เร่งโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ดึงต่างชาติหนุน “สตาร์ทอัพ”

เร่งโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล  ดึงต่างชาติหนุน “สตาร์ทอัพ”

การขับเคลื่อนนโยบาย "อีอีซี" ได้วางแผนครอบคลุมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เพื่อพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านดิจิทัลให้รองรับเทคโนโลยีแห่งอนาคต

การประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา เห็นชอบรายการประกอบแผนผังท้าย (ร่าง) ประกาศ กพอ.เรื่องแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคเขตอีอีซี และมอบหมายสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) นำเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติต่อไป

ทั้งนี้ ในร่างดังกล่าวครอบคลุมรายการประกอบแผนผังระบบสาธารณูปโภค ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และระบบการควบคุมและขจัดมลภาวะ ซึ่งระบุถึงพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านดิจิทัลเพื่อรองรับเทคโนโลยีแห่งอนาคต แบ่งเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย 1.ประเภทโครงสร้างพื้นฐานใหม่ คือ โครงการสถาบัน IoT 2 แห่ง ของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)

2.ประเภทโครงสร้างพื้นฐานเดิม คือ สถานีดาวเทียมศรีราชา 1 แห่ง โดยจะทำให้การพัฒนาการสื่อสารข้อมูลเคลื่อนที่ความเร็วสูง รองรับอุปกรณ์ IoT ได้อย่างมีเสถียรภาพ

นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เปิดเผยว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มอบหมายให้เร่งโครงการไทยแลนด์ ดิจิทัล วัลเลย์ ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ 30 ไร่ ของเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลประเทศไทย (อีอีซีดี) อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยตั้งสถาบันไอโอทีและนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อบริหาร “ไทยแลนด์ ดิจิทัล วัลเลย์” ซึ่งได้ก่อสร้างอาคารเมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา และจะเสร็จใน 3 ปี

สถาบันไอโอทีฯ จะผลักดันการลงทุนอุตสาหกรรมดิจิทัล โดยการสร้างอีโคซิสเทมเพื่อดึงดูดการลงทุน 5 กลุ่มหลัก คือ 1.ซอฟท์แวร์ 2.ดิจิทัลคอนเทนท์ 3. ฮาร์ดแวร์ สมาร์ท ดีไวซ์ (อุปกรณ์อัจฉริยะ) 4.อุปกรณ์การสื่อสาร 5.การบริการด้านดิจิทัล 

การลงทุนทั้ง 5 กลุ่มต้องอยู่ภายใต้การลงทุนการค้า การพัฒนานวัตกรรมของกรอบเทคโนโลยีหลัก ได้แก่ เทคโนโลยี 5 จี แอพพิเคชั่น ,ไอโอที ,ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ,บิ๊กดาต้า ,วีอาร์ เออาร์ (โลกเสมือนจริง) , ซอฟท์แวร์ คอนเวอร์เจนท์และฮาร์ดแวร์ดีไซด์

ไทยแลนด์ ดิจิทัล วัลเลย์ มีวัตถุประสงค์ คือ 1.ให้สตาร์ทอัพไทยขยายผลทางธุรกิจเชิงนวัตกรรมเทคโนโลยี 2.ให้นักลงทุนต่างชาติที่ต้องการใช้ไทยเป็นฐานของการผลิตสินค้า และการออกแบบเทคโนโลยี เช่น เอไอ ,ไอโอที

ส่วนการดึงดูดการลงทุน 5 กลุ่มหลักจะเน้นทั้งสตาร์ทอัพไทยและบริษัทรายใหญ่ของต่างชาติ โดยสตาร์ทอัพไทยมีเป้าหมายเพื่อขยายไปสู่ตลาดโลกด้วย ซึ่งขณะนี้เข้าไปสนับสนุนสตาร์ทอัพไทย 50 รายแล้ว เช่น ฟินเทค ,เทคโนโลยีการศึกษา ,เทคโนโลยีเกษตร ,เทคโนโลยีแปรรูปเกษตร ,เทรดแอนด์เซอร์วิสเทคโนโลยี

การขับเคลื่อนดังกล่าวได้ไปโรดโชว์ดึงผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไฮเทครายใหญ่ที่จีน ญี่ปุ่นและสหรัฐ มีบริษัทเป้าหมาย 10 ราย เช่น ดิจิทัลแพลตฟอร์ม ,คลาวเซอร์วิส ,เทคโนโลยีเดต้า ,การออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่ออุตสาหกรรม รวมถึงกำลังเจรจากับกลุ่มเทคโนโลยีดิจิทัล 3 มิติ เทคโนโลยีเอไอและไอโอที ซึ่งคาดว่าจะมีข่าวดีในของการตอบรับเข้ามาลงทุนในไทยแลนด์ ดิจิทัล วัลเลย์

