เปิดรับทุนนอก-แก้ไขกม.แรงงาน-แผนกระตุ้นศก.อินโดฯ

เปิดรับทุนนอก-แก้ไขกม.แรงงาน-แผนกระตุ้นศก.อินโดฯ

อินโดนีเซีย พยายามดึงดูดการลงทุนของบริษัทต่างชาติ โดยเฉพาะบริษัทที่ย้ายฐานการผลิตออกจากจีนเพื่อเลี่ยงได้รับผลกระทบด้านภาษีจากการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่ยืดเยื้อยาวนาน

อินโดนีเซีย เป็นประเทศขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มอาเซียน ประชากรเกือบครึ่งของประเทศอยู่ในวัยทำงาน และมีแนวโน้มว่ากลุ่มชนชั้นกลาง จะมีการขยายตัวซึ่งจะนำไปสู่ความต้องการที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภคในด้านสินค้าและบริการ นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมากที่ดึงดูดความสนใจของนักลงทุนจากทั่วโลก ล่าสุด ประธานาธิบดีโจโกวีของอินโดนีเซียให้สัมภาษณ์สื่อตะวันตกเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ของอินโดนีเซีย ให้สัมภาษณ์บลูมเบิร์ก ว่า อินโดนีเซียจะเปิดประเทศมากขึ้นเพื่อรับเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ จะปรับกฏระเบียบเพื่อเอื้อให้นักลงทุนเลือกอินโดนีเซียเป็นฐานการผลิต หรือที่ตั้งสำนักงานใหญ่ รวมทั้งจะแก้ไขกฏหมายแรงงานภายในปลายปีนี้ หลังจากได้รับเสียงวิจารณ์จากบรรดาบริษัทข้ามชาติว่าระบบค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำของอินโดนีเซียที่มีความสลับซับซ้อน รวมทั้งกฏระเบียบด้านการจ้างงานและการปลดออกจากงานเป็นอุปสรรคขัดขวางความพยายามขยายธุรกิจของบรรดาบริษัทต่างชาติที่เข้าไปตั้งในอินโดนีเซีย

“ทุกปีจะมีแรงงานใหม่ๆเข้ามาในตลาดแรงงานประมาณ 3 ล้านคน พวกเขา่ควรได้รับโอกาสในตลาดแรงงาน และเราต้องการแก้ปัญหาที่บรรดานักลงทุนต่างชาติร้องเรียนมาเราจึงแก้ไขกฏหมายแรงงานและหวังว่าการลงทุนจากต่างชาติที่เพิ่มขึ้นจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันในหมู่บริษัทต่างๆและทำให้แรงงานมีสวัสดิการตลอดจนเงินเดือนเพิ่มขึ้น”ประธานาธิบดีโจโกวี กล่าว

คำกล่าวของประธานาธิบดีอินโดนีเซีย มีขึ้นหลังจากนายบัมบัง บรอดโจเนโกโร รัฐมนตรีกระทรวงการวางแผนพัฒนาแห่งชาติอินโดนีเซีย แถลงว่า รัฐบาลกำลังร่างแผนใหญ่ที่ใช้งบประมาณสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 5,957 ล้านล้านรูเปี๊ยะห์ (ราว 4.12 แสนล้านดอลลาร์) สำหรับโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ตั้งแต่สนามบินใหม่ 25 แห่งไปจนถึงโรงไฟฟ้าใหม่

“แผนดังกล่าวจะต้องมีการลงทุนระหว่างปี 2563-2567 และรัฐบาลจะให้งบประมาณโดยตรงสำหรับแผนนี้ในสัดส่วนมากถึง 40% ขณะที่ 25% จะมาจากรัฐวิสาหกิจและส่วนที่เหลือจะมาจากภาคเอกชน” นายบัมบังเผย

เว็บไซต์บลูมเบิร์ก รายงานว่า ร่างแผนดังกล่าวซึ่งได้รับการยืนยันจากกระทรวงการวางแผนพัฒนาแห่งชาติแล้วระบุว่า ประมาณ 60% ของงบประมาณจะใช้กับโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวกับการคมนาคม

“ทางเดียวที่อินโดนีเซียจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงขึ้นคือการคมนาคมที่เชื่อมโยงถึงกัน” นายบัมบังกล่าว และว่า “เรามีแผนที่จะสร้างทางวิ่งเครื่องบินหรือสนามบินขนาดเล็กเพื่อความเชื่อมโยงในพื้นที่ห่างไกล เช่น ภูมิภาคปาปัว”

