ศูนย์การแพทย์ “ม.แม่ฟ้าหลวง” ฮับสุขภาพแบบบูรณาการ แห่งลุ่มแม่น้ำโขง

ศูนย์การแพทย์ “ม.แม่ฟ้าหลวง” ฮับสุขภาพแบบบูรณาการ แห่งลุ่มแม่น้ำโขง

ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Medical Hub หนึ่งในพื้นที่ๆ เหมาะ คือ จ.เชียงราย โมเดลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง(มฟล.) จึงกลายเป็นศูนย์กลางการแพทย์ แห่งอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ถือเป็นศูนย์กลางบริการทางการแพทย์และการบริการสุขภาพแบบบูรณาการ (Integrative Health Services and Medical Hub) เรียกได้ว่าเป็น ฮับสุขภาพ ลุ่มแม่น้ำโขง Medical Education Hub และ Medical Service Hub ได้แก่ ไทย เมียนมา ลาว เวียดนาม กัมพูชา และจีนตอนใต้ ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ “โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง” เริ่มเปิดให้บริการเมื่อเดือนธันวาคม 2561 ขนาด 400 เตียง กลุ่มเป้าหมายคือ ผู้ป่วยและประชาชนทั่วไป ให้บริการรักษาโรคทั่วไปและโรคเฉพาะทาง รวมถึงส่งเสริมสุขภาพชุมชน เป็นแหล่งฝึกปฏิบัติของนักศึกษาแพทย์รุ่นแรกที่กำลังจะจบ 32 คน และนักศึกษาในสาขาที่เกี่ยวข้อง

นอกจากจะเป็นศูนย์กลางการแพทย์แล้ว ยังเป็นแหล่งศึกษาวิจัยทางการแพทย์ ศูนย์ความเป็นเลิศทางแพทย์ และแพทย์อาสาบรมราชกุมารี ปัจจุบัน เปิดให้บริการโดยมีสิทธิการรักษา ได้แก่ ข้าราชการ (เบิกจ่ายตรง) ประกันชีวิต องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ พ.ร.บ. สวัสดิการพนักงาน มฟล. และประกันสุขภาพถ้วนหน้า มฟล.

สำหรับ โรงพยาบาล ม.แม่ฟ้าหลวง กลุ่มเป้าหมายคือ ผู้ป่วยและประชาชนทั่วไป ถือเป็นแหล่งฝึกปฏิบัติการแพทย์แบบบูรณาการ (Integrative Medicine) ให้บริการตรวจรักษาด้วยแพทย์แผนไทย แพทย์แผนจีน กายภาพบำบัดแบบองค์รวม คลินิกผิวหนังและเวชศาสตร์ชะลอวัย

รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ ที่ปรึกษามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และ ประธานกรรมการอำนวยการศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ระบุถึงการสร้าง Medical Hub ในประเทศไทย ซึ่งพื้นที่ๆ จะเป็น Medical Hub ได้ดีที่สุด คือ จ.เชียงราย ดังนั้น จึงเกิดโมเดลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เพื่อเป็นศูนย์กลางการแพทย์แห่งอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง Medical Education Hub และ Medical Service Hub อันประกอบด้วย ไทย เมียนมา ลาว เวียดนาม กัมพูชา และจีนตอนใต้

“โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย แต่เดิมตั้งใจให้เป็นแพทย์แผนไทย ต่อมาได้เปิดแพทย์แผนจีน และเปิดแผนปัจจุบัน จึงต้องปรับให้เป็นโรงพยาบาลการแพทย์แบบบูรณาการ ที่จะเน้นทั้งแผนไทย แผนจีน และศาสตร์อื่นๆ เราพยายามเอาศาสตร์ของการรักษาทั่วโลกมาใช้เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วย”

นพ.พิษณุ บุญประเสริฐ แพทย์เฉพาะทางสาขาอายุรศาสตร์ โรคหัวใจและหลอดเลือด กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน ศูนย์การแพทย์ฯ มีแพทย์ทั้งหมด 50 คน และหากรวมนักศึกษาฝึกปฏิบัติด้านการแพทย์ มีทั้งหมดราว 120 คน ที่ผ่านมามีคนไข้จากประเทศเพื่อนบ้านเริ่มเข้ามาทำการรักษา เช่น คนไข้จากเมียนมา เวลาที่เขาปัญหาด้านโรคหัวใจ ทางฝั่งเมียนซึ่งการรักษายังไม่มีนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ จึงต้องเดินทางไปรักษาในตัวเมืองเชียงราย จุดดีของที่นี่คือ เนื่องจากเป็นโรงพยาบาลรัฐบาล ค่าใช้จ่ายจึงไม่สูง ดังนั้น คนไข้จึงมีทางเลือกในการรักษาได้เยอะ

อีกหนึ่งบริการสุขภาพ ที่มฟล. ได้เปิดให้บริการชุมชนโดยรอบเมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา ได้แก่ ศูนย์บริการสุขภาพแบบครบวงจรแห่งภาคเหนือและอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (MFU Wellness Center) มีกลุ่มเป้าหมายคือ ผู้ที่ไม่อยากป่วย เพื่อให้เกิดการดูแลสุขภาพที่ดีและมีสุขภาพที่แข็งแรง ลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลและการบำบัดโรคต่างๆ สร้างและพัฒนาระบบบริการสุขภาพแบบครบวงจรที่มีคุณภาพ และเสริมสร้างคุณภาพชีวิตและการมีสุขภาพที่ดีของประชาชนทุกช่วงวัย ในเขต จ.เชียงราย และภาคเหนือตอนบน 2 (เชียงราย แพร่ พะเยา และน่าน) รวมถึงเกิดการสร้างงานและรายได้ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ

