ค้าปลีกสหรัฐมั่นใจยอดขายปลายปีแกร่ง

ค้าปลีกสหรัฐมั่นใจยอดขายปลายปีแกร่ง

สมาพันธ์ค้าปลีกแห่งชาติของสหรัฐ (เอ็นอาร์เอฟ) มั่นใจว่า ยอดค้าปลีกในช่วงวันหยุดเดือนพ.ย.และธ.ค.ปีนี้ จะเพิ่มขึ้น 3.8%-4.2% เมื่อเทียบรายปี แต่ผู้ค้าปลีกยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอนที่สำคัญจากผลกระทบของภาษีนำเข้าต่อต้นทุนที่แท้จริง

เอ็นอาร์เอฟ คาดการณ์ว่ายอดขายจะแตะที่ระดับ 7.279-7.307 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งตัวเลขนี้ไม่รวมยอดขายจากดีลเลอร์รถยนต์ สถานีบริการน้ำมัน และร้านอาหาร สูงกว่ายอดขายเฉลี่ยในช่วงวันหยุดที่เพิ่มขึ้น 3.7% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

“เศรษฐกิจสหรัฐยังคงขยายตัว และการใช้จ่ายของผู้บริโภคยังคงเป็นกลไกหลักที่ขับเคลื่อนการขยายตัวนั้น” แมทธิว เชย์ ประธานและประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร(ซีอีโอ)ของเอ็นอาร์เอฟ กล่าว

แจ็ค ไคลน์เฮนซ์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเอ็นอาร์เอฟ กล่าวว่า “แม้มีความวิตกกังวลทางเศรษฐกิจ แต่ข้อมูลเศรษฐกิจในปัจจุบันและแรงผลักดันของเศรษฐกิจที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า "สามารถคาดหวังได้ว่ายอดขายในช่วงเทศกาลวันหยุดจะแข็งแกร่งกว่าปีที่แล้ว การขยายตัวของการจ้างงานและค่าแรงที่สูงขึ้นหมายถึงการมีเงินมากขึ้นในครอบครัว จึงเห็นทั้งความตั้งใจและความสามารถในการใช้จ่ายช่วงเทศกาลวันหยุดปีนี้”

อย่างไรก็ตาม เชย์ มองว่า ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ รวมถึงการค้า อัตราดอกเบี้ย ปัจจัยเสี่ยงทั่วโลก และวาทะกรรมทางการเมือง ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐชะลอตัวลง

เชย์ ตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ค้าปลีกเห็นความไม่แน่นอนมากที่สุดในประเด็นการค้า และในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับแนวทางการเจรจาระหว่างสหรัฐและจีน และการเก็บภาษีสินค้าที่นำเข้าจากจีน

“ความไม่แน่นอน ทำให้ยากต่อการวางแผนล่วงหน้า และมีผลกระทบไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ถึงแม้ว่าจนถึงขณะนี้ จะยังไม่ปรากฎว่ามีผลกระทบรุนแรงต่อราคาผู้บริโภคก็ตาม” เชย์ กล่าวและว่า ภาษีนำเข้าจะไม่มีผลกระทบมากนักในช่วงเทศกาลวันหยุด เป็นเพราะความพยายามของผู้ค้าปลีกในการนำแนวทางต่างๆ มาใช้ เพื่อพยายามลดผลกระทบต่อผู้บริโภค และท้ายที่สุดผลกระทบก็จะแตกต่างกันไปตามบริษัทและผลิตภัณฑ์

เชย์ กล่าวเสริมว่า ผู้ค้าปลีกใช้กลยุทธ์ต่างๆ โดยขึ้นอยู่กับภาคส่วนของตลาดที่พวกเขาดำเนินงาน ขนาด และความซับซ้อนของธุรกิจ ความสัมพันธ์กับซัพพลายเออร์ และฐานลูกค้าของพวกเขา แต่ถึงแม้มีความพยายามดังกล่าว แต่เอ็นอาร์เอฟ ยังคงพบว่า 79% ของผู้บริโภคที่ถูกสุ่มสำรวจในเดือนก.ย.มีความกังวลว่า ภาษีนำเข้าจะทำให้ราคาสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของพวกเขา

“ความกังวลดังกล่าวสามารถส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของพวกเขาว่าจะมีเสถียรภาพหรือไม่ และส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคต” เชย์ เตือนพร้อมให้ความเห็นว่า ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนส่งผลกระทบกับต้นทุนที่แท้จริงของผู้ค้าปลีกในแง่ของการกำหนดภาษีนำเข้าสำหรับทุกขั้นตอนของสินค้าทั้งหมด

“ซัพพลายเออร์ ผู้ผลิตหรือเกษตรกร ถูกบังคับให้ต้องแบกรับภาษีดังกล่าวในตลาดที่เคยมีกำไรอย่างมาก และถึงแม้ว่าผู้ค้าปลีกจะค้นหาวิธีการที่สร้างสรรค์ เพื่อหลีกเลี่ยงการส่งผ่านผลกระทบของภาษีนำเข้าไปยังผู้บริโภค แต่คำถามก็คือ พวกเขาจะสามารถดำเนินการได้นานเพียงใด และอีกคำถามคือในที่สุดแล้วเศรษฐกิจจะสามารถดำรงอยู่ได้นานแค่ไหน ซึ่งผมคิดว่านั่นเป็นคำถามที่ต้องตอบในตอนนี้ " เชย์ กล่าว

เชย์ กล่าวว่าเอ็นอาร์เอฟ คัดค้านยุทธวิธีที่สหรัฐใช้ในการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน และเชื่อว่าการดำเนินการผ่านช่องทางพหุภาคีที่เป็นความร่วมมือระหว่างประเทศตามปกติ อาทิ องค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ควรเป็นหนทางในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งแทนที่จะเป็นการดำเนินการเพียงฝ่ายเดียว

“ความหวังทั้งหมดของเราคือการที่เราจะหาวิธีที่สร้างสรรค์ในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ เพื่อแก้ไขข้อพิพาททางการค้าของเรา และเพื่อก้าวไปข้างหน้า” เชย์ กล่าว

คำกล่าวของเชย์ มีขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกับการแสดงความเห็นของเดวิด ลิปตัน รองผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงมากกว่าในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา และเป็นเรื่องยากที่จะเห็นเศรษฐกิจฟื้นตัว หากความไม่แน่นอนทางการค้ายังคงดำเนินต่อไป

ลิปตัน คาดว่า เศรษฐกิจโลกจะค่อยๆ ชะลอตัวลง และเป็นการยากที่จะใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจมหภาค เพื่อต้านทานผลกระทบจากความตึงเครียดด้านการค้า นอกเสียว่าจะสามารถคลี่คลายข้อพิพาททางการค้าได้

ลิปตัน ซึ่งรักษาการแทนคริสติน ลาการ์ด ที่ลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟในเดือนก.ค.ที่ผ่านมา ระบุว่า ความไม่แน่นอนด้านการค้า ทำให้ไอเอ็มเอฟปรับลดแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2562 ลงเหลือ 3.2% ในเดือนก.ค. โดยเป็นการปรับลดคาดการณ์ลงเป็นครั้งที่ 4 นับตั้งแต่เดือนต.ค.ปีที่แล้ว และข้อมูลเศรษฐกิจที่ออกมานับตั้งแต่นั้นทำให้ไอเอ็มเอฟคาดว่า เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงอีก