"100 ซีอีโอ" ทรานส์ฟอร์มธุรกิจ โต้คลื่น "ดิจิทัล ดิสรัปชั่น"

"100 ซีอีโอ" ทรานส์ฟอร์มธุรกิจ โต้คลื่น "ดิจิทัล ดิสรัปชั่น"

100 ซีอีโอ เร่งพลิกเกมโต้คลื่นดิจิทัลกระทบธุรกิจ ผ่านหลักสูตร “Digital Transformation for CEO” รุ่นแรก ระดมกูรู ถ่ายทอดกลยุทธ์ ความรู้ กรณีศึกษา สร้างภูมิต้านทานธุรกิจ

เปิดตัวไปแล้วอย่างยิ่งใหญ่เมื่อ 2 ตุลาคมที่ผ่านมา สำหรับหลักสูตร “Digital Transformation for CEO” รุ่นแรก อย่างเป็นทางการ โดยหลักสูตรดังกล่าวเป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่าง หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ และบริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) เพื่อต้องการกระตุ้นให้ “ซีอีโอ”ในองค์กรธุรกิจน้อยใหญ่ในไทย ตระหนักถึงผลกระทบของคลื่นการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี (Digital Disruption) ต่อภาคธุรกิจ รวมถึงโต้คลื่น(Transform) การเปลี่ยนแปลงนี้ สู่การสร้างโอกาสหรือการเติบโตทางธุรกิจรอบใหม่อย่างมี “กลยุทธ์”

\"100 ซีอีโอ\" ทรานส์ฟอร์มธุรกิจ โต้คลื่น \"ดิจิทัล ดิสรัปชั่น\"

ทั้งนี้ หลักสูตรดังกล่าว ได้เชิญบรรดาซีอีโอองค์กรขนาดใหญ่จำนวนมาก ร่วมเป็นวิทยากร ถ่ายทอดองค์ความรู้ และประสบการณ์ให้กับซีอีโอที่เข้าร่วมหลักสูตร รุ่น1 จำนวน 110 คนให้นำไปต่อยอดความคิดเพื่อสร้าง ภูมิต้านทาน” ธุรกิจให้แข็งแกร่ง

นายอรพงศ์ เทียนเงิน ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ หนึ่งในวิทยากรหลักสูตรดังกล่าว กล่าวว่า ในโลกปัจจุบันที่มีธุรกิจใหม่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ด้วยผลกระทบจากดิจิทัล ดิสรัปชั่น ที่ถาโถมเข้ามา แม้องค์กรเก่าแก่อายุ 112 ปีอย่างธนาคารไทยพาณิชย์ (เอสซีบี) ก็ยังไม่สามารถวางใจว่าตัวเองจะอยู่รอดโดยไม่ถูกดิสรัป หากไม่ปรับตัว เนื่องจากคู่แข่งไม่ใช่คนกลุ่มเดิมหรือคนในอุตสาหกรรมเดียวกันอีกต่อไปแล้ว แต่อาจเป็นธุรกิจขนาดเล็ก ธุรกิจใหม่ ที่มีอายุแค่ไม่กี่ปีอย่างเฟซบุ๊ค กูเกิล เป็นต้น 

จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าการทรานส์ฟอร์ม เป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อรับคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นต่อทุกอุตสาหกรรม ไม่เฉพาะธนาคารเท่านั้น เพื่อให้องค์กรสามารถแข่งขันได้ในอนาคตอย่างยั่งยืน

  • เร่งองค์กรปรับตัวก่อนสาย

"โลกของธุรกิจในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก เพียงแค่ชั่วข้ามคืนธุรกิจชั้นนำอาจจะถูกคู่แข่งหน้าใหม่ ก้าวขึ้นมาแทนที่ได้โดยที่ไม่ได้ทันตั้งตัว ถ้าไม่ปรับตัวล้มหายตายจากเหมือนกับหลายบริษัท หลายแบรนด์ อาทิ โกดัก Blockbuster อดีตร้านเช่าภาพยนตร์ ฯลฯ ในยุคที่โลกหมุนเร็วขึ้น องค์กรตายได้ง่ายขึ้น"

นายอรพงศ์ ยังได้ยกตัวอย่างเทคโนโลยีการเงินที่หลายประเทศนำมาใช้แล้ว โดยเฉพาะในจีน ที่ปัจจุบันมูลค่าของบริษัทเอกชนที่ไม่ใช่ธนาคารแต่เข้ามาทำธุรกิจที่คล้ายธนาคารและมีมูลค่าธุรกิจสูงกว่าธนาคาร เนื่องจากความเสี่ยงในอนาคตที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เฉพาะเรื่องของการแข่งขันแค่คู่แข่ง แต่เป็นการวิ่งตามเทคโนโลยีให้ทัน หากวิ่งไม่ทันความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้น

