ศก.อินเทอร์เน็ตอาเซียนมูลค่าพุ่ง 3 แสนล้านดอลล์

ศก.อินเทอร์เน็ตอาเซียนมูลค่าพุ่ง 3 แสนล้านดอลล์

หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างปรับตัวเพื่อให้สอดรับกับยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก ที่พลอยทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ล่าสุด บริษัทชั้นนำโลกสามแห่งได้เผยแพร่รายงานวิจัยที่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจอินเทอร์เน็ตในภูมิภาคนี้เติบโตอย่างรวดเร็ว

รายงานวิจัยของสามบริษัทชั้นนำของโลกอย่าง กูเกิล เทมาเส็ก โฮลดิงส์ และเบน แอนด์ โค บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจอินเทอร์เน็ตของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีมูลค่ารวมมากกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ในปีนี้ ก่อนจะเพิ่มอีกสามเท่าตัวภายในปี 2568 ทำให้ภูมิภาคนี้เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซขยายตัวเร็วที่สุดในโลก อานิสงส์จากการที่ผู้บริโภคยุคใหม่เข้าถึงสินค้าและบริการได้อย่างสะดวกและรวดเร็วเพราะมีอุปกรณ์อัจฉริยะอย่างสมาร์ทโฟนติดตัว

มูลค่าของการทำธุรกรรมทางออนไลน์ในเซ็กเมนท์ต่างๆไล่ตั้งแต่ค้าปลีกทางอินเทอร์เน็ตไปจนถึงบริการเรียกรถรับจ้างจะมีมูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์ ภายในปี 2568 เพราะได้ปัจจัยหนุนจากประชากรทั่วภูมิภาคที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต 360 ล้านคน และภูมิภาคนี้ ซึ่งรวมถึงประเทศไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ที่ติดท็อป10 โลกในแง่ของมีผู้ใช้งานออนไลน์มากที่สุด ยังเป็นที่ตั้งของบริษัทแกร็บ บริษัทให้บริการเรียกรถรับจ้าง และลาซาดา เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซของบริษัทอาลีบาบา กรุ๊ป โฮลดิง จำกัด

อินโดนีเซีย ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดอันดับ4ของโลกด้วยจำนวนประชากร 264 ล้านคนจะเป็นตัวขับเคลื่อนหลักที่หนุนให้เศรษฐกิจอินเทอร์เน็ตขยายตัว ตามมาด้วย สิงคโปร์ และเวียดนาม ซึ่งรายงานวิจัยที่จัดทำเป็นประจำทุกปีชิ้นนี้ แต่เดิมจัดทำโดบกูเกิลและเทมาเส็ก ใช้เกณฑ์ในการประเมิน 4 ด้านคือ มูลค่าการซื้อสินค้าทางออนไลน์สุทธิ มูลค่าการใช้บริการเรียกรถรับจ้าง มูลค่าของการใช้สื่อออนไลน์ และมูลค่าของการจองแหล่งท่องเที่ยวทางออนไลน์ แต่ปีนี้ บริษัทเบน แอนด์ โค เข้ามาร่วมทำรายงานวิจัยด้วยเป็นครั้งแรก และมีการวิจัยการให้บริการทางการเงินดิจิทัลมาเป็นข้อมูลในรายงานชิ้นนี้ด้วย

ทั้งนี้ คาดว่า ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ที่ยังคงเป็นธุรกิจมีอนาคตสดใสที่สุดในระบบเศรษฐกิจอินเทอร์เน็ตของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะขยายตัวถึง 4 เท่าจาก 38,200 ล้านดอลลาร์ในปี 2562 เป็น 153,000 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2568 ซึ่งประเทศที่ผลักดันให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซขยายตัวอย่างมากขนาดนี้คือ อินโดนีเซีย ที่คาดว่าตลาดอีคอมเมิร์ซจะเติบโตจาก 21,000 ล้านดอลลาร์เป็น 82,000 ล้านดอลลาร์

รายงานวิจัยชิ้นนี้ คาดการณ์ว่า ธุรกิจบริการเรียกรถรับจ้างจะมีมูลค่ามากถึง 40,000 ล้านดอลลาร์ ภายในปี 2568 จาก 12,700 ล้านดอลลาร์ในปี 2562 เพราะได้แรงหนุนจากผู้นำในธุรกิจนี้อย่างแกร็บ และโกเจ็ก ที่ต่างก็มองว่าธุรกิจการส่งอาหารจะเป็นตัวขับเคลื่อนหลักสร้างการเติบโตแก่ธุรกิจและสร้างผลกำไรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องได้ แม้ว่าปัจจุบัน ธุรกิจการส่งอาหารจะมีการแข่งขันสูงเพราะมีบริษัทหน้าใหม่อย่างฟู้ดแพนด้า และดีลิเวอโร เข้ามาเป็นผู้เล่นในธุรกิจเพิ่มขึ้น

