นับถอยหลังเลือกซ่อมเขต 5 นครปฐม

นับถอยหลังเลือกซ่อมเขต 5 นครปฐม

กกต.มุ่งจัดเลือกตั้งสมานฉันท์ นครปฐม เขต 5 ส่งทีมผู้เชี่ยวชาญประกบหน่วยเลือกตั้งกำจัดจุดอ่อน ไม่ให้ซ้ำรอย 24 มี.ค. เตือนปชช.6 หมื่นครัวเรือนใน อ.สามพราน ไปใช้สิทธิหย่อนบัตร ป้องกันถูกตัดสิทธิการเมือง 2 ปึ

เมื่อวันที่ 5 ต.ค.62 ที่ว่าการอำเภอสามพราน จ.นครปฐม สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดกิจกรรมการเลือกตั้งเชิงสมานฉันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครปฐม เขตเลือกตั้งที่ 5 แทนตำแหน่งที่ว่าง โดยมีผู้สมัครจาก 4 พรรคการเมือง เข้าร่วมกิจกรรม ประกอบด้วย นายไพรัฏฐโชติก์ จันทรขจร ผู้สมัครจากพรรคอนาคตใหม่ สามีของนางจุมพิตา จันทรขจร อดีตส.ส.ที่ลาออกเนื่องจากประสบอุบัติเหตุ

น.ส.สิริขวัญ แย้มมูล พรรคพลังสังคม น.ส.ปริมปรางค์ แสงสว่าง พรรคไทยศรีวิไลย์ และนายเพชร จันทร์ดา พรรคเพื่อชีวิตใหม่ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคเสรีรวมไทย ส่งตัวแทนมาเข้าร่วมกิจกรรม

นายยงยุทธ สวนทอง นายอำเภอสามพราน กล่าวว่า อำเภอสามพราน จ.นครปฐม เป็นเขตแรกที่จัดมห้มีการเลือกตั้งใหม่แทนตำแหน่งที่ว่าง ทำให้ตกเป็นที่จับตาของคนทั้งประเทศ ทั้งนี้หลังปิดการรับสมัครในเขตเลือกตั้งที่ 5 มีผู้สมัครทั้งสิ้น 7 คน จาก 7 พรรคการเมือง จึงขอให้ผู้สมัครทุกคนหาเสียงภายในกรอบและข้อกำหนดของกฎหมาย เพื่อไม่ให้ถูกร้องเรียน ขณะนี้เหลือเวลาหาเสียงอีกเพียงไม่กี่วัน ดังนั้นขอให้ใช้กฎหมายเป็นเกราะป้องกันตัว และขอให้ผู้สมัครจากทุกพรรคการเมืองร่วมมือกันเพื่อให้เกิดความสมานฉันท์ มุ่งลดความแตกแยกในสังคม

 

ด้านนายเมธา ศิลาพันธ์ รองเลขาธิการกกต.กล่าวชี้แจงถึงความจำเป็นที่กกต.ต้องกำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 23 ต.ค.ถึงสาเหตุที่กกต.ต้องกำหนดวันเลือกตั้งซ่อมจ.นครปฐม เป็นวันที่ 23 ต.ค.ว่า รัฐธรรมนูญกำหนดให้กกต.ต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 45 วัน นับแต่วันที่ตำแหน่งส.ส.ว่างลง ซึ่งในวันหยุดราชการสามารถจัดการเลือกตั้งได้ 2 วันคือ วันอาทิตย์ที่ 20 ต.ค. และวันพุธที่ 23 ต.ค. ซึ่งเป็นวันหยุดราชการเนื่องในวันปิยมหาราช แต่ปรากฎว่าพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเลือกตั้งลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 28 ก.ย. ทำให้ไม่สามารถจัดวันที่20 ต.ค.ได้ เนื่องจากหากกำหนดในวันดังกล่าว การปิดประกาศบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะไม่ครบกำหนด 25วัน ซึ่งขัดต่อกฎหมาย ข้อจำกัดดังกล่าวทำให้กกต.ต้องเลือกจัดการเลือกตั้งเป็นวันที่ 23 ต.ค. ส่วนข้อกังวลของพรรคอนาคตใหม่ที่เกรงว่าจะมีอุปสรรคในการไปใช้สิทธิของประชาชน กกต.ของชี้แจงว่า กฎหมายกำหนดให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ นายจ้างภาคเอกชน ต้องส่งเสริมให้ผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชาไปใช้สิธิเลือกตั้ง การขัดขวางการไปใช้สิทธิมีความผิด จึงมั่นใจได้ว่าจะไม่มีอุปสรรคขัดขวางการไปใช้สิทธิและทุกพรรคการเมืองมีเวลาหาเสียงอย่างเท่าเทียมกัน

