“บิ๊กส่งออกอาหารทะเล”เฟ้นตลาดใหม่ทดแทนสหรัฐ  หันใช้บริหารความเสี่ยง ลดพิษบาทแข็ง

 “บิ๊กส่งออกอาหารทะเล”เฟ้นตลาดใหม่ทดแทนสหรัฐ  หันใช้บริหารความเสี่ยง ลดพิษบาทแข็ง

ทียู ลดบทบาทตลาดสหรัฐ หลังแข่งขันสูง มุ่งตลาดเกิดใหม่ กระจายความเสี่ยง คาดผลประกอบการยังอยู่ในเกณฑ์ดี งัดแผนบริหารความเสี่ยงลดผลกระทบบาทแข็ง

นายฤทธิรงค์ บุญมีโชติ ประธานกรรมการบริหารกลุ่มธุรกิจอาหารแช่แข็งและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ทียู เปิดเผยว่า อยู่ระหว่างพยายามลดบทบาทในตลาดสหรัฐ เพราะเป็นตลาดเป้าหมายของประเทศกำลังพัฒนา ทำให้การแข่งขันสูง จึงลดความเสี่ยงโดยการกระจายไปตลาดอื่น โดยเฉพาะตลาดเกิดใหม่รวมทั้งตลาดในประเทศ ซึ่งจะช่วยชดเชยตลาดสหรัฐ จีน ฮ่องกง เกาหลี ส่วนญี่ปุ่นเป็นตลาดเก่าที่ยังมีการขยายตัวต่อเนื่อง

ดังนั้น ครึ่งปีหลังจะเน้นความสามารถในการทำกำไร บริหารจัดการต้นทุนการผลิตและนวัตกรรมการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ  โดยครึ่งปีหลังที่ผ่านไป 3 เดือนแล้วทิศทางความสามารถการทำกำไรยังตามเป้าที่กำหนดไว้เพิ่มขึ้น 15-16 % เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่เพิ่มขึ้น14 %เท่านั้น เนื่องจากทียู มีมูลค่าเพิ่มจากสินค้าใหม่ๆ และสามารถคุมบริหารจัดการภายใน หลายๆอย่างประกอบกัน

ส่วนผลกระทบค่าเงินบาทนั้น ทียู ประเมินใหม่ทุกเดือน แต่ไม่ได้เก็งกำไรค่าเงิน ใช้วิธีบริหารความเสี่ยง ในกรณีธุรกิจปลา จะซื้อและขายเป็นเงินสกุลดอลลาร์ ส่วนกุ้งทียูมีออเดอร์เข้ามาต่อเนื่อง ก็ขายในอัตราแลกเปลี่ยนในวันนั้น ทำให้ลดความเสี่ยงเรื่องค่าเงินไป

“ การแข่งขันธุรกิจด้านเกษตรและอาหาร จำเป็นต้องลงทุนด้านเทคโนโลยี และเน้นเรื่องคุณภาพ สร้างความเชื่อมั่น จะแข่งขันขายสินค้าราคาถูก แต่มีบ้างที่ปรับลดราคาเพราะถ้าฐานราคาเราสูงไป ลูกค้าก็เอาไปขายไม่ได้ บางครั้งต้องยอมให้ลูกค้าไปซื้อที่อื่นก่อนเพราะทียูลดราคาต่ำกว่าทุนไม่ได้”

ตลาดจีนถือเป็นตลาดใหม่ ที่ทียูเข้าไปเมื่อ 4 ปีที่ แนวโน้มความต้องการยังเพิ่มขึ้นจากการส่งออกกุ้งปีแรกที่500 ตันเพิ่มเป็น 3,000 ตัน โดยจีนหันมาสั่งซื้อสินค้าแช่แข็งมากขึ้นจากเดิมที่จะใช้วิธีเข้ามาทางล้งและส่งออกเองจากไทย ซึ่งไม่คุ้มต่อการลงทุนทำให้ต้องเลิกกิจการไป

สำหรับ สถานการณ์กุ้งในภาพรวมไทยปีนี้คาดว่าจะได้ผลผลิตประมาณ 2.8 แสนตัน เพิ่มขึ้น 5 % จากปีที่ผ่านมาที่ได้ผลผลิต 2.7 แสนตัน แต่ต่ำกว่าเป้าหมายที่กรมประมงคาดไว้ที่ 3 แสนตัน เนื่องจากเกษตรกรลงลูกกุ้งน้อยส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะราคาไม่จูงใจ โดย 8 เดือน (ม.ค.- ส.ค.) ที่ผ่านมามีผลผลิตกุ้งเพียง 1.68 แสนตัน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาเพียง 0.3 % เท่านั้น

ผลผลิตที่ได้ส่วนใหญ่จะเป็นกุ้งขาว 97 % และกุ้งกุลาดำเพียง 3 % โดยราคากุ้งในปี 2562 เฉลี่ยแล้วยังต่ำกว่าปี 2561 แม้ว่าช่วงต้นปีราคาจะปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย แต่เป็นเพราะมีผลผลิตออกสู่ตลาดมีน้อย(low season)หลังจากนั้นราคาเริ่มลดลง จากผลผลิตของอินเดีย เวียดนาม และเอกวาดอร์ เริ่มออกสู่ตลาด

 โดย ผู้นำเข้ารายใหญ่ยังเป็นสหรัฐอเมริกา ในขณะที่กุ้งไทยได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่า 6-8 % จากปีที่ผ่านมา32 -33 บาท ปีนี้แข็งค่าเป็น 30.6 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลต่อการแข่งขันและมูลค่าการส่งออกกุ้งปีนี้ไม่ดีเท่าที่ควร

    “ ราคากุ้งที่ปรับลดลงนั้น ส่งผลการบริโภคกุ้งในประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาคเหนือและอีสาน จะมีกองทัพคาราวานไปขายในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมาพบว่ามีการบริโภคภายในประเทศมากถึง 3 หมื่นตัน “