ศก.อินเทอร์เน็ตอาเซียนมูลค่าพุ่ง 3 แสนล้านดอลล์

เวียดนาม ก็กำลังก้าวขึ้นมาเป็นประเทศเศรษฐกิจดิจิทัลที่โดดเด่นของภูมิภาคนี้เช่นกัน โดยมูลค่าซื้อขายสินค้าสุทธิทางอินเทอร์เน็ตมีสัดส่วนกว่า 5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในปี 2562

ขณะที่การจ่ายเงินดิจิทัล กำลังก้าวขึ้นมาเป็นรูปแบบการชำระเงินกระแสหลักและคาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 1 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2568 ด้วยจำนวนประชากรที่เป็นผู้ใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวน 400 ล้านคน มีประชากรมากถึง 98 ล้านคนที่ไม่ได้เปิดบัญชีกับธนาคาร ทำให้การเข้าถึงการบริการด้านต่างๆของธนาคารมีอย่างจำกัด อาทิ สินเชื่อ

รายงานคาดการณ์การเติบโตของธุรกิจอินเทอร์เน็ตนี้ ช่วยดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในธุรกิจต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจอินเทอร์เน็ต ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยในช่วง6เดือนแรกของปีนี้ บรรดาบริษัทอินเทอร์เน็ตในภูมิภาคระดมเงินได้ 7,600 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจาก 7,100 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว

ขณะที่บริษัทให้บริการเรียกรถรับจ้างอย่างแกร็บ และโกเจ็ก ระดมเงินทุนได้กว่า 14,000 ล้านดอลลาร์ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ขณะที่บริษัทอีคอมเมิร์ซต่างๆ ซึ่งรวมถึงโตโกพีเดียดึงดูดเงินลงทุนได้เกือบ 10,000 ล้านดอลลาร์

การที่เศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีอัตราเติบโตโดยเฉลี่ยปีละ 5% มาตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งสูงกว่าการขยายตัวโดยเฉลี่ยของเศรษฐกิจโลก ทำให้ภูมิภาคนี้ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจำนวนมากในช่วงที่เศรษฐกิจจีนกำลังอยู่ในช่วงขาลง และเศรษฐกิจสหรัฐก็อยู่ในภาวะชะลอตัว จากการทำสงครามการค้าที่ยืดเยื้อกับจีน

เมื่อปี 2561 กูเกิลและเทมาเส็ก คาดการณ์ว่า มูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น 43,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2568 หรือเติบโตขึ้นถึง 7 เท่าจากปี 2558 และทำให้ประเทศไทยเป็นตลาดที่มีเศรษฐกิจดิจิทัลใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาค รองจากอินโดนีเซีย เฉลี่ยมีอัตราการเติบโตปีละ 27%

กูเกิล ระบุว่า ปีนี้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าเม็ดเงินลงทุนในภูมิภาคขยายตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

“บริษัทเทคโนโลยีจากทั่วโลกต้องการให้บริการประชาชนในภูมิภาคนี้เนื่องจากมีศักยภาพทางธุรกิจมหาศาล ประกอบกับความแพร่หลายของแอพพลิเคชั่นที่พัฒนาโดยนักพัฒนาแอพในท้องถิ่น ซึ่งเมื่อประเมินดูแล้วมีประสิทธิภาพเทียบเท่าหรือดีกว่าระดับสากล” กูเกิล ระบุ

กูเกิลและเทมาเส็ก คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะมีส่วนช่วยในการเติบโตอย่างมหาศาลของเศรษฐกิจอินเทอร์เน็ตในภูมิภาคนี้ อานิสงส์จากการเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และธุรกิจบริการร่วมเดินทาง โดยปัจจุบัน ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากถึง 360 ล้านคน ขณะที่จำนวนผู้บริโภคที่ใช้โทรศัพท์มือถือเป็นหลักมีขนาดใหญ่กว่าประชากรทั้งหมดของสหรัฐ ซึ่งพวกเขาไม่เพียงแต่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตเท่านั้น แต่ยังมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่างๆ บนโลกออนไลน์อีกด้วย

ผลจากการวิจัยยังพบว่า ผู้บริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้เวลาค้นหาข้อมูล รับชมวีดิโอ และซื้อสินค้าบนอินเทอร์เน็ต ผ่านทางโทรศัพท์มือถือมากกว่าชาวอเมริกัน ยุโรป หรือญี่ปุ่น