คาดเฟดลดดอกเบี้ยหนุนดาวโจนส์ปรับตัวขึ้น

คาดเฟดลดดอกเบี้ยหนุนดาวโจนส์ปรับตัวขึ้น

ดัชนีดาวโจนส์ ปิดตลาดวันพฤหัสบดี(3ต.ค.)พลิกดีดตัวสู่แดนบวก จากการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้ หลังการเปิดเผยตัวเลขภาคบริการของสหรัฐที่อ่อนแอในวันนี้

อย่างไรก็ตาม ดาวโจนส์ดิ่งลงเกือบ 300 จุดในช่วงแรก โดยเป็นการปรับตัวลงเป็นวันที่ 3 ติดต่อกัน หลุดระดับ 26,000 จุด ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ หลังการเปิดเผยตัวเลขภาคบริการของสหรัฐที่ซบเซา

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ปรับตัวขึ้น 122.42 จุดหรือ 0.5% ปิดที่ 26,201.04 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี500 เพิ่มขึ้น 0.8% ปิดที่ 2,910.63 จุดและดัชนีแนสแด็ก ปรับตัวขึ้น 1.1% ปิดที่ 7,872.26 จุด

ทั้งนี้ นักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้ หลังการเปิดเผยตัวเลขภาคบริการของสหรัฐที่น่าผิดหวังในวันนี้ โดยเครื่องมือเฟดวอทช์ของซีเอ็มอี กรุ๊ป บ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่า มีโอกาสสูงถึง 90% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 30-31 ต.ค. และมีแนวโน้ม 50% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งหนึ่งในเดือนธ.ค. ซึ่งหากเฟดตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนนี้ ก็จะเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 3 ของเฟดในปีนี้ รวมทั้งเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมนโยบายการเงิน 3 ครั้งติดต่อกัน

ขณะที่ผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ไอเอสเอ็ม) พบว่า ดัชนีภาคบริการของสหรัฐร่วงลงแตะระดับ 52.6 ในเดือนก.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค.2559 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 55.3 จากระดับ 56.4 ในเดือนส.ค. แต่ดัชนียังคงอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ถึงการขยายตัวของภาคบริการ

ทั้งนี้ ดัชนีภาคบริการของไอเอสเอ็ม ประกอบด้วยอุตสาหกรรม 17 กลุ่ม ซึ่งรวมถึงอสังหาริมทรัพย์ การขนส่ง การก่อสร้าง และเหมืองแร่

ก่อนหน้านี้ ไอเอสเอ็ม ระบุว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐดิ่งลงสู่ระดับ 47.8 ในเดือนก.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2552 จากระดับ 49.1 ในเดือนส.ค. โดยดัชนีอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ภาวะหดตัวของภาคการผลิตของสหรัฐ ซึ่งเป็นการหดตัวเป็นเดือนที่ 2

ภาคการผลิตของสหรัฐเริ่มเข้าสู่ภาวะหดตัวในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 3 ปี หลังจากที่มีการขยายตัวติดต่อกัน 35 เดือน

ภาคธุรกิจมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ส่งผลให้คำสั่งซื้อเพื่อการส่งออกหดตัวลงตั้งแต่เดือนก.ค. โดยการบริโภค คำสั่งซื้อใหม่ สต็อกสินค้าคงคลังเพื่อการส่งออกและนำเข้า หดตัวลงเช่นกัน ขณะที่ภาคธุรกิจมีความเชื่อมั่นลดลง