‘ชไนเดอร์’ ถอดรหัสดิจิทัล บนยุค ‘เอดจ์ คอมพิวติ้ง’

‘ชไนเดอร์’ ถอดรหัสดิจิทัล บนยุค ‘เอดจ์ คอมพิวติ้ง’

การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วทำให้เกิดโจทย์ใหม่ที่ต้องยกระดับความสามารถไอที

ถึงวันนี้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าเมกะเทรนด์ทางเทคโนโลยีอย่าง “เอดจ์ คอมพิวติ้ง” กำลังเข้ามาพลิกโฉมโลกไอทีอย่างมีนัยสำคัญ

ปัจจุบัน องค์กรธุรกิจต่างมองหาเครื่องมือที่จะทำให้ทุกการทำงานมีความคล่องตัว รวดเร็วขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ข้อจำกัดน้อยลง ขณะเดียวกันเอื้อให้การต่อยอดใช้งานไอทีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคลาวด์ ดาต้าเซ็นเตอร์ ปัญญาประดิษฐ์(เอไอ) อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์(ไอโอที) 5 จี รวมไปถึง “ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น” ทำได้เต็มประสิทธิภาพ

การ์ทเนอร์คาดการณ์ไว้ว่า เมื่อถึงปี 2568 ข้อมูลของเอ็นเตอร์ไพรซ์กว่า 75% จะถูกสร้างและประมวลผลที่ “เอดจ์ (Edge)” ด้านโกลบอลมาร์เก็ตอินไซต์สคาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดเอดจ์ดาต้าเซ็นเตอร์จะทะลุ 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์ ภายในปี 2567

ขณะนี้พบว่ามีการลงทุนระบบโครงสร้างเอดจ์ดาต้าเซ็นเตอร์ แล้วในหลายภาคส่วน ทั้งธุรกิจค้าปลีก การเงิน สุขภาพและความงาม ฯลฯ ผลักดันมาจากความต้องการการประมวลผลที่เร็วขึ้น สามารถรองรับบริการทางดิจิทัลใหม่ๆ ผู้บริโภคเองจะตัดใจบริโภคสินค้าและบริการได้ง่ายขึ้นหากสามารถเรียกใช้ข้อมูลได้แบบเรียลไทม์

ปักธง ‘ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น’

เดฟ จอห์นสัน รองประธานกรรมการ กลุ่มธุรกิจซีเคียวพาวเวอร์ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค กล่าวว่า ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นส่งผลกระทบกับทุกคน ขณะนี้อุตสาหกรรมกำลังเผชิญกับความท้าทายหลายประการ ดังนั้นเพื่อเปลี่ยนผ่านและสร้างความสำเร็จในยุคดิจิทัลจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนแนวทางการบริหารจัดการและติดตั้งระบบไอทีในดาต้าเซ็นเตอร์ คลาวด์ และเอดจ์ ให้สอดคล้อง

“การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยี การใช้งานคลาวด์ การมาของเอไอ ไอโอที การเปลี่ยนผ่านระบบไอทีแบบดั้งเดิมไปสู่รูปแบบใหม่ๆ เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโจทย์ใหม่ที่ต้องยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการ และเอดจ์คอมพิวติ้งคือแนวทางในการจัดการความท้าทายเหล่านี้”

สำหรับชไนเดอร์ แนวทางธุรกิจมุ่งสนับสนุนและเพิ่มขีดความสามารถในการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นของลูกค้า พร้อมสร้างความมั่นใจว่าทั้งเครือข่ายที่สำคัญ ระบบ และกระบวนการต่างๆ พร้อมใช้งาน สามารถบริหารจัดการได้อย่างยืดหยุ่น

ปัจจุบัน ชไนเดอร์เป็นผู้นำตลาดดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นด้านการบริหารจัดการพลังงานและระบบอัตโมมัติ จุดยืนธุรกิจเน้นให้บริการโซลูชั่นสำหรับบริการจัดการพลังงานและความเย็นสำหรับดาต้าเซ็นเตอร์ เอดจ์ไอที และที่ไม่เกี่ยวข้องกับไอที

ที่ผ่านมา พัฒนาการของเอดจ์เติบโตมากขึ้นตามลำดับ สามกลุ่มธุรกิจที่มีสภาพแวดล้อมเป็นเอดจ์คอมพิวติ้งแล้วมีทั้ง กลุ่มคอมเมอร์เชียลเช่น ธุรกิจค้าปลีก เฮลธ์แคร์ การเงิน การศึกษา กลุ่มอุตสาหกรรมทั้งพลังงาน เหมืองแร่ ยานยนต์ และการผลิต และโทรคมนาคมเพื่อการพัฒนาระบบการบริหารจัดการ การพัฒนาเสาส่งสัญญาณ สถานีฐาน ฯลฯ

อย่างไรก็ดี ทุกการพัฒนาหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเผชิญความท้าทายเรื่องขาดความยืดหยุ่น ไม่สามารถตรวจสอบและจัดการได้จากระยะไกล ขาดมาตรฐานและการผสมสานการทำงานระหว่างกัน ด้วยข้อจำกัดของจำนวนพนักงานฝ่ายไอทีที่ไม่เพียงพอ

สำหรับคำตอบของการแก้ปัญหาความท้าทายต่างๆ เหล่าสิ่งที่ต้องมีคือ ระบบที่ทำงานอย่างผสมผสาน สถาปัตยกรรมที่อยู่บนพื้นฐานคลาวด์ และอีโคซิสเต็มส์ของพันธมิตร

