วิชั่น"ไทยเบฟ"2025 ขยายอาณาจักร ท้าชนยักษ์เครื่องดื่มโลก 

วิชั่น"ไทยเบฟ"2025 ขยายอาณาจักร ท้าชนยักษ์เครื่องดื่มโลก 

เปิดวิชั่น 2025 เจ้าสัวน้อย “ฐาปน” เดินหน้าขยายอาณาจักรไทยเบฟ บิ๊กเครื่องดื่มไทย-เอเชียแปซิฟิก ลุยผนึกพันธมิตรธุรกิจชั้นนำโลกเสริมแกร่ง สร้างสินค้านวัตกรรม-สินค้าสุขภาพ มองโอกาสสินค้าเกี่ยวกับกัญชา เตรียมยกเรื่องโรงเบียร์ครั้งใหญ่ในปี 63

โค้งสุดท้ายวิสัยทัศน์ 2020 ของการขยายธุรกิจเครื่องดื่มและอาหารใต้ชายคา “ไทยเบฟเวอเรจ” ที่มียอดขายกว่า “แสนล้านบาท” กำไรกว่า “หมื่นล้านบาท” แม้หลายอย่างจะเป็นไปตาม “เป้าหมาย” ที่วางไว้ เช่น การก้าวเป็นผู้นำเครื่องดื่มครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน และท็อป 5 ของเอเชียแปซิฟิก สินค้าหลายรายการครองบัลลังก์เบอร์ 1 หรือ Local Champion สำเร็จ ไม่ว่าจะเป็น “เบียร์” เมื่อไทยเบฟรวมกับซาเบโก โกยส่วนแบ่งตลาด 26% สุรา เป็น “ผู้นำ” ในไทยและเมียนมา เป็นต้น 

แต่เมื่อเจาะลึกเป็นรายสินค้า มีหลายแบรนด์ที่ยังไม่ถึงฝั่ง เช่น เบียร์ช้าง ในไทยยังเป็นรองค่าย “สิงห์” ซึ่งมี “ลีโอ” เป็นเจ้าตลาด น้ำดื่ม น้ำอัดลมฯ ยังเป็น “มวยรอง”

ทว่า เมื่อใกล้ครบวาระวิสัยทัศน์เดิม ทำให้บริษัทวางวิสัยทัศน์ใหม่ หรือ "วิชั่น2025" ขยายอาณาจักรเครื่องดื่มและอาหารมูลค่า “แสนล้านบาท” ให้เติบโตอย่างยั่งยืน ที่สำคัญคือมุ่งผลักดันธุรกิจของบริษัทให้ “มูลค่าเพิ่ม” พร้อมต่อกรกับคู่แข่งในเวทีโลก

วิชั่น\"ไทยเบฟ\"2025 ขยายอาณาจักร ท้าชนยักษ์เครื่องดื่มโลก 

  • วิชั่น2020โตก้าวกระโดด

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า ปีงบประมาณ 2562-2563 (ต.ค.2562-ก.ย.2563) ถือเป็นปีสุดท้ายของวิสัยทัศน์ 2020 (ปี2563)ในการขับเคลื่อนธุรกิจของไทยเบฟ ซึ่งบริษัทให้ความสำคัญในการสร้างฐานธุรกิจเครื่องดื่มและอาหารให้มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพื่อเป็นรากฐานในการต่อยอดสู่วิสัยทัศน์ 2025 (2568) ที่จะผลักดันไทยเบฟให้เติบโตอย่างยั่งยืน และตอกย้ำเป็นผู้นำ "เครื่องดื่มครบวงจร" หรือ Total Beverage

ทั้งนี้ 6 ปีที่ผ่านมาของวิสัยทัศน์ 2020 บริษัทให้ความสำคัญการขยายธุรกิจผ่าน 5 กลยุทธ์ ได้แก่ การเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ (Growth) ความหลากหลายของตลาดและผลิตภัณฑ์ (Diversify) สร้างตราสินค้าที่โดนใจ (Brand) การขายและกระจายสินค้าที่แข็งแกร่ง(Reach) เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย และความเป็นมืออาชีพ (Professionalism) สร้างทีมงานที่มีความหลากหลายและประสิทธิภาพการทำงานสูง 

ส่งผลให้บริษัทมีการพัฒนาไปอย่างมาก และธุรกิจเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดดในไทยผ่านการเข้าไปลงทุนธุรกิจอาหารซื้อร้านเคเอฟซี มูลค่าหมื่นล้านบาท ผนึกพันธมิตรซื้อกิจการร้านกาแฟเบอร์ 1 ของโลกอย่าง “สตาร์บัคส์”

ส่วนในประเทศเพื่อนบ้าน ได้ลงทุนธุรกิจเบียร์ในเวียดนาม ซื้อหุ้นบริษัท ไซ่ง่อน เบียร์ แอลกอฮอล์ เบฟเวอเรจ คอร์เปอเรชั่น หรือ ซาเบโก (Sabeco) มูลค่า1.56 แสนล้านบาท และซื้อหุ้นในบริษัท Myanmar Distillery เจ้าของสุราแบรนด์ Grand Royal เป็นต้น

