แผนรับมือฝุ่น 4ปีรัฐบาล“ประยุทธ์” ประชาชน-รัฐต้องร่วมกันขับเคลื่อน

แผนรับมือฝุ่น 4ปีรัฐบาล“ประยุทธ์” ประชาชน-รัฐต้องร่วมกันขับเคลื่อน

เปิดแผนรับมือฝุ่น 4 ปี รัฐบาล ประยุทธ์ เมื่อไทยเผชิญวิกฤต PM2.5 ค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน ท่ามกลางการขับเคลื่อน กรีนพีช ที่พยายามผลักดันให้นำ PM2.5 รวมในดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศ ทางออก ประชาชน-รัฐต้องร่วมกันขับเคลื่อน

ที่ผ่านมา ประเทศไทยพบปัญหาฝุ่นละอองเกินมาตรฐานมาเป็นเวลานาน อันเนื่องมาจากการเผาในที่โล่ง หมอกควันข้ามแดน ควันพิษจากท่อไอเสียรถยนต์ หรือในภาคอุตสาหกรรม ขณะที่แผนรับมือฝุ่น ในรัฐบาล ประยุทธ์ ตลอด 4 ปี เมื่อเกิดภาวะวิกฤต PM2.5  มีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมกับความพยายามผลักดันของ กรีนพีช เพื่อให้ไทยพ้นวิกฤต จนปัจจุบัน ครม.เห็นชอบยกให้เป็นวาระแห่งชาติ 

ย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์ที่ทำให้คนไทยเริ่มตระหนัก คือ วิกฤตค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานใน 6 จังหวัดภาคเหนือปี 2559 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว ปัญหาดังกล่าวล่วงเลยมาจนถึงต้นปี 2560 กระทั่งภาครัฐต้องออก 7 มาตรการ เพื่อลดผลกระทบ อย่างไรก็ตามค่าฝุ่นละอองในประเทศไทย กลับไม่ได้หยุดอยู่แค่ในพื้นที่ภาคเหนือ เนื่องจากในปีเดียวกัน กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประมวลค่าเฉลี่ยของความเข้มข้นฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) จากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ 19 จุดใน 14 เมืองทั่วประเทศไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 ระบุค่าเฉลี่ยความเข้มข้นของฝุ่นละออง PM2.5 ทั้ง 14 เมือง เกินค่าความปลอดภัยตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก

ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ความจริงประเทศไทยมีการวัดฝุ่นละออง PM2.5 มานานหลายปี แต่ยังไม่มีการนำไปรวมกับดัชนีวัดคุณภาพอากาศ ที่ผ่านมา มีเพียง 5 ชนิด ได้แก่ ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 มคก./ลบ.ม., ก๊าซโอโซน, ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์, ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ และ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ซึ่งทางกรีนพีช ได้พยายามผลักดันตั้งแต่ปี 2558 เพื่อให้นำ PM2.5 เข้าไปในการคำนวณเพื่อให้ครบ 6 ชนิด ควบคู่กับการรณรงค์เรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน เรื่องหมอกควันข้ามแดน และกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ

ดูเหมือนว่าความพยายามของ กรีนพีช จะได้ผล เพราะในปี 2560 สังคมเริ่มเกิดการตื่นตัว เคลื่อนไหว และรัฐบาลได้ให้การสนับสนุนสถานีและเครื่องมือตรวจวัดคุณภาพอากาศเพื่อติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ และตั้งเป้าติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ให้ครอบคลุมในปี 2563 นอกจากนี้ กรมควบคุมมลพิษ ได้มีการพัฒนาระบบการรายงานค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) และรายงานผ่านแอปพลิเคชั่น AIR4THAI

พร้อมจัดทำยุทธศาสตร์การจัดการคุณภาพอากาศ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) ซึ่งรวมถึงการจัดการปัญหาฝุ่นขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ด้วย โดยมียุทธศาสตร์การดำเนินงาน 4 ยุทธศาสตร์ ตั้งแต่เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการคุณภาพอากาศ ลดมลพิษทางอากาศในพื้นที่วิกฤต การคุณภาพอากาศและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกบนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วม (Co-Benefit) และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม จากรายงานการวิเคราะห์เบื้องต้น มลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนจากแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียมความเข้มข้นของ ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน (เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา) โดย กรีนพีช ซึ่งระบุว่า ในปี พ.ศ. 2561 เมื่อพิจารณาถึงค่าเฉลี่ยรายปีของ PM2.5 ในระดับที่ส่งผลต่อสุขภาพของผู้ที่สัมผัสไวต่อมลพิษ (ตั้งแต่ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไป) พบว่าประเทศไทยเผชิญกับมลพิษ PM2.5 รุนแรงที่สุดประมาณร้อยละ 60 ของพื้นที่ รองลงมาเป็นกัมพูชา สปป. ลาวและเมียนมา ตามลำดับ

และในปีเดียวกันนี้เอง ที่สังคมเริ่มตื่นตัว ถึงขั้นตื่นตระหนก เพราะเป็นถือเป็นปีแรกที่มีการนำเอาค่า PM2.5 เข้าไปรวมในดัชนีวัดคุณภาพอากาศ รัฐบาลออกมาตรการกางแผนรับมือ 3 ขั้นตอน 4 ระดับ ตั้งแต่สร้างความเข้าใจกับประชาชน รวมถึงเฝ้าระวังสถานการณ์ตามระดับความรุนแรง ไปจนถึงเตรียมถอดบทเรียนเพื่อเตรียมแผนรับมือในปีต่อๆ ไป

    ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวต่อว่า อย่างที่กล่าวมาว่าเราพยายามให้เอาค่า PM2.5 รวมเข้ากับดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศ และสำเร็จในปี 2561 ทำให้สังคมเริ่มตื่นตัว อีกประเด็น คือ ขอให้มีขยายสถานีวัดให้ครอบคลุม เพราะตอนนี้ สถานีวัดของ คพ. รวมกับ กทม. ทั้งหมดราว 50 จุด และเวลาเก็บข้อมูล ไม่ได้เก็บในแพลตฟอร์มเดียวกัน เวลารายงานก็ต้องดึงเอาข้อมูลมารวมกัน ค่อยเผยแพร่ หรือในภาคอีสาน มีเพียง 3 จุด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเราให้ความสนใจในระดับภูมิภาคน้อยมาก ซึ่งจริงๆ แล้ว ภาคอีสานก็เจอปัญหาค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานในช่วงที่ผ่านมา

“ดังนั้น ในส่วนภูมิภาค จึงมีเครื่องมือขนาดเล็กที่เขาติดตั้งกันเอง เช่น ภาคเหนือตอนบน อย่างเชียงใหม่ น่าจะมีเป็นร้อยจุด และหลายคนตรวจเช็คคุณภาพอากาศ ผ่าน AirVisual มากกว่า เนื่องจากมีเกือบหมื่นจุด เก็บข้อมูลตลอดเวลา และลงลึกถึงระดับพื้นที่ได้ ขณะเดียวกัน กรีนพีชเอง ได้ติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศ (Dustboy) ผลงานของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ราว 3 จุดในกรุงเทพฯ” ธารา  ระบุ

นอกจากนี้ กรีนพีช ยังเสนอให้ประเด็นฝุ่นเป็นวาระแห่งชาติ พร้อมยกร่างมาตรฐานในบรรยากาศของ PM2.5 ขึ้นใหม่สำหรับประเทศไทยโดยกำหนดค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงเป็น 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ยรายปีเป็น 12 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ภายในปี พ.ศ. 2562

ขณะที่เมื่อสิ้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา หลังจากฝุ่นกลับมาตลบอีกครั้ง โดยมีค่า PM2.5 เกินมาตรฐานกว่า 33 สถานี ภาครัฐเร่งออกมาตรการเพื่อแก้ปัญหา ทั้งนี้ ครม. มีมติเห็นชอบ แผนปฏิบัติการแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยถอดบทเรียนการแก้ปัญหาจากปี 2560-2561 “ขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ” ออก 3 มาตรการสำคัญ ทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ (การแก้ปัญหาระยะเร่งด่วนและช่วงวิกฤต) การป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทางหรือแหล่งกำเนิด และการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ (ระยะสั้น ปี 2562-2564 และระยะยาว ปี 2565-2567)

ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้ความเห็นว่า จากแผนปฏิบัติขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ ไม่ได้ระบุหนึ่งในแหล่งกำเนิดหลักที่ก่อให้เกิด PM2.5 คือ การผลิตไฟฟ้า เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจว่าทำไมหายไป พอลองไปโฟกัสที่ 3 มาตรการดังกล่าว เรื่องแรก คือ การจัดการเชิงพื้นที่ซึ่งให้รับมือโดยใช้ความเข้มข้น PM2.5 เป็นตัวกำหนด แต่จุดอ่อน คือ พอเซ็ตค่าไว้ที่ 50 มคก./ลบ.ม. ทำให้ป้องกันผลกระทบได้ยาก เพราะก่อนจะถึง 50 ก็เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพเกิดขึ้นแล้ว

ดังนั้น เสนอว่าควรทำ เหมือน จ.เชียงใหม่ ใช้เกณฑ์ไม่เกิน 35 มคก./ลบ.ม. ก็เริ่มมีการเตือนและลงมือปฏิบัติ เพื่อให้เลี่ยงผลกระทบต่อสุขภาพได้มากขึ้น ขณะที่ มาตรการปฏิบัติการระยะยาว เช่น การเปลี่ยนน้ำมันยูโร 4 เป็นยูโร 5 หรือขยายเครือข่ายการตรวจวัดให้มากขึ้น รวมถึงการทบทวนมาตรฐานคุณภาอากาศให้เข้าใกล้ WHO มากขึ้น จะเห็นว่ากรอบเวลากว้างไปกลายเป็นช่องว่าง ผมเชื่อว่าสามารถทำได้เลย ไม่ต้องรอ สามารถทำควบคู่กันไปได้ทั้ง 3 มาตรการ

“นอกจากนี้ ลำพังหน่วยราชการหน่วยใดหน่วยหนึ่งขับเคลื่อนลำพังไม่ได้ ต้องมีการประสานงาน ดังนั้น ควรระบุขอบเขตอำนาจหน้าที่ไว้ให้ชัดเจนด้วย” ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวทิ้งท้าย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- นายกฯ แนะให้สนใจ 'เศรษฐกิจ' มากกว่า 'การเมือง'
-นายกฯ กำชับทุกหน่วยเร่งให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย
-'นายกฯ' แนะใช้ความรู้-คุณธรรม แก้เฟคนิวส์
-นายกฯห่วงน้ำท่วมอุบลฯ สั่งเร่งลดผลกระทบด่วน