เร่งเกม’เอเชียแปซิฟิก’รับตลาดโต

ชไนเดอร์ระบุว่า เอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่นเป็นตลาดที่มีศักยภาพ เติบโตเร็ว โอกาสขยายตัวสูง ดังนั้นวางเป็นตลาดโฟกัสที่จากนี้จะให้ความสำคัญและนำผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ เข้ามาเปิดตลาดอย่างต่อเนื่อง ปีที่ผ่านมารายได้ที่มาจากภูมิภาคนี้มีสัดส่วนมากที่สุดที่ 29% ขณะที่ยุโรป 27% อเมริกา 28% ที่เหลือ 16%

ที่น่าสนใจเห็นได้ชัดด้วยว่าการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลผลักดันให้เกิดความต้องการยกระดับการใช้งานเทคโนโลยีทั้งด้านระบบบริหารจัดการ ซิเคียวริตี้ การพัฒนาแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ บนเอดจ์ โดยธุรกิจที่ตื่นตัวแล้วมีอยู่ในหลากหลายอุตสาหกรรมทั้งค้าปลีก การเงิน เฮลธ์แคร์ การศึกษา บริการภาครัฐ ฯลฯ

สำหรับเมกะเทรนด์ที่น่าจับตามองพบว่า ดาต้ายังคงถูกสร้างขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีการคาดการณ์ไว้ว่าภายในปี 2568 จะเติบโตเฉลี่ยปีละ 28% อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์กำลังเติบโตแบบก้าวกระโดดภายในปี 2569 จะกินสัดส่วน 50% ของอุปกรณ์ใหม่ๆ ที่วางตลาด

นอกจากนี้ ภายในปี 2563 จะมีผู้ใช้งานอุปกรณ์โมบายเป็นประจำไม่น้อยกว่า 500 ล้านคน ภายในปี 2564 เม็ดเงินลงทุนด้านเอไอจะสะพัดกว่า 4.6 พันล้านดอลลาร์ เติบโตเฉลี่ย 73% ทุกปี การลงทุน 5 จีกินสัดส่วน 1 ใน 3 ของการลงทุนทั่วโลกภายในปี 2568

ปัจจุบันเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่นมีประชาการราว 890 ล้านคน กินสัดส่วน 11.6% ของประชากรโลก สร้างผลกระทบต่อจีดีพี 14% จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมีอยู่มากถึง 560 ล้านคน สัดส่วน 13% จากทั่วโลก จากผู้ใช้โซเชียลมีเดียทั้งหมดในภูมิภาคนี้มีสัดส่วน 14%

ลงทุน’อีโคซิสเต็มส์’เสริมแกร่ง

นาตายา มากาโรกิน่า รองประธานอาวุโส ซีเคียวพาวเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลต้องการอีโคซิสเต็มส์รูปแบบใหม่ที่สามารถรองรับการสร้างประสบการณ์และระบบที่มีความซับซ้อนมากกว่าเดิม ขณะที่การปรับใช้งานหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเผชิญความท้าทายทั้งด้านการพัฒนาเพื่อให้สอดคล้องกับการใช้งานจริง ตอบโจทย์ธุรกิจ และความต้องการของลูกค้า

ส่วนของบริษัทเองให้ความสำคัญอย่างมากกับการปรับเปลี่ยนแนวทางการตลาดให้สอดคล้องกับสภาพตลาด รวมถึงการทำงานร่วมกับพันธมิตร จากการสำรวจพบว่าพันธมิตรกว่า 65% มีความคาดหวังว่าในปีนี้กำไรของพวกเขาจะเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 10% ภายใต้ความท้าทายที่ว่ากำไรจากการขายฮาร์ดแวร์ค่อยๆ ลดลงจากปี 16 ที่เฉลี่ยฮาร์ดแวร์ทำกำไร 24% ปี 18 ลดลงมาเหลือเพียง 7% ด้านภาคธุรกิจ 40% มองกำลังหาเซอร์วิสโพรวายเดอร์ที่จะมาช่วยทรานส์ฟอร์มดิจิทัลอินฟราสตรักเจอร์

“การสร้างความสำเร็จกุญแจสำคัญมาจาการมีอีโคซิสเต็มส์ที่ผสมผสาน ทำงานร่วมกันทั้งที่ปรึกษา ผู้ผลิต ผู้ติดตั้งระบบ เซอร์วิสโพรวายเดอร์ รวมไปถึงผู้ให้บริการไอทีที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบันบริษัทมีพันธมิตรกว่า 1.65 แสนรายทั่วโลก”

นอกจากนี้ ที่ผ่านมามุ่งลงทุนพัฒนาอีโคซิสเต็มส์ที่รองรับอนาคต จนขณะนี้มั่นใจว่ามีความพร้อมทั้งด้านเทคโนโลยี การทำงานร่วมกับพันธมิตร สามารถให้บริการได้ครอบคลุมทุกบริการใหม่ๆ ที่สอดคล้องไปกับบิสิเนสโมเดลของลูกค้า

“เป้าหมายสำคัญหวังเข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างมูลค่าเพิ่มพร้อมเพิ่มโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจ หลังจากนี้ยังคงมุ่งทำให้อีโคซิสเต็มส์แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เตรียมเพิ่มพันธมิตรทางเทคโนโลยีและที่เกี่ยวข้องเข้ามาต่อเนื่อง”