ดัชนีภาคการผลิตสหรัฐ-ยุโรปดิ่งตอกย้ำปริมาณการค้าโลกสะดุด

ดัชนีภาคการผลิตสหรัฐ-ยุโรปดิ่งตอกย้ำปริมาณการค้าโลกสะดุด

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ส่งผลให้เศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกชะลอตัว ล่าสุด อุตสาหกรรมการผลิตทั้งในสหรัฐ และหลายประเทศในยุโรปพร้อมใจกันปรับตัวลง ถือเป็นสัญญาณลบที่กดดันให้รัฐบาลประเทศต่างๆเตรียมออกมาตรการเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมประเทศตัวเอง

ผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ไอเอสเอ็ม) ระบุว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐดิ่งลงสู่ระดับ 47.8 ในเดือนก.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2552 จากระดับ 49.1 ในเดือนส.ค. โดยดัชนีอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 บ่งชี้ถึงภาวะการหดตัวของภาคการผลิตของสหรัฐ ซึ่งเป็นการหดตัวเป็นเดือนที่ 2

ภาคการผลิตของสหรัฐเริ่มเข้าสู่ภาวะหดตัวในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 3 ปี หลังจากที่มีการขยายตัวติดต่อกัน 35 เดือน ซึ่งภาคธุรกิจมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ส่งผลให้คำสั่งซื้อเพื่อการส่งออกหดตัวลงตั้งแต่เดือนก.ค. โดยการบริโภค คำสั่งซื้อใหม่ สต็อกสินค้าคงคลังเพื่อการส่งออกและนำเข้า หดตัวลงด้วยเหมือนกัน ส่วนภาคธุรกิจมีความเชื่อมั่นลดลง

เมื่อหันไปดูจีน ที่เป็นประเทศคู่กรณีสงครามการค้า ปรากฏว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (พีเอ็มไอ) ภาคบริการของจีนในเดือนส.ค.อยู่ที่ระดับ 52.1 สูงสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ค.ปีนี้ และยังเพิ่มขึ้นจากระดับ 51.6 ในเดือน ก.ค. ซึ่งตลาดมองว่า ภาคการบริการของยุโรป สหรัฐ และไทยก็น่าจะเติบโตดี ซึ่งเป็นตัวหนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก หลังจากที่ภาคการผลิตแย่จากผลกระทบสงครามทางการค้าและคาดว่าจีดีพีจีนจะเติบโต 6%

ส่วนประเทศในยุโรปอย่างอังกฤษ ที่กำลังปวดหัวกับเรื่องเบร็กซิท ไอเอชเอส มาร์กิต/ซีไอพีเอส ระบุว่า ดัชนีพีเอ็มไอ ภาคการผลิตของสหราชอาณาจักร ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 48.3 ในเดือนก.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน จากระดับ 47.4 ในเดือนส.ค. แต่ยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 บ่งชี้ว่า ภาคการผลิตของสหราชอาณาจักรยังคงอยู่ในภาวะหดตัว โดยหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 ซึ่งเป็นช่วงเวลาหดตัวที่ยาวนานที่สุดนับตั้งแต่กลางปี 2552 โดยดัชนีพีเอ็มไอ ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของคำสั่งซื้อใหม่ และการจ้างงาน แม้ว่าความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจฟื้นตัวขึ้น

ด้านแดนกระทิงดุ ไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน ระบุว่า ดัชนีพีเอ็มไอ ภาคการผลิตของสเปน ปรับตัวลงสู่ระดับ 47.7 ในเดือนก.ย. จากระดับ 48.8 ในเดือนส.ค. ยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 บ่งชี้ถึงภาคการผลิตของสเปนที่ยังคงหดตัว เป็นการหดตัวเดือนที่ 4 ติดต่อกัน และหดตัวรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย.2556

ขณะที่ดัชนีพีเอ็มไอ ภาคการผลิตของอิตาลี ปรับตัวลงสู่ระดับ 47.8 ในเดือนก.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือน จากระดับ 48.7 ในเดือนส.ค. อยู่ต่ำกว่าระดับ 50 บ่งชี้ว่า ภาคการผลิตของอิตาลียังคงอยู่ในภาวะหดตัว โดยหดตัวเป็นเดือนที่ 12 ติดต่อกัน

