียวกันกับคุณ ข้อความส่วนตัวจะถูกส่งผ่านผู้ใช้คนอื่นๆ ที่อยู่ในเครือข่ายตาข่ายเดียวกัน ข้อความจะเด้งจากโทรศัพท์เครื่องหนึ่งไปยังอีกเครื่องหนึ่งจนกว่าจะถึงผู้รับที่ต้องการ

ระบบนี้จะทำงานได้ดีที่สุดเมื่อผู้ใช้อยู่ห่างกันไม่เกิน 100 เมตร แต่ก็สามารถใช้เพื่อส่งข้อความถึงคนที่อยู่ไกลออกไปได้

อย่างไรก็ตาม FireChat และแอพเครือข่ายตาข่ายที่คล้ายคลึงกัน ไม่ได้ถูกออกแบบมา เพื่อใช้ในการชุมนุมประท้วงของผู้คน

การนิยมนำแอพดังกล่าวมาใช้ในสถานการณ์การเมืองหรือการชุมนุมเริ่มขึ้นในประเทศอิรักในปี 2014 หลังจากที่มีการนำมาตรการการจำกัดการใช้อินเทอร์เน็ตมาใช้ เทคโนโลยีดังกล่าวยังถูกใช้ระหว่างการชุมนุมประท้วงที่ฮ่องกงในปี 2014 และการชุมนุมประท้วงที่เอกวาดอร์ในปีถัดมา

ในเดือนพฤษภาคม 2016 เครือข่ายไร้สายที่กระจายสัญญาณลอยตัวกันแบบ Mesh ถูกใช้โดยเจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัยในฟิลิปปินส์ ที่ต้องสื่อสารกันระหว่างงานบรรเทาสาธารณภัยเมื่อเครือข่ายอินเตอร์เน็ตในกรุงมะนิลาล่ม อันมีสาเหตุมาจากสภาพอากาศที่เลวร้าย

 

Bridgefy

ในการชุมนุมใหญ่ปี 2014 ผู้ชุมนุมประท้วงฮ่องกงติดต่อสื่อสารกันผ่านแอพ FireChat เป็นหลัก แต่คราวนี้ผู้ชุมนุมเลือกใช้แอพ Bridgefy ซึ่งมีการทำงานที่คล้ายกับแอพตัวแรกเป็นแอพหลัก

Bridgefy ถูกออกแบบโดยสตาร์ทอัพสัญชาติเม็กซิกันที่อยู่ในซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา

"ยอดดาวน์โหลดแอพของเราในฮ่องกงพุ่งขึ้นสูงมากนับตั้งแต่มีการประท้วงเกิดขึ้น และในช่วง 7 วันที่ผ่านมา แอพของเราถูกดาวน์โหลดมากกว่า 75,000 ครั้งจากฮ่องกงที่เดียว” จอร์จ ไรออส ซีอีโอของบริษัท Bridgefy กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ Forbes เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

จอร์จบอกว่า ยอดการดาวน์โหลดแอพครั้งนี้ได้รับความสนใจจากสื่อท้องถิ่น ซึ่งรายงานข่าวเกี่ยวกับประโยชน์ของแอพที่ใช้ส่งข้อความในระหว่างการประท้วง ผู้ชุมนุมหลายคนค้นพบแอพของเราจากการรายงานของสื่อและตระหนักว่า เทคโนโลยีของ Bridgefy มีพลังมากกว่าแอพแชทอื่นๆ เพราะมันทำงานโดยไม่ต้องเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต

Bridgefy ไม่เพียงแต่จะทำหน้าที่ส่งข้อความส่วนตัว แต่มันยังอนุญาตให้ผู้ใช้โพสต์วิดีโอให้ใครก็ตามที่อยู่ในพิกัดดูได้ ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ในรายชื่อผู้ติดต่อของผู้ใช้หรือไม่ก็ตาม

Forbes ระบุว่า ในช่วง 60 วันที่ผ่านมายอดดาวน์โหลด Bridgefy เพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 4,000

จอร์จบอกกับ Forbes ถึงความนิยมในการใช้งานแอพนี้ในฮ่องกงว่า มันเป็นวิธีการสื่อสารที่ปลอดภัย เพราะมีความเสี่ยงน้อยมากที่ข้อความจะถูกอ่านด้วยสายตาที่ “ไม่พึงประสงค์" หรือมีคนที่ไม่เป็นที่ต้องการเข้ามาแอบอ่านข้อความนั่นเอง

นั่นหมายความว่า แอพนี้ไม่เพียงแต่จะมีประโยชน์ในการช่วยให้ผู้ประท้วง ยังคงสามารถติดต่อสื่อสารกันได้หากมีการปิดการใช้งานอินเทอร์เน็ต แต่มันยังช่วยรักษาความปลอดภัยให้กับข้อมูลที่พวกเขาแชร์กันด้วย

......................     

ที่มา : www.siliconrepublic.com