\"100 ซีอีโอ\" ทรานส์ฟอร์มธุรกิจ โต้คลื่น \"ดิจิทัล ดิสรัปชั่น\"

  • ผนึก "พันธมิตรดันรายได้ใหม่

เขายังแนะนำว่า หากองค์กรไม่มีความชำนาญเทคโนโลยีควรใช้วิธีหาพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาช่วยในการสร้างแพลตฟอร์ม เพื่อสร้างช่องทางในการหารายได้ใหม่เข้ามาในองค์กร รวมทั้งโอกาสธุรกิจใหม่ๆ จากกลุ่มลูกค้าเก่าและใหม่มากขึ้น เพราะรายได้จากธุรกิจหลักได้กำไรน้อยลง ขณะที่การแข่งขันสูง

จะเห็นได้ว่าธนาคารพาณิชย์ไทยหลายแห่งจึงพยายามก้าวสู่การเป็น “ธนาคารดิจิทัล” โดยทุ่มงบนับหมื่นล้านบาท เร่งลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมารองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี มีการเข้าสนามทดสอบผลิตภัณฑ์ประเภทต่างๆ กับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทั้งเรื่องของระบบชำระเงิน การปล่อยกู้ผ่านแอพพลิเคชั่น และการโอนเงินผ่านบล็อกเชน ที่รวดเร็วและค่าธรรมเนียมถูกมาก เป็นต้น

“การปรับตัวดังกล่าวถือว่าเป็นไฟท์บังคับที่ธนาคารพาณิชญ์ต้องทำ เพราะรายได้จากค่าธรรมเนียม รายได้ดอกเบี้ยหลายแสนล้านบาทที่เคยได้รับในแต่ละปีกำลังจะหดหายไปเรื่อยๆจากการเข้ามาของเทคโนโลยี จึงเป็นโจทย์ท้าทายสำหรับทุกธนาคาร ที่ต้องหาทางรับมือกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัลเพื่อความอยู่รอด”

\"100 ซีอีโอ\" ทรานส์ฟอร์มธุรกิจ โต้คลื่น \"ดิจิทัล ดิสรัปชั่น\"

  • "เอสซีบีชี้คู่แข่งใหม่ไม่ใช่แบงก์

ทั้งนี้อนาคตมีคู่แข่งใหม่ไม่ใช่ธนาคารเข้ามา ยกตัวอย่างกรณี เทนเซ็นต์ ที่เปิดตัว WeChat รุกคืบเปิดบริการการเงินดิจิทัล ภายใต้ We Bank ซึ่งเป็น Pure Digital Bank โดยการปล่อยสินเชื่อบุคคลไม่มีหลักประกัน แต่มีอัตราความเสียหาย (Loan Loss) ตํ่ากว่า 1% เมื่อเทียบกับธนาคารที่มีหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ตํ่ากว่า 6% เนื่องจากมีข้อมูลลูกค้ารายบุคคลที่มากกว่าธนาคาร ทำให้สามารถตัดสินใจในการปล่อยสินเชื่อได้ นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีในการตรวจเช็คลูกค้าโดยใช้เอไอ ในการจับใบหน้าระหว่างการคุยโทรศัพท์ก่อนอนุมัติสินเชื่อ

หรือในกรณีอาลีบาบา ที่มีบริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-Wallet) คือ อาลีเพย์ วันนี้ปริมาณธุรกรรมและเม็ดเงินสูงกว่าธนาคารในจีน ลูกค้ายังสามารถนำเงินใส่ไว้ใน E-Wallet ซื้อกองทุนเป็น Money Market หรือฝากเงินไว้ก็จะได้รับอัตราดอกเบี้ย โดยไม่จำเป็นต้องผ่านธนาคารอีกต่อไป เป็นต้น

ดังนั้นในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารไทยพาณิชย์ จึงพยายามพัฒนาแพลตฟอร์ม ในการให้บริการลูกค้าเพื่อลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจและลดต้นเวลาลงเพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิมที่มีอยู่ไว้ โดยไม่จำเป็นต้องค่าบริการแข่งกับคู่แข่ง

ปัจจุบันแม้ว่าความเสี่ยงในการทำธุรกิจผ่านเทคโนโลยีมีเพิ่มขึ้น แต่เราต้องปรับตัว ถ้ามัวแต่กลัวความเสี่ยงแล้วไม่ลงมือทำอะไรอาจจะไม่มีบริษัทให้เสี่ยงหรือตายไปในที่สุด

