อาเซียนใช้ถ่านหินพุ่ง สวนทางนโยบายพลังงานสะอาด

อาเซียนใช้ถ่านหินพุ่ง สวนทางนโยบายพลังงานสะอาด

นโยบายใช้พลังงานสะอาดของประเทศในอาเซียนยังสวนทางกับความเป็นจริงที่ปริมาณการใช้ถ่านหินในหลายประเทศยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

เรียกได้ว่าถ่านหินยังคงเป็นแหล่งพลังงานหลักที่ภูมิภาคนี้พึ่งพา มาดูกันว่า มีการใช้พลังงานที่ก่อมลภาวะให้กับโลกมากน้อยแค่ไหนทั้งระดับโลกและภูมิภาคอาเซียน

ผลศึกษาของวู้ด แมคเคนซี คาดการณ์ว่า ถ่านหินยังเป็นแหล่งเชื้อเพลิงหลัก ที่นำมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่งผลให้มีการใช้ถ่านหินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและจะทะยานสูงสุดในปี 2570

ในส่วนของรัฐบาลอินโดนีเซีย แม้ตั้งเป้าผลิตกระแสไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนให้ได้ 23% เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 12% เกือบ2เท่า แต่การทำให้ได้ตามเป้าไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะแผนการที่จะเพิ่มการผลิตกระแสไฟฟ้าในประเทศยังคงต้องพึ่งพาแหล่งพลังงานที่ทำลายสภาพแวดล้อมอย่างถ่านหิน

ขณะที่ ข้อมูลด้านพลังงานของสำนักงานพลังงานสากล(ไออีเอ)ระบุว่า ความต้องการถ่านหินทั่วโลกเพิ่มขึ้นสองเดือนติดต่อกันเมื่ปี 2561 ที่อัตรา 0.7% สวนทางกับรายงานจากหลายประเทศเมื่อไม่นานมานี้ที่บ่งชี้ว่า รัฐบาลทั่วโลกพากันหันไปพึ่งพาพลังงานสะอาดอย่างจริงจัง

“ภาพลักษณ์ของถ่านหินในทุกวันนี้เป็นแหล่งพลังงานที่ไม่ดี ไม่เหมาะนำมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า จึงทำให้ปริมาณการใช้ถ่านหินใหม่ๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ค่อยๆลดลงแต่ความเป็นจริงที่ว่าความต้องการถ่านหินยังคงเพิ่มขึ้นและเป็นแหล่งพลังงานที่ภูมิภาคนี้ยังคงจ่ายไหว หมายความว่าเราจะได้เห็นการลดลงของปริมาณการใช้ถ่านหินหลังปี 2573ไปแล้ว ขณะนี้ ถ่านหิน ยังคงเป็นราชาในตลาดพลังงานของตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” แจคเกอลีน เทา ซึ่งร่วมทำงานวิจัยชิ้นนี้จากวู้ด แมคเคนซี บริษัทที่ปรึกษาด้านโภคภัณฑ์ กล่าว

สิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้ สอดคล้องกับรายงานแนวโน้มพลังงานโลกปี 2060 ของไออีเอ ที่คาดการณ์ว่า ในอีก 20 ปีข้างหน้า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะบริโภคถ่านหินมากขึ้น เนื่องจากเป็นเชื้อเพลิงที่หาได้ง่ายและต้นทุนต่ำ แม้ว่าจะมีความพยายามในการเพิ่มกำลังผลิตจากพลังงานหมุนเวียนก็ตาม

“อาเซียน รวมไปถึงอินเดีย และประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ในเอเชีย เป็นศูนย์กลางการเติบโตหลักของความต้องการถ่านหินที่เพิ่มขึ้นของโลก” ไออีเอ ระบุและว่าในอีก 25 ปีข้างหน้า ปริมาณการใช้ถ่านหินที่เพิ่มขึ้นนั้น จะนำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าถึง 3 ใน 4

ในปี 2583 สัดส่วนการใช้ถ่านหินเพื่อผลิตไฟฟ้าในอาเซียนจะเพิ่มขึ้นจาก 35% ในปัจจุบัน เป็น 40% ขณะที่สัดส่วนการใช้พลังงานจากก๊าซธรรมชาติคาดว่าจะลดลงเหลือน้อยกว่า 30% จากปัจจุบันที่มีสัดส่วน 45%

