เตือนคนกิน “คีโตฯ”ลดน้ำหนัก

เตือนคนกิน “คีโตฯ”ลดน้ำหนัก

เตือนคนกินอาหาร “คีโตเจนิค”ลดน้ำหนัก เกิดอาการข้างเคียงนอนไม่หลับ-ไขมันในเลือดผิดปกติ เพิ่มความเสี่ยงตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน- นิ่วที่ไต-โรคหัวใจเต้นพริ้ว-ขาดสารอาหาร ระยะยาวมีมวลกระดูกลดลง ยังไม่มีรายงานถึงความปลอดภัยในระยะยาว

นายสมิทธิ โชติศรีลือชา นักกำหนดอาหาร หน่วยโภชนศาสตร์คลินิก กองอายุรกรรม รพ.พระมงกุฎเกล้า กล่าวว่า ในการประชุมวิชาการโภชนาการแห่งชาติครั้งที่ 13 เมื่อเร็วๆนี้ ตนได้พูดถึงการบริโภคอาหารคาร์โบไฮเดรตต่ำหรืออาหารคีโตเจนิค(ketogenic) เป็นรูปแบบอาหารที่เน้นการจำกัดปริมาณการบริโภคคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลเป็นหลัก โดยเพิ่มสัดส่วนของไขมันในอาหารเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายเข้าสู่ภาวะคีโตซิส ส่งผลให้น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงแรก จึงเป็นรูปแบบอาหารที่ประชาชนส่วนใหญ่สนใจในการปฏิบัติเพื่อลดน้ำหนักตัว

การบริโภคอาหารคีโตเจนิคให้เหมาะสมและปลอดภัย ควรคำนึงถึงชนิดของกรดไขมันในการเลือกบริโภค เพราะมีผลต่อความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ และกระบวนการอักเสบในร่างกาย อีกทั้งอาหารคีโตเจนิคยังทำให้มีอาการข้างเคียง การสูญเสียสารอาหารวิตามิน เกลือแร่เพิ่มขึ้น และยังไม่มีรายงานถึงความปลอดภัยในระยะยาวอีกด้วย ทั้งนี้ การบริโภคคีโตเจนิค อาจจะไม่สอดคล้องกับรูปแบบการบริโภคอาหารของคนไทยที่บริโภคข้าว แป้งเป็นหลัก ทำให้ไม่สามารถทำ ได้ต่อเนื่องและล้มเหลวในการปฏิบัติตามได้สูง การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในระยะใดเราจึงเป็นวิธีการที่เหมาะสมและยั่งยืนมากกว่าในการรักษาสุขภาพและน้ำหนัก


         “แม้ว่าการบริโภคอาหารแบบคีโตเจนิคจะช่วยให้ลดน้ำหนักตัวลดลงได้เร็วกว่าวิธีการควบคุมอาหารประเภทอื่นๆ แต่ก็มีอาการข้างเคียงที่พบได้บ่อย คือ อาการขาดน้ำ อ่อนเพลียปวดหัว เวียนศีรษะ คลื่นไส้ เบื่ออาหาร อารมณ์ฉุนเฉียว นอนไม่หลับ ท้องผูกหากได้รับใยอาหารจากผักผลไม้ไม่เพียงพอ ท้องเสีย ไขมันในเลือดผิดปกติ และอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดนิ่วที่ไต เนื่องจากภาวะเป็นกรดในเลือดที่เพิ่มขึ้นจากคีโตนบอดี้(ketone bodies)ทำให้เพิ่มการขับแคลเซียมและแมกนีเซียมออกทางปัสสาวะ ทั้งนี้ การสูญเสียแคลเซียมที่เพิ่มขึ้น อาจส่งผลให้ในระยะยาวมีมวลกระดูกลดลง มีรายงานถึงการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจเต้นพริ้ว และเพิ่มความเสี่ยงในการขาดสารอาหาร เช่น โพแทสเซียม แมกนีเซียม วิตามินซี วิตามินบี1 สังกะสี ทองแดง เป็นต้น”นายสมิทธิกล่าว

       

นายสมิทธิ กล่าวอีกว่า การจะปฏิบัติตามแนวทางการบริโภคอาหารคีโตเจนิค ควรเริ่มจากค่อยๆจำกัดปริมาณคาร์โบไฮเดรตในอาหาร เช่น ลดปริมาณน้ำตาลจากเครื่องดื่มน้ำหวานน้ำอัดลม น้ำผลไม้ เครื่องดื่มบำรุงกำลัง ของขนมหวานต่างๆแล้ว จึงค่อยปรับลดปริมาณข้าวแป้ง ผลิตภัณฑ์เส้นธัญพืชที่มีแป้งต่างๆ รวมถึง นมผลิตภัณฑ์นมและผลไม้โดยเพิ่มสัดส่วนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไข่ อาหารทะเลหรือเลือกแหล่งอาหารที่มีทั้งไขมันและโปรตีน เช่นถั่วเปลือกแข็งต่างๆ หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ติดมันและเนื้อสัตว์แปรรูป เช่น ไส้กรอก แฮม เบคอน หมูยอ กุนเชียง ลูกชิ้น เพราะถึงแม้จะมีปริมาณคาร์โบไฮเดรตน้อย แต่มีไขมันอิ่มตัวสูง

ควรเพิ่มอาหารกลุ่มผัก โดยเน้นที่พักใบเพื่อให้ได้วิตามิน เกลือแร่และใยอาหารและใช้น้ำมันปรุงประกอบอาหารตามความเหมาะสม และการกินอาหารคีโตเจนิคไม่ได้กำหนดในเรื่องของการใช้เครื่องปรุงรส เว้นแต่ว่าต้องระวังเครื่องปรุงรสที่มีน้ำตาลและสารผสมที่อาจมีแป้งเป็นองค์ประกอบ จึงอาจจะพิจารณาสารให้ความหวานแทนน้ำตาล ในการปรุงรสอาหารเพื่อให้รสชาติหวานได้ ในส่วนของการประกอบอาหารคีโตเจนิคสามารถปรุงด้วยเครื่องเทศและสมุนไพรต่างๆได้รวมถึงการปรุงด้วยรสเปรี้ยว เค็มและเผ็ด