\"100 ซีอีโอ\" ทรานส์ฟอร์มธุรกิจ โต้คลื่น \"ดิจิทัล ดิสรัปชั่น\"

  • ไมโครซอฟท์ "ทรานส์ฟอร์มรอด

นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงแนวทางการ ทรานส์ฟอร์มองค์กรของไมโครซอฟท์ ว่า หลังจากผู้ก่อตั้งอย่างบิล เกตส์ ประสบความสำเร็จในการไปถึงเป้าหมาย คือ มีคอมพิวเตอร์บนทุกโต๊ะทำงานและในทุกบ้านลัง

ในช่วง สตีฟ บัลเมอร์ ซีอีโอคนที่ 2 เกิดความเปลี่ยนจากการเข้ามาของมือถือ แม้ว่าจะมีความพยายามในการปรับตัวด้วยการซื้อโนเกียเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งแต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะ ปรับตัว "ช้า" ไป เนื่องจากการเข้ามาของไอโฟน และแอนดรอยด์

แต่หลังจากที่ สัตยา นาเดลลา ขึ้นมาเป็นซีอีโอได้ประกาศจุดยืนใหม่ด้วยการโฟกัสไปที่ธุรกิจ Cloud โดยไม่ได้กล่าวถึงระบบปฏิบัติการ Windows ที่เป็นผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทและขายโนเกียไป

  • องค์กรต้อง "โอเพ่นแพลตฟอร์ม"

ไมโครซอฟท์ให้ความสำคัญกับธุรกิจ Cloud มากขึ้น จาก Azure และ Office 365 ซึ่งเป็นโมเดลสมัครสมาชิก (Subscription) และเรื่องนี้กลายเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจใหม่ พร้อมกับขยายธุรกิจแบบข้ามแพลตฟอร์ม และร่วมมือกับบริษัทอื่น เช่น วอลมาร์ท BMW ในรูปแบบของโอเพ่นแพลตฟอร์มมากขึ้น โดยในปี 2015 เขาได้นำ iPhone ขึ้นไปสาธิตการใช้แอพพลิเคชัน Office บนเวทีซึ่ง Apple ก็ถือเป็นหนึ่งในคู่แข่งของไมโครซอฟท์ 

นี่ถือเป็นการปรับตัวให้ปรับกับการเปลี่ยนแปลงและก้าวข้ามขีดจำกัดเดิมส่งผลให้รายได้เติบโตขึ้น

“ปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นองค์กรเก่าหรือใหม่ สามารถนำดาต้าในองค์กรเข้ามาใช้ให้เกิดประโยชน์ด้วยการใช้เทคโนโลยีเข้ามช่วยสร้างมูลค่าแก่สินค้าและบริการที่มีอยู่ ยกตัวอย่างการพัฒนาแชทบอท "น้องฟ้า" ให้กับบมจ.การบินไทย ในการบริการลูกค้าแม้ในระยะแรกไม่สำเร็จ แต่ได้ข้อมูลมาพัฒนาจนสามารถให้บริการแก่ลูกค้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น”

  • ผนึก "ดีป้าทำ "เอไอแลป"

นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์ ได้ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล(ดีป้า) เพื่อร่วมกันทำเอไอ แลปสำหรับเกษตรกรในประเทศไทย ในการใช้เทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาการเกษตรในประเทศไทย ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของไมโคซอฟท์อินเดีย อยู่ระหว่างการดำเนินการในรายละเอียด นอกจากนี้ยังมีแผนจะลงนามเอ็มโอยูหน่วยงานภาครัฐในการพัฒนาทักษะบุคลากรด้านดิจิทัล โดยจะไม่จำกัดเพียงแค่เด็กเยาวชน แต่พยายามทำให้ครอบคลุมคนหลากหลายอาชีพ ผลักดันให้คนไทยมีทักษะความรู้ความเชี่ยวชายด้านโค้ดดิ้ง หรือ การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ รวมถึงวิทยาศาสตร์ข้อมูล โดยผ่าน 20 มหาวิทยาลัยในประเทศไทยนำร่อง เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนทักษะไอที

  • พลิกคัลเจอร์สู่เรียนรู้จากทุกอย่าง 

กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ยังกล่าวว่า จากปรัชญา Growth Mindset ได้ทำให้วัฒนธรรมของไมโครซอฟท์ เปลี่ยนจาก know-it-alls หรือ รู้ทุกสิ่งไปสู่วัฒนธรรมใหม่คือ learn-it-alls หรือเรียนรู้จากทุกอย่างซึ่งสอดคล้องกับรูปแบบของการแข่งขันที่เปลี่ยนไป ทำให้บริษัทลงทุนในการเทรนนิ่งให้กับพนักงานและลูกค้าทั้งในรูปแบบของรีสกิลและอัพสกิลทักษะเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อรองรับกระแส Digital Disruption ในองค์กรทุก อุตสาหกรรมต้องปรับทักษะ ความรู้ความสามารถของพนักงาน ซึ่งเป็นฟันเฟืองหลัก และเป็นตัวตัดสินชี้ชะตาถึงความอยู่รอดขององค์กร จึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ไม่ควรอาจมองข้าม

