คนไทยฆ่าตัวตายเฉลี่ย 6 คนต่อแสนประชากร

คนไทยฆ่าตัวตายเฉลี่ย 6 คนต่อแสนประชากร

องค์การอนามัยโลกระบุ ปี 2560 ทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้า 322 ล้านคน ขณะที่คนไทย ฆ่าตัวตายสูงเฉลี่ย 6 คนต่อแสนประชากร เด็กและเยาวชนแนวโน้มฆ่าตัวตายสูงขึ้น

รายงาน องค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่าในปี 2560 มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทั่วโลก 322 ล้านคน หรือกว่าร้อยละ 4.4 ของประชากรโลก นอกจากนี้ ยังมีการพยากรณ์ว่าปี 2030 การฆ่าตัวตายเป็นเหตุการตายอันดับ 2 ในกลุ่มคนอายุ 15-29 ปี

ขณะที่คนไทย ติดอันดับต้นๆ ฆ่าตัวตายสูง เฉลี่ย 6 คนต่อแสนประชากร โดยผู้หญิงเสี่ยงป่วยซึมเศร้ามากกว่าผู้ชาย 1.7 เท่า โดยใน ปี 2551 ประเทศไทย มีผู้ป่วยซึมเศร้า 1.5 ล้านคน ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงานอายุ 25-59 ปี ร้อยละ 62 รองลงมาเป็นวัยสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 26.5 และเยาวชนอายุ 15-24 ปี ร้อยละ 11.5 โดยใน ปี 2560 ที่ผ่านมา กลุ่มเยาวชนอายุ 20-24 ปี มีอัตราการฆ่าตัวตายที่ 4.94 ต่อแสนประชากร และ ในปี 2561 เพิ่มขึ้นเป็น 5.33 ต่อแสนประชากร

จากรายงานของกรมสุขภาพจิต เรื่องการใช้บริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323 พบว่า ในปีงบประมาณ 2561 ให้บริการปรึกษาทางโทรศัพท์ทั้งสิ้น 70,534 ครั้ง แบ่งเป็น กลุ่มเด็กอายุ 11-19 ปี 10,298 ครั้ง (ร้อยละ 14.6) กลุ่มเยาวชนอายุ 20-25 ปี 14,173 ครั้ง (ร้อยละ 20.1) โดย 5 อันดับ เรื่องที่เด็กและเยาวชนปรึกษามากที่สุด ได้แก่ ปัญหาความเครียดหรือวิตกกังวล ปัญหาทางจิตเวช ปัญหาความรัก ปัญหาซึมเศร้า และ ปัญหาครอบครัว

สำหรับช่วง 6 เดือนแรก ปีงบประมาณ 2562 มีผู้โทรเข้ามาใช้บริการทั้งสิ้น 40,635 ครั้ง โดยเป็น กลุ่มเด็กและเยาวชนอายุ 11-25 ปี จำนวน 13,658 ครั้ง ซึ่งสังเกตได้ว่า สัดส่วนของเด็กและเยาวชน ที่มีปัญหาความเครียด วิตกกังวล ปัญหาความรัก ซึมเศร้า และมีความคิดหรือความพยายามฆ่าตัวตายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ทางการแพทย์ยืนยันว่า โรคซึมเศร้า เป็นส่วนหนึ่งจากการทำงานของระบบสมองที่ผิดปกติ ดังนั้น การทำความเข้าใจภาวะซึมเศร้าจึงมีความสำคัญทั้งในระดับครอบครัว ชุมชน และสังคม เพื่อป้องกันผลกระทบและความสูญเสียให้ได้มากที่สุด เพราะหากไม่ได้รับการรักษาอาจส่งผลต่อการดำเนินชีวิต การทำงาน ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง และนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าที่รุนแรงมากขึ้น

ปัจจุบัน สามารถตรวจสอบภาวะซึมเศร้าได้ ผ่าน แอปพลิเคชัน “สบายใจ” (SabaiJai)การป้องกันและรักษา , โทรสายด่วนสุขภาพจิต 1323 และปรึกษาจิตแพทย์ ทั้งนี้ โรคซึมเศร้า สามารถรักษาได้ด้วยยาแผนปัจจุบัน การรักษาทางจิตใจ รวมถึงแพทย์ทางเลือกอย่างสมุนไพร เช่น ขมิ้นชัน บัวบก น้ำมันรำข้าวและจมูกข้าวน้ำมันรำข้าว และฟักทอง

โดยสามารถใช้สิทธิการรักษาทั้ง บัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า สอบถาม สายด่วน สปสช. 1330 ประกันสังคม สอบถาม สายด่วนประกันสังคม 1506 และสิทธิข้าราชการ ตรวจสอบสิทธิได้ที่ กรมบัญชีกลาง โทร. 02-127-7000