รายงานของไออีเอฉบับนี้ ยังระบุด้วยว่า ประเทศที่กำลังพัฒนา อย่าง เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ไทย และปากีสถาน จะต้องหันมาพึ่งพาพลังงานถ่านหินจากต่างประเทศมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการด้านพลังงานภายในประเทศ ขณะที่ การนำเข้าถ่านหินของประเทศพัฒนาแล้ว อย่าง สหภาพยุโรป(อียู) ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รวมไปถึงจีนจะลดลง

ส่วนอินเดีย เป็นเป้าหมายหลักของบรรดาประเทศผู้ส่งออกถ่านหินทั่วโลก เนื่องจากความต้องการใช้ถ่านหินในอินเดียเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยปีละ 3.2% ตแต่ความต้องการที่มากขึ้นอาจไม่ได้ทำให้เกิดการนำเข้าเพิ่มขึ้นเสมอไป เพราะกำลังผลิตถ่านหินในประเทศอินเดียเพิ่มขึ้นมาก รวมไปถึงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

อินเดียได้พัฒนาพลังงานหมุนเวียนควบคู่กับโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยคาดว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินในอินเดียกำลังผลิตอีก 370,000 เมกะวัตต์ จะเดินเครื่องภายในปี 2583 ในจำนวนนี้ 50,000 เมกะวัตต์ ได้เริ่มดำเนินการผลิตแล้ว แต่การผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ที่มากขึ้น อาจทำให้เกิดการแข่งขันในอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าที่รุนแรงขึ้น เนื่องจากต้นทุนของแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ลดลง และอาจช่วยให้ความต้องการถ่านหินในอนาคตลดลง

ไออีเอ ประเมินด้วยว่า ประเทศที่ส่งออกถ่านหิน อย่าง ออสเตรเลีย จะส่งออกถ่านหินมากขึ้น แม้ว่าราคาถ่านหินจะถูกลง แต่เหมืองถ่านหินในออสเตรเลียก็ปรับตัวอย่างต่อเนื่องด้วยการปรับลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกถ่านหินอันดับต้นๆ ของโลก วางแผนผลิตถ่านหินให้ได้ 400 ล้านตัน ในปี 2562 โดยเน้นใช้ภายในประเทศเป็นหลัก ทำให้แนวโน้มการส่งออกถ่านหินในอินโดนีเซียมีปริมาณลดลง แต่ไออีเอ มั่นใจว่า ประเทศผู้ส่งออกถ่านหินอื่นๆ จะเข้ามาทดแทนปริมาณส่งออกที่หายไปของอินโดนีเซีย

อย่างไรก็ตาม ด้วยกระแสสิ่งแวดล้อมที่กำลังมาแรง ทำให้ธนาคารต่างๆไม่สนใจที่จะให้การสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการต่างๆที่ใช้ถ่านหินเป็นแหล่งพลังงาน แต่หันไปสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการที่ใช้แหล่งพลังงานสะอาด และพลังงานที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้

วู้ด แมคเคนซี ประเมินว่า โรงงานผลิตพลังงานจากลมและพลังงานแสงอาทิตย์จะเป็นแหล่งพลังงานหลักที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นำมาใช้ร่วมกับถ่านหินในการผลิตกระแสไฟฟ้าในสัดส่วน 35% ในปี 2583 ส่วนการลงทุนด้านพลังงานจากแสงอาทิตย์และพลังงานจากลมจะขยับเพิ่มขึ้นเป็น 23% ของการลงทุนด้านพลังงานโดยรวม มีมูลค่ากว่า 89,000 ล้านดอลลาร์ตั้งแต่ปี 2562-2593

บรรดาบริษัทที่ใช้ถ่านหินในจีน มั่นใจว่าปริมาณการใช้ถ่านหินจะลดลงประมาณ 3% ภายในปี 2566 และถึงแม้ว่ารัฐบาลจีนสนับสนุนให้ลดการสร้างมลภาวะเพื่อบรรเทาปัญหาสภาพอากาศเลวร้ายตามเมืองใหญ่แต่จีนก็ลงทุนสูงมากในโครงการต่างๆที่มีการใช้ถ่านหิน โดยเฉพาะโครงการพัฒนา่โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐบาลปักกิ่งอย่างโครงการริเริ่มเส้นทางสายไหมใหม่