เกมเริ่ม! 'เบียร์ช้าง' เดินเครื่องผลิตเบียร์ในเมียนมา ย้ำวิชั่น 2020 ผู้นำฯอาเซียน

เกมเริ่ม! 'เบียร์ช้าง' เดินเครื่องผลิตเบียร์ในเมียนมา ย้ำวิชั่น 2020 ผู้นำฯอาเซียน

เป็นอีก Big Move ของบมจ.ไทยเบฟเวอเรจ ในการขยายธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภท “เบียร์” ภายใต้แบรนด์หัวหอกอย่าง “เบียร์ช้าง” เมื่อบริษัทในเครืออย่าง เฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ (เอฟแอนด์เอ็น) ได้เริ่มผลิต “เบียร์ช้าง” ในเมียนมาแล้ว

โดยโรงงานผลิตเบียร์ช้างตั้งอยู่ในเมืองเลกู ถือเป็นการสยายปีกธุรกิจของกลุ่มบริษัทไทยเบฟในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเสริมสร้างความแข็งแกร่งแก่บริษัทในฐานะเป็นบริษัทเครื่องดื่มชั้นนำในภูมิภาค

ย้อนรอยราว 6 ปีก่อน ไทยเบฟ ทุ่มเงินร่วม 3 แสนล้านบาท ซื้อกิจการเอฟแอนด์เอ็น ซึ่งถือเป็น Big Deal ในประวัติศาสตร์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(อาเซียน)ขณะนั้น นอกจากได้ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ครอบคลุมตลาดสิงคโปร์ มาเลเซีย​ฯ และธุรกิจอื่นๆ ยังได้ครอบครอง “เครื่องดื่มเบียร์” ในประเทศเมียนมาด้วย เนื่องจากเอฟแอนด์เอ็น กับรัฐวิสาหกิจเมียนมาอย่างบริษัทเมียนมาร์ อีโคโนมิก โฮดิงส์ ลิมิเต็ด (MEHL)เป็นพันธมิตรและตั้งบริษัทร่วมทุนอย่างบริษัทเมียนมาร์ บริวเวอรี่ ลิมิเต็ด (MBL)กัน ทำตลาดเบียร์

ทว่า ทุกอย่างกลับไม่เป็นไปอย่างคาดหวัง เมื่อ “รัฐวิสาหกิจเมียนมา ไม่ยอมเปิดทางให้ ทุนใหม่อย่างไทยเบฟ เข้าไปบริหาร กระทั่งเกิดการฟ้องร้องอนุญาโตตุลาการ ท้ายที่สุดเพื่อ ยุติศึก” ชิงธุรกิจเบียร์ ไทยเบฟต้องยอมขายหุ้นทิ้งให้กับรัฐวิสาหกิจเมียนมา

อย่างไรก็ตาม จากการที่ไทยเบฟมีวิสัยทัศน์ 2020 ต้องการเป็น ผู้นำเครื่องดื่มครบวงจร ทำให้ขยายธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์กระจายทั่วภูมิภาคอาเซียน หนึ่งในนั้นคือเมียนมา..! ด้วยการเข้าไปลงทุนประมาณ 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ผ่าน อีเมอรัลด์ บริวเวอรี (Emerald Brewery) เป็นผู้ผลิตเบียร์ดังกล่าว

โดย อีเมอรัลด์ บริวเวอรี บริหารโดยทีมงานที่มีประสบการณ์ด้านการตลาดมานานหลายปี และมีอาวุธสำคัญในยุคนี้คือการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่จะผลิตเบียร์ช้างคุณภาพสูงภายใต้นโยบายดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน

สำหรับโรงงานดังกล่าว มีกำลังการผลิตรายปีประมาณ 5 แสนเฮกโตลิตร หรือคิดเป็น 50 ล้านลิตร และจะจัดทำเป็นแพคเก็จเพื่อจำหน่ายทั่วประเทศ 5 ขนาดด้วยกัน คือ เบียร์บรรจุขวดขนาด 320 มิลลิลิตร(มล.) ขนาด 620 มล. ขนาด 330 มล. และเบียร์บรรจุกระป๋องขนาด 500 มล. และขนาดใหญ่สุดคือ 30 ลิตร

ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา บริษัทดำเนินการด้านต่างๆเพื่อสร้างความแข็งแกร่งแก่ธุรกิจเบียร์ของกลุ่มไทยเบฟในตลาดเบียร์ไทย เช่น ปี 2558 เปิดตัวช้างคลาสสิก ปี 2560 ลงทุนในบริษัท ไซ่ง่อน เบียร์ แอลกอฮอล์ เบฟเวอเรจ คอร์เปอเรชั่น หรือ ซาเบโก (Sabeco) ผู้ผลิตและจำหน่ายเบียร์เบอร์ 1 ในประเทศเวียดนาม ด้วยเม็ดเงิน 1.56 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จด้วยดี

ทั้งนี้ ทางลัดการซื้อกิจการดังกล่าว ทำให้ไทยเบฟ กลายเป็น เบอร์ 1 เบียร์ ในภูมิภาคอาเซียนด้วย

ขณะที่การผลิตเบียร์ช้างที่อีเมอรัลด์ บริวเวอรี ถือเป็นก้าวย่างต่อไปของการเดินทางของบริษัทในการดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและมีเสถียรภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) กับหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจรวดเร็วที่สุดในภูมิภาคและประชากรมีรายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้น

เมียนมา เป็นตลาดเชิงกลยุทธของเรา ด้วยปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจมหภาคที่แข็งแกร่งและแนวโน้มการบริโภคในประเทศนี้ เราเชื่อว่าการรุกเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศนี้จะสร้างความสำเร็จอย่างใหญ่หลวงแก่เรา

ทั้งนี้ เพื่อให้มาตรฐานคุณภาพของเบียร์ช้างที่ผลิตในเมียนมาสอดคล้องกับคุณภาพเบียร์ช้างที่ผลิตในประเทศต่างๆทั่วโลก ทีมงานของอีเมอรัลด์ บริวเวอรี ต้องเข้ารับการฝึกอบรมเกี่ยวกับกระบวนการผลิตขั้นลึกทั้งที่กรุงเทพฯและในย่างกุ้ง ซึ่งในขั้นตอนการผลิตเบียร์ที่เมียนมา จะใช้มอลท์ที่นำเข้าจากยุโรป ฮอปจากเยอรมนี และสหรัฐ แหละน้ำจากแหล่งต่างๆที่มีสภาพเหมาะสมสำหรับนำมาผลิตเบียร์                  

นอกจากนี้ บริษัทยังดำเนินการผลิตเบียร์ในรูปแบบการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน กล่าวคือจะใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ที่โรงงานในสัดส่วน 30% และใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาบริหารจัดการฟุตพรินท์ด้านสภาพแวดล้อมของบริษัท ส่วนเครื่องจักรที่ใช้ในโรงงานผลิต จะเป็นเครื่องจักรอัจฉริยะช่วยประหยัดพลังงานพัฒนาโดยบริษัทโครนส์ ผู้ผลิตขวดและกระป๋องชั้นนำของโลก ส่วนระบบบำบัดน้ำเสียในโรงงานบริษัทคูโบต้า ของญี่ปุ่นเป็นผู้พัฒนาระบบ

บริษัทอีเมอรัลด์ บริวเวอรี ยังคงลงทุนด้านบุคคลากรและว่าจ้างแรงงานในท้องถิ่นที่มีความรู้ความสามารถในช่วง2-3ปีนับจากนี้ไป เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการผลิต และรองรับการขยายกำลังการผลิตเบียร์ช้างในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่เบียร์ ที่ไทยเบฟรุกหนัก เพราะก่อนหน้านี้ บริษัทได้เข้าซื้อหุ้นใหญ่ 75% ด้วยเม็ดเงินลงทุนสูงถึง 741.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในบริษัท Myanmar Distillery เจ้าของสุราแบรนด์ Grand Royal ครองส่วนแบ่งตลาดใหญ่ที่สุดในเมียนมา

นับวันยิ่งเห็นภาพ “ธุรกิจเครื่องดื่มเบียร์” ของอาณาจักร ไทยเบฟ” แกร่งขึ้นเรื่อยๆ