วิชั่น\"ไทยเบฟ\"2025 ขยายอาณาจักร ท้าชนยักษ์เครื่องดื่มโลก 

  • "3กลยุทธ์" ต่อยอดวิสัยทัศน์

นอกจากนี้ บริษัทได้กำหนดวิสัยทัศน์การดำเนินธุรกิจระยะกลางถึงระยะยาว ประกอบด้วย วิสัยทัศน์ 2025 เพื่อขยายธุรกิจ วิสัยทัศน์ 2030 ในการพัฒนาและยกระดับการทำงาน การผลิตสินค้าโดยใช้เทคโนโลยี และดิจิทัลเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น เพื่อรับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว และวิสัยทัศน์ 2050 พัฒนาบุคลากร เพิ่มทักษะความรู้ความสามารถ มองหาโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้สอดคล้องกับโลกธุรกิจที่จะเปลี่ยนแปลงไป

ขณะที่ วิชั่น 2025 สร้างการเติบโตและความแข็งแกร่ง บริษัทชู 3 กลยุทธ์หลัก เพื่อผลักดันไปสู่เป้าหมาย ได้แก่

1.ปลดล็อกคุณค่าทางธุรกิจ (Unlock Value) โดยจะมีก่อตั้งกรุ๊ปสินค้าเป็นโฮลดิ้ง หรือเป็น Cosolidate กันมากขึ้น จะหา “พันธมิตรเชิงกลยุทธ์กับผู้นำธุรกิจระดับโลก” มุ่งปรับโครงสร้างทางการเงินให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น และลดภาระหนี้สิน สร้างการเติบโตธุรกิจ 

ล่าสุด มีการจดทะเบียนตั้งบริษัทในอังกฤษ ทุนจดทะเบียน 10,000 ปอนด์ เพื่อมองหาโอกาสธุรกิจ พันธมิตรใหม่ และปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อให้มีมูลค่าเพิ่ม

“หากมองธุรกิจไทยเบฟในปัจจุบันเรามีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดหรือมาร์เก็ตแคปกว่า 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์ ถือเป็นท็อป 5 ในเอเชียแปซิฟิก รองจากเหมาไถ(Kweichow Moutai) 2 แสนล้านดอลลาร์ Wuliangyia 7.43 หมื่นล้านดอลลาร์ Yilli group 2.38 หมื่นล้านดอลลาร์ อาซาฮี กรุ๊ป 2.29 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่จากนี้ไปเราจะจัดหลังบ้าน ปรับโครงสร้างใหม่ ด้วยการคอนโซลิเดทธุรกิจ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและโอกาสในการทำงานร่วมกับพันธมิตรระดับโลกมากขึ้น”

2.ยุทธศาสตร์การสร้าง(Build) ยื่นข้อเสนอใหม่ๆ เพื่อระดมทุนรับเทรนด์ผู้บริโภคที่เปลี่ยน มุ่งนำเสนอสินค้าที่มีนวัตกรรมตอบสนองผู้บริโภค ลงทุนดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อทำตลาด และลุยสินค้าสุขภาพมากขึ้น รวมถึงผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับ “กัญชา” 

3.เพิ่มจุดแข็ง ซึ่งบริษัทจะเน้นกลยุทธ์การสร้างแบรนด์(Brand)และการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย(Reach) มากขึ้น ซึ่งหมายถึงฝ่ายการตลาดและการขายทำงานกันอย่างใกล้ชิดเข้มข้นขึ้น

  • ปีหน้าลุยลงทุน 7,000 ล้านบาท

นายฐาปน กล่าวอีกว่า ในปี 2020 บริษัทวางงบลงทุนปกติ (CAPEX) 7,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการปรับปรุงโรงงานเบียร์ในไทย หลังผลิตสินค้ามา 25 ปี และบำรุงรักษาเครื่องจักรต่างๆ โดยงบดังกล่าว ไม่รวมการซื้อและควบรวมกิจการ(M&A)

อย่างไรก็ตาม แผนขยายธุรกิจในอนาคต บริษัทให้ความสำคัญในการบุกตลาดอาเซียน และต่อยอดการค้าเสรีผ่านอาเซียนบวก 3 บวก 6 และบวก 9 ซึ่งจะมีประชากรกว่าครึ่งซีกโลก ประกอบกับที่ผ่านเศรษฐกิจในตลาดเกิดใหม่ อย่าง ลาว กัมพูชา เมียนมา และเมียนมา เติบโตกว่า 6% สูงสุดในโลกเทียบกับกลุ่มตลาดเกิดใหม่ทั่วโลก

วิชั่น\"ไทยเบฟ\"2025 ขยายอาณาจักร ท้าชนยักษ์เครื่องดื่มโลก 

  • 9 เดือนรายได้กว่า2แสนล้าน

สำหรับภาพรวมผลประกอบการ 9 เดือนแรก(ปีงบประมาณ ต.ค.2561-มิ.ย.2562) บริษัทมีรายได้จากการขาย 205,277 ล้านบาท เติบโต 18.2% และมีกำไรสุทธิ 21,894 ล้านบาท เติบโต 34% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

ทั้งนี้ เครื่องดื่มเบียร์มีสัดส่วนรายได้มากสุดที่ 44.8% ตามด้วยสุรา 43.4% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 6.2% อาหาร 5.7% ส่วนกำไรยังมาจากกลุ่มสุราสัดส่วนสูงถึง 85.2% ตามด้วยเบียร์ 15% อาหาร 2.6% ส่วนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังฉุดกำไร 2.8%

"การขยายธุรกิจในอนาคต เทรนด์สินค้าเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ มีโอกาสที่จะทำสัดส่วนรายได้แซงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่บริษัทจะไม่ทิ้งธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากทำกำไรให้สูง"