แผนใช้งบประมาณดังกล่าวเป็นไปตามยุทธศาสตร์ของประธานาธิบดีโจโก วิโดโด หรือ “โจโกวี” ในการใช้โครงสร้างพื้นฐานเป็นตัวแปรสำคัญในการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ และกระจายความมั่งคั่งออกไปนอกเกาะชวาซึ่งเป็นเกาะหลักของประเทศซึ่งเป็นที่ตั้งของกรุงจาการ์ตา

การสร้างท่าเรือและโรงงานแห่งสำคัญมีความซับซ้อนและใช้ต้นทุนสูงอย่างมากในอินโดนีเซีย เนื่องจากประเทศกระจายออกเป็น 1.7 หมื่นเกาะ

อินโดนีเซีย มีอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจประมาณ 5% ต่อปี แม้ว่ารัฐบาลตั้งเป้าการเติบโตระหว่าง 5.3-5.6% ในปีหน้า แต่ยังต่ำกว่าเป้าหมาย 7% ที่นายโจโกวีประกาศไว้ก่อนเริ่มบริหารประเทศสมัยแรก

อย่างไรก็ตาม แม้ในภาพรวม อินโดนีเซียยังต้องพัฒนาไปอีกมาก ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน และเทคโนโลยีต่างๆ แต่เศรษฐกิจและการลงทุนในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมานี้มีการพัฒนาที่ดีขึ้นมาก อีกทั้งผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนยังสูงอีกด้วย

อินโดนีเซีย มีการเจริญเติบโตทางธุรกิจที่มั่นคงมาโดยตลอด โดยแรงสนับสนุนจากรัฐบาลในการปฏิรูปประเทศให้เป็นแหล่งดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ ในอดีตการจ้างงานและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ล้วนมาจากภาคเกษตรกรรมทั้งสิ้น แต่ภายหลังภาคอุตสาหกรรม ภาคการผลิต และภาคบริการเริ่มมีบทบาทมากขึ้น ในส่วนของภาคบริการนั้นจะเน้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การค้าปลีกและส่ง ซึ่งคิดเป็น 20% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)

อินโดนีเซีย พยายามดึงดูดการลงทุนของบริษัทต่างชาติ โดยเฉพาะบริษัทที่ย้ายฐานการผลิตออกจากจีนเพื่อเลี่ยงได้รับผลกระทบด้านภาษีจากการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่ยืดเยื้อยาวนาน โดยทุกวันนี้ ประเทศที่ได้อานิสงส์จากการทำสงครามการค้าคือ เวียดนามที่ดึงดูดบริษัทต่างชาติเข้าไปลงทุน ทำให้ประธานาธิบดีโจโกวี ต้องเร่งปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อให้เป็นที่น่าสนใจของกลุ่มทุนต่างชาติ

ด้านนายไอร์ลังกา ฮาร์ตาร์โต รัฐมนตรีอุตสาหกรรมอินโดนีเซียห้สัมภาษณ์เมื่อไม่นานมานี้ว่า รัฐบาลมีแผนที่จะเปิดเสรีภาคอุตสาหกรรมในประเทศมากขึ้นเพื่อรองรับบรรดานักลงทุนต่างชาติ และผ่อนคลายกฎหมายแรงงานที่เข้มงวดของประเทศ หวังเป็นยักษ์ใหญ่การผลิตระดับภูมิภาคแข่งขันกับเยอรมนีและเกาหลีใต้

“รัฐบาลของประธานาธิบดีโจโก วิโดโด จะพึ่งพาอุตสาหกรรมยานยนต์ เคมีภัณฑ์ และอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อผลักดันให้ภาคการผลิตสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเป็น 25% ภายในปี 2568 จาก 20% ในปัจจุบัน” นายฮาร์ตาร์โต กล่าว

ความเคลื่อนไหวนี้ อาจช่วยกระตุ้นการส่งออกจากอินโดนีเซีย ซึ่งมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแก้ปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดได้

“เป้าหมายของเราคือการเป็นฮับการผลิตแห่งอาเซียน” รัฐมนตรีอุตสาหกรรมเผย และบอกว่า อินโดนีเซียจะหาทางแซงหน้าเยอรมนีและเกาหลีใต้ และเทียบชั้นกับจีน ในฐานะฐานผลิตสินค้าทุกประเภทตั้งแต่รถพลังงานไฟฟ้าไปจนถึงปิโตรเคมีภัณฑ์