เช่นเดียวกับฝรั่งเศส ที่ดัชนีพีเอ็มไอ ภาคการผลิตร่วงลงสู่ระดับ 50.1 ในเดือนก.ย. จากระดับ 51.1 ในเดือนส.ค. ซึ่งดัชนีพีเอ็มไอของฝรั่งเศส อยู่เหนือระดับ 50 บ่งชี้ว่า ภาคการผลิตของฝรั่งเศสยังคงมีการขยายตัว

มาที่ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างเยอรมนี ดัชนีพีเอ็มไอ ภาคการผลิตของเยอรมนี ปรับตัวลงสู่ระดับ 41.7 ในเดือนก.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2552 จากระดับ 43.5 ในเดือนส.ค. โดยดัชนีพีเอ็มไอ ยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 บ่งชี้ว่า ภาคการผลิตของเยอรมนี ยังคงเผชิญภาวะหดตัว โดยเป็นการหดตัวเป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกัน ขณะที่ได้รับผลกระทบจากการทรุดตัวลงของการจ้างงาน ซึ่งลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.2553 และปรับตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 ขณะที่คำสั่งซื้อใหม่ดิ่งลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย.2552 ส่วนความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจยังคงปรับตัวลงเช่นกัน

การหดตัวลงของดัชนีพีเอ็มไอภาคการผลิตของหลายประเทศในยุโรป และการดิ่งลงต่ำสุดในรอบ10ปีของดัชนีภาคการผลิตสหรัฐ มีขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่องค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ประกาศปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของการค้าโลกในปีนี้ลงสู่ระดับ 1.2% ท่ามกลางความตึงเครียดทางการค้าที่เพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยเมื่อเดือนเมษายน ดับเบิลยูทีโอ คาดการณ์ว่า การขยายตัวของการค้าโลกในปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 2.6%

นอกจากนี้ ดับเบิลยูทีโอ ยังคาดการณ์ว่า การขยายตัวของการค้าโลกในปีหน้าจะอยู่ที่ระดับ 2.7% ลดลงจากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 3.0% พร้อมทั้งระบุถึงความไม่แน่นอนของการทำสงครามการค้า ที่ทำให้ภาคธุรกิจชะลอการลงทุน และลดการจ้างงาน

ดับเบิลยูทีโอ ยังระบุว่า ความขัดแย้งทางการค้าสร้างความเสี่ยงในช่วงขาลงมากที่สุด แต่ภาวะตื่นตระหนกของเศรษฐกิจมหภาค และความผันผวนทางการเงินก็เป็นอีกปัจจัยที่จะทำให้ช่วงขาลงของการค้ารุนแรงขึ้น

สัญญาณย่ำแย่ของเศรษฐกิจโลก ส่งผลกระทบทันทีต่อตลาดหุ้นเอเชีย ทำให้หุ้นเอเชียทุกตลาด ปิดตลาดวานนี้ (2ต.ค.)ปรับตัวลง เริ่มจากดัชนีฮั่งเส็ง ลดลง 49.58 จุด หรือ 0.19% ปิดที่ 26,042.69 จุด ดัชนีคอมโพสิต ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ลดลง 40.51 จุด หรือ 1.95% ปิดที่ 2,031.91 จุด มีปริมาณการซื้อขายปานกลางที่ 406 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่า 3.8 ล้านล้านวอน (3.1 พันล้านดอลลาร์) มีจำนวนหุ้นลบมากกว่าหุ้นบวกในสัดส่วน 650 ต่อ 182

ส่วนดัชนีนิกเกอิ ปิดตลาดร่วงลง 106.63 จุด หรือ 0.49% แตะที่ระดับ 21,778.61 จุด โดยหุ้นที่ปรับตัวลงนำโดยหุ้นกลุ่มเครื่องจักร กลุ่มอุปกรณ์ด้านการขนส่ง และกลุ่มเหมืองแร่