'รอง ผบ.ตร.' ถกแก้ไขมลพิษ PM 2.5 สั่งจราจรกวดขันจับรถควันดำ

'รอง ผบ.ตร.' ถกแก้ไขมลพิษ PM 2.5 สั่งจราจรกวดขันจับรถควันดำ

"รอง ผบ.ตร." ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แก้ไขมลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล เผยสถิติจับกุมรถควันดำปี 62 ช่วงเดือนมกราคม-กันยายน ทะลุ 116,040 คัน

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 5 ตุลาคม 2562 ที่กองบังคับการตำรวจจราจร(บก.จร.) พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รอง ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้ช่วย ผบ.ตร.,พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น. ประชุมหารือแนวทางแก้ไขมลพิษที่เกิดจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5)ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยมีกรมควบคุมมลพิษ ,กรมเจ้าท่ากรมการขนส่งทางบกกรมโรงงานอุตสาหกรรม ,ขสมก. และข้าราชการตำรวจที่รับผิดชอบพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลเข้าร่วมประชุมกว่า 2 ชั่วโมง

พล.ต.อ.สุวัฒน์ กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้สรุปสาเหตุการเกิดสถานการณ์ฝุ่นมลพิษ (PM 2.5) ในพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดต่างๆ พบว่าเกิดจาก 1.ปัญหาการจราจรการนำรถที่มีสภาพเครื่องยนต์ไม่พร้อมมาใช้งาน ก่อให้เกิดควันดำบนท้องถนน 2.การเผาในที่โล่งในภาคเกษตรกรรม 3.การปล่อยมลพิษทางอากาศของภาคอุตสาหกรรม 4.การก่อสร้างและผังเมืองที่ไม่มีคุณภาพ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยได้สั่งกำชับหน่วยงานในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการดังนี้

คือ 1.เพิ่มมาตรการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่นำรถยนต์ที่มีลักษณะการปล่อยมลพิษควันดำมาใช้บนนท้องถนน 2.เพิ่มมาตรการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายกับผู้ประกอบการที่ปล่อยมลพิษทางอาการโดยเฉพาะการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน 3.ตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายกับผู้ลักลอบเผาพืชไร่เผาในที่โล่งในภาคเกษตรกรรมและกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ 4.เพิ่มมาตรการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่บิดเบือนสร้างข้อมูลอันเป็นเท็จเพื่อประสงค์ให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนก 5.บูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งหน่วยงานราชการและภาคเอกชนในการสนับสนุน และ 6.ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบแนวทางการป้องกันตนเองจากสถานการณ์ฝุ่นมลพิษ pm 2.5 โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่นำรถยนต์ที่มีลักษณะการปล่อยมลพิษควันดำมาใช้บนท้องถนน

 

พล.ต.อ.สุวัฒน์ กล่าวต่อนอกจากนี้ ได้มอบหมายให้ บก.จร.เพิ่มความเข้มงวดกวดขันจับกุม โดยเพิ่มชุดตรวจจับควันดำจากเดิมมีจำนวน 14 ชุดปฏิบัติการเป็น 20 ชุดปฏิบัติการ ประจำจุดตามแผนจำนวน 15 ชุด และชุดเคลื่อนที่อีก 5 จุด และหากประชาชนพบรถบรรทุกควันดำที่ถูกพ่นสีห้ามขับ หรือรถยนต์เล็กที่ถูกปิดสติ๊กเกอร์กรมควบคุมมลพิษ แต่ยังนำมาใช้บนท้องถนน ก็สามารถแจ้งสายด่วน บก.จร.1197 ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการได้ทันที ซึ่งผู้ที่แกะหรือทำลายสติ๊กเกอร์จะได้รับโทษทางอาญาด้วย เพราะเจ้าหน้าที่ได้นำข้อมูลไปบันทึกในระบบเรียบร้อยแล้ว และต้องไปแก้ไขภายใน 30 วัน ที่ศูนย์แก้ไขรถยนต์ควันดำ หรือศูนย์ปรับแต่งรถยนต์ต่างๆ ต่อไป

ทั้งนี้ มีรายงานสถิติการจับกุมรถควันดำใน ปี 2560 มีจำนวน 188,718 คัน ปี 2561 มีจำนวน 133,733 คัน และระหว่างเดือนมกราคม-กันยายนที่ผ่านมา มีจำนวน 116,040 คัน