"ก่อนที่กกต.จะกำหนดการเลือกตั้งในวันที่ 23 ต.ค. ได้ประสานสอบถามม่ยังกกต.จังหวัดนครปฐม และนายอำเภอ ว่ามีความสะดวกหรือข้อขัดข้องอย่างไรหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดการเลือกตั้ง นอกจากนี้ยังได้วางแนวทางแก้ปัญหา การมาใช้สิทธิการลงคะแนนอย่างคับคั้ง โดยการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีหน่วยเลือกตั้งเพิ่มขึ้นจากการเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค. ถึง 6 หน่วยเพื่อไม่ให้หน่วยเลือกตั้งใดมีผู้ใช้สิทธิเกิน 1,000 คน และหน่วยเลือกตั้งที่มีผู้ใช้สิทธิเกิน 800 คน จะมีกรรมการเพิ่มขึ้น 1-2 คน

สำหรับปัญหาการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการประจำหน่วยทั้งการนับคะแนนและการประกาศผลคะแนนไม่ถูกต้องนั้น กกต.จะมอบหมายให้ทีมผู้เชี่ยวชาญจากจังหวัดใกล้เคียงและส่วนกลาง 1 คนจะรับผิดชอบ 10 หน่วยเลือกตั้ง โดยผู้เชี่ยวชาญแต่ละคนจะต้องวิเคราะห์ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะปัญหาเรื่องแบบพิมพ์ และนำไปอบรมกรรมการประจำหน่วย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดซ้ำรอยในวันที่ 24 มี.ค.

นายเมธา กล่าวอีกว่าในวันที่ 8 ต.ค.นี้เอกสารแจ้งเจ้าบ้านจะส่งถึง 60,000 ครัวเรือนในอำเภอ สามพราน เพื่อแจ้งให้ทราบว่าในแต่ละครัวเรือนมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งกี่คน และต้องไปใช้สิทธิในหน่วยเลือกตั้งใด ข้อย้ำว่าการเลือกตั้งในวันที่ 23 ต.ค. ไม่มีการเลือกตั้งนอกเขต และเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร โดยผู้มีสิทธิจึงต้องใช้สิทธิลงคะแนนเพื่อไม่ให้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 2 ปี แม้จะเคยไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค. แต่ถ้าไม่มาใช้สิทธิในวันที่23 ต.ค.ก็ต้องถูกตัดสิทธิทางการเมือง แต่ถ้าไม่มาใช้สิทธิทั้ง 2 วันดังกล่าวก็ต้องโดนตัดสิทธินานถึง 4 ปี

ทั้งนี้ในเขตเลือกตั้งที่ 5 ครอบคลุมทั้งอำเภอสามพราน (ยกเว้น 3 ตำบล ได้แก่ตำบลตลาดจินดา ตำบลคลองจินดา และตำบลบางช้าง โดยการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค.มีผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตประมาณ 5,000 คน และมีผู้มาใช้สิทธิในการเลือกตั้งทั้งหมด 76 เปอร์เซ็นต์