ด้วยบทบาทหน้าที่ คือ Promotion อบรมให้ความรู้เพื่อการป้องกันและดูแลสุขภาพที่ดีทุกช่วงวัย Prevention ป้องกันและดูแลสุขภาพทุกช่วงวัย โดยใช้ศาสตร์ทางการแพทย์แบบบูรณาการ ร่วมกับการตรวจสุขภาพเพื่อประเมินภาวการณ์เจ็บป่วยทุกช่วงวัย และ Prediction บริการตรวจสุขภาพเบื้องต้นเพื่อการคัดกรอง ผ่านกิจกรรม 4 ด้าน ได้แก่ 1. อบรมให้ความรู้เพื่อการป้องกันและให้มีการดูแลสุขภาพที่ดี ตั้งแต่วัยเด็ก วัยเรียน วัยทำงาน และวัยสูงอายุ

2. พัฒนาและสร้างผู้นำสุขภาพชุมชนเพื่อเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพ กลุ่มเป้าหมายในเขตเศรษฐกิจพิเศษและโลจิสติกส์ในเขตกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่ อ.เมือง อ.เวียงชัย อ.แม่จัน อ.แม่สาย อ.เชียงแสน และ อ.เชียงของ 3. การประเมินและตรวจสุขภาพแบบองค์รวมเพื่อให้การบำบัดรักษาที่ถูกต้อง โดยให้ความสำคัญสุขภาพประชาชนใน จ.เชียงราย เป็นอันดับแรก และ 4. การฟื้นฟูและบำบัดรักษาสุขภาพแบบบูรณาการทั้งวัยทำงานและวัยสูงอายุ

รศ.ดร.วันชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์บริการสุขภาพซึ่งแยกออกจากโรงพยาบาลเนื่องจากต้องการแยกคนไม่ป่วยออกมา จากปีที่ผ่านมาจนถึงปีนี้ ให้บริการคนไปแล้วกว่า 2.5 หมื่นคน กว่าครึ่งรู้จักการดูแลรักษาตัวเอง และกว่าครึ่งได้รับการตรวจสุขภาพคัดกรองโรค มีคนเข้าร่วมเยอะเพราะเขาเห็นประโยชน์ ลดการแออัดในโรงพยาบาล ขณะที่โรคที่น่ากลัวที่สุด คือ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ก่อให้เกิดผลตามมาร้ายแรง ดังนั้น ศูนย์ดังกล่าวจึงมีหน้าที่ในการป้องกันไม่ให้เขาป่วย หรือคัดกรองโรคได้เร็วขึ้น เพราะเมื่อไหร่ที่ต้องรักษาหมายถึงเงิน เวลา ที่เสียไป

“องค์การอนามัยโลก ประกาศว่าการบริการสุขภาพต่อไปนี้ เรื่องของ Promotion และ Prevention สำคัญที่สุด ยิ่งกว่าการรักษา อนาคตถามว่าอยากป่วยหรือไม่ ทุกคนต้องการความมีสุขภาพดี โจทย์คือ ทำอย่างไรให้ทุกช่วงวัยสุขภาพดีไม่เจ็บป่วย ดังนั้น เราจึงต้องส่งเสริมให้แม่รู้จักดูแลสุขภาพครรภ์ เมื่อคลอดแล้วก็ส่งเสริมให้เขาดูแลสุขภาพลูก เพื่อให้เด็กมีสุขภาพที่ดี สมองดี และแข็งแรง พออยู่ในวัยเรียน ทำอย่างไรถึงจะเรียนได้ดี รวมถึงวัยทำงานช่วงต้นและช่วงปลาย”

"มีโครงการหนึ่ง ชื่อ “ฟิตแอนด์เฟิร์ม” สามารถทำให้คนลดน้ำหนักได้ 3 เดือน 10 กิโลกรัม โดยแนะนำให้รู้จักกินอาหาร ออกกำลังกาย โดยเครือข่ายฟิตเนสในชุมชนรอบมหาวิทยาลัยให้คนที่เข้าร่วมโครงการไปใช้บริการ เป้าหมายคือ ลดการเจ็บป่วย ลดการรักษาพยาบาล เพิ่มประสิทธิภาพของมนุษย์ ลดภาระครอบครัว ลดภาระรัฐ และลดการแออัดในโรงพยาบาล โดยค่าใช้จ่ายต่อคนต่อปี ราว 5,000 บาท สอดรับกับที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย หากปล่อยให้คนแก่โดยไม่แข็งแรง ส่งผลต่อภาระของประเทศ ดังนั้น เป้าหมายสูงสุด คือ ทำให้คนแก่ แก่อย่างมีคุณภาพ และแข็งแรง สามารถช่วยเหลือตัวเองได้จนวาระสุดท้ายของชีวิต"

รศ.ดร.วันชัย กล่าวถึงเป้าหมายในอนาคตว่า เนื่องจากตอนนี้ โรงพยาบาลเพิ่งเริ่มเปิด การดำเนินงาน บุคลากรทางการแพทย์ และเครื่องมือต่างๆ จึงอยู่ที่ 15% ของเป้าหมาย ปัจจุบันมีคนไข้ราว 300 คนต่อวัน หรือ 20% ของเป้าที่ตั้งไว้ 1,500 คนต่อวัน ทั้งนี้ เป้าหมายต่อไป คือ การเป็นโรงเรียนแพทย์ภายใน 3 ปี หรือภายในปี 2565 และมีความพร้อมทั้งด้านบุคลากรทางการแพทย์ และเครื่องมือต่างๆ 80%”