“บริษัทขนาดใหญ่ที่จะดึงเข้ามาลงทุนในไทยแลนด์ ดิจิทัล วัลเลย์ จะใช้เงินลงทุนมากตั้งแต่ 500 ล้านบาทไปจนถึงกว่าพันล้านบาทต่อราย โดยตั้งเป้าหมายบริษัทรายใหญ่ทั้ง 10 ราย จะจับคู่กับสตาร์ทอัพไทยทั้ง 50 ราย เพื่อให้เกิดการออกแบบดีไซด์สินค้าใหม่ขึ้นมา”

สตาร์ทอัพทั้ง 50 ราย จะโตขึ้นได้จะต้องทำงานร่วมกันกับบริษัทใหญ่ที่มีเทคโนโลยี โดยบริษัทใหญ่จะมาลงทุนที่ไทยคงไม่ใช่มาลงทุนแค่ตั้งโรงงาน แต่มองว่าจะทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ให้กับบริษัทหรือไม่ เพราะขณะนี้ตั้งฐานการผลิตที่ใดก็ได้ในโลกที่มีต้นทุนต่ำ 

แต่ถ้ามาลงทุนในไทยก็ต้องเข้ามาลงทุนเพื่อเป็นฐานการผลิตด้านไอเดีย จะต้องให้สตาร์ทอัพไทย 50 ราย ไปเจอกับบริษัทขนาดใหญ่เหล่านี้ มาใช้พื้นที่นี้เพื่อออกแบบสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ ทดสอบตลาดภายในประเทศ และผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่เข้าสู่ตลาดโลก ถ้าทำอย่างนี้ได้ จะทำให้สตาร์ทอัพของไทยขยายขนาดตลาดไปสู่ตลาดโลก ไม่เช่นนั้นไทยจะเป็นได้เพียงฐานการผลิตเพียงอย่างเดียว และรอให้บริษัทต่างชาติมาตั้งโรงงาน ซึ่งทำให้ไม่เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจเท่าที่ควร

ดังนั้น ต้องทำให้ทั้ง 2 ส่วนผสมกันเกิดการร่วมกันทำงาน ซึ่งโมเดลดังกล่าวเป็นรูปแบบที่สิงคโปร์ทำอยู่ แต่โมเดลสิงคโปร์สมัยก่อนเน้นเพียงกลุ่มฟินเทค โดยช่วงหลังมาทำเน้นการออกแบบผลิตภัณฑ์ เพราะมีเครื่องจักรอัตโนมัติ หุ่นยนต์ที่ทำงานใกล้ชิดมนุษย์ อุปกรณ์ติดตัวมนุษย์ ทำให้อุปกรณ์อัจฉริยะมากขึ้น โดยใส่เอไอและซอฟท์แวร์เข้าไป ซึ่งจะปล่อยให้สิงคโปร์ทำแล้วไทยเป็นเพียงผู้รับจ้างผลิตหรือไทยต้องเป็นผู้ดีไซด์เองและผลิตด้วยถึงจะสู้สิงคโปร์ได้

“สตาร์ทอัพไทยจะต้องร่วมมือกับบริษัทขนาดใหญ่ในการออกแบบ โดยใช้พื้นที่ไทยแลนด์ ดิจิทัลวัลย์ ในการพัฒนาสินค้าใหม่ ใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่นำมาออกแบบให้เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์และการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี”

ไทยแลนด์ ดิจิทัล วัลเลย์ จะส่งผลทางเศรษฐกิจเกิดการลงทุนทางตรงจากภาครัฐ 4,000 ล้านบาท การลงทุนทางตรงของภาคเอกชน 4,000 ล้านบาท รวมแล้วเกิดการลงทุนจริงไม่ต่ำกว่า 8,000 ล้านบาท เกิดการหมุนเวียนจากการลงทุนต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านบาท ทำให้เกิดการขับเคลื่อนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลอีกมาก และจะขยายผลต่อในการใช้ประโยชน์อีกไม่ต่ำกว่า 3 เท่าของ 20,000 ล้านบาท จากการผลิตสินค้าต่างๆเกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