  • ทุ่มงบดิจิทัล-ลดเหลื่อมล้ำศึกษา

ด้าน นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า สิ่งที่กระทรวงฯกำลังทำในยุคการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี คือการทุ่มงบประมาณเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีการศึกษา ลดปัญหาการเหลื่อมล้ำ แทนการใช้งบหมดไปกับการดูงานหรืออบรมสัมมนา หรือจัดงานอีเวนท์

ปัญหาเกิดจากครูไม่มีความรู้เท่ากันทั้งประเทศ ดังนั้น ทุกโรงเรียนต้องมีอินเทอร์เน็ตที่เท่าเทียมกัน เพราะเป็นสิ่งสำคัญในการเผยแพร่กระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวกับดิจิทัล นี่คือดิสรัปชั่นอย่างแท้จริง แต่กระทรวงศึกษาธิการเองก็ต้องปรับ เมื่อใน 2 เดือนที่ผ่านมาได้พูดคุยกับผู้บริหารในกระทรวงฯ และครู โดยกระทรวงศึกษาธิการเป็นองค์กรที่ใหญ่มาก มีครูกว่า 5 แสนคน นักเรียน 10 ล้านคน และคนภายในกระทรวงศึกษาธิการกว่า 3 หมื่นคน โดยปลุกใจเขาให้ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง"

เขายังกล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการถือเป็นกระทรวงที่สำคัญมากที่สุดของประเทศ โดยมั่นใจว่าผู้บริหารของบริษัทชั้นนำของไทยหลายรายเจอปัญหาของบุคลากรจากปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาของไทย ดังนั้นจึงต้องแก้ปัญหานี้ให้ประเทศไทย 

ที่ผ่านมา พล..ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังได้เชิญนักลงทุนจากหลายประเทศ เข้ามาลงทุนในไทย แต่สิ่งที่เห็นคือ บุคลากรที่จะตอบสนองยังไม่เพียงพอและตรงกับความต้องการ โดยเฉพาะบุคลากรที่มีคุณภาพด้านดิจิทัลยังไม่เพียงพอ

นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ

  • ศธ.” ตั้งเป้า ปีปั้นคนคุณภาพ 

ใน 3 ปีข้างหน้า กระทรวงศึกษาธิการ ต้องสร้างคนที่มีคุณภาพ แต่คนที่มีคุณภาพไม่ใช่แค่ดิจิทัลอย่างเดียว แต่ต้องมีความรู้ด้านภาษาอังกฤษด้วย ต้องให้เวลาครู 3 ปี ให้มีความรู้ด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็นครูรุ่นใหม่ หรือใกล้เกษียณ เพราะตอนนี้ชีวิตไม่ได้หยุดอยู่แค่ 60 ปี นี่คือการผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลง

"ถามว่าทำไมต้อง 3 ปี เพราะที่ผ่านมาเราให้ครูไปเรียนภาษาอังกฤษ 3 อาทิตย์ 1 เดือน เขาจะพูดได้อย่างไร ขณะที่อินเทอร์เน็ตจะทำให้ครูสามารถเข้าถึงสื่อการเรียนการสอนที่ครบถ้วนในการเรียนภาษาอังกฤษ และที่สำคัญเราเช็คได้ว่าเขาเข้าไปดูจริงหรือไม่ ผ่านตัวชี้วัดเพื่อให้รู้ว่าผ่านโมดูลใดบ้าง และอินเทอร์เน็ตถือเป็นช่องทางในการพลิกการเรียนการสอนได้"

เขากล่าวว่า นี่คือการก้าวข้ามครั้งใหญ่ของกระทรวงศึกษาธิการ และแก้ไขปัญหาเรื่องดิสรัปชั่นในกระทรวงที่คิดว่าน่าจะยากที่สุด แต่ถ้าไม่ทำในสิ่งที่ถูกต้อง ประเทศเดินหน้าไม่ได้ เพราะกระทรวงศึกษาธิการเป็นกระทรวงหลัก การป้อนคนเข้าไปในภาคอุตสาหกรรม ระบบราชการ ถ้าคนไม่มีความสามารถและไม่เก่งพอ สิ่งที่เกิดขึ้นคือปัญหา ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ใส่ใจให้เร่งแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้