ผู้ประกอบการแห่ขอไลเซ่นส์‘พิโกไฟแนนซ์’ คลังหวังช่วยแก้'หนี้นอกระบบ'

ผู้ประกอบการแห่ขอไลเซ่นส์‘พิโกไฟแนนซ์’ คลังหวังช่วยแก้'หนี้นอกระบบ'

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง รายงานความคืบหน้าการแก้ไขปัญหา “หนี้นอกระบบ” ประจำเดือนส.ค.2562 ผ่านสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ พิโกพลัส และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ  รวมถึงสินเชื่อฉุกเฉินผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจการของรัฐ 

“พรชัย ฐีระเวช” ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษก สศค.  เปิดเผยว่า ในเดือนส.ค.2562  จำนวนผู้สนใจยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) ทั้งประเภทพิโกไฟแนนซ์ และประเภทพิโกพลัส ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ทั้ง 2 ประเภท สามารถให้บริการสินเชื่อโดยรับสมุดคู่มือทะเบียนรถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือรถเพื่อการเกษตรเป็นประกัน หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “สินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน” หรือ “สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ” ได้ด้วย

ในส่วนสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ นับตั้งแต่ธ.ค.2559-ส.ค. 2562 มีนิติบุคคลยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจทั้งประเภทพิโกไฟแนนซ์และประเภทพิโกพลัสรวม 1,183 ราย ใน 76 จังหวัด โดยจังหวัดที่มีผู้ยื่นคำขออนุญาตมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา (105 ราย) กรุงเทพมหานคร (91 ราย) และขอนแก่น (63 ราย) ตามลำดับ 

อย่างไรก็ดี ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวมีนิติบุคคลที่คืนคำขออนุญาตจำนวนทั้งสิ้น 125 ราย ใน 51 จังหวัด จึงคงเหลือนิติบุคคลที่ยื่นคำขออนุญาตสุทธิเป็นจำนวน 1,058 ราย ใน 75 จังหวัด และมียอดสะสมของผู้ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ทั้ง 2 ประเภท จำนวนทั้งสิ้น 680 ราย ใน 72 จังหวัด ซึ่งได้แจ้งเปิดดำเนินการแล้วจำนวน 577 ราย ใน 67 จังหวัด และมีผู้ประกอบธุรกิจที่ปล่อยสินเชื่อแล้วจำนวน 527 ราย ใน 66 จังหวัด โดยแบ่งเป็น

1.สินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์ มีผู้ยื่นคำขออนุญาตสุทธิทั้งสิ้น 971 ราย ใน 75 จังหวัด โดยมีผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์แล้วจำนวน 670 ราย ใน 72 จังหวัด และมีผู้เปิดดำเนินการแล้วจำนวน 569 รายใน 67 จังหวัด

2.สินเชื่อประเภทพิโกพลัส มีผู้ยื่นคำขออนุญาตสุทธิทั้งสิ้น 87 ราย ใน 33 จังหวัด ประกอบด้วยผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์เดิมซึ่งได้รับใบอนุญาตและเปิดดำเนินการแล้วมายื่นขอเปลี่ยนใบอนุญาตเป็นสินเชื่อประเภทพิโกพลัส จำนวน 59 ราย ใน 27 จังหวัด และเป็นนิติบุคคลที่ยื่นคำขอใหม่จำนวน 28 ราย ใน 27 จังหวัด โดยมีผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกพลัสแล้วจำนวน 10 ราย ใน 6 จังหวัด และมีผู้เปิดดำเนินการแล้วจำนวน 8 รายใน 5 จังหวัด

สำหรับยอดสินเชื่ออนุมัติสะสมและยอดสินเชื่อคงค้างรวม ณ สิ้นเดือนก.ค.2562  มียอดสินเชื่ออนุมัติสะสมจำนวน 106,620 บัญชี รวม 2,781.29 ล้านบาท เฉลี่ย 26,085.97 บาทต่อบัญชี ประกอบด้วย สินเชื่อแบบมีหลักประกันจำนวน 50,815 บัญชี เป็นเงิน 1,531.59 ล้านบาท คิดเป็น 55.07%  ของยอดสินเชื่ออนุมัติสะสม และสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกันจำนวน 55,805 บัญชี เป็นเงิน 1,249.70 ล้านบาท คิดเป็น 44.93% ของยอดสินเชื่ออนุมัติสะสม

ด้านยอดสินเชื่อคงค้างมี 35,428 บัญชี เป็นเงิน 1,004.50 ล้านบาท โดยมีสินเชื่อคงค้างชำระ 1-3 เดือน จำนวน 4,652 บัญชี เป็นเงิน 145.90 ล้านบาท หรือ 14.52% ของยอดสินเชื่อคงค้างรวม และมีสินเชื่อคงค้างชำระที่เกินกว่า 3 เดือน (NPL) จำนวน 3,417 บัญชี เป็นเงิน 97.20 ล้านบาท หรือ 9.68% ของยอดสินเชื่อคงค้างรวม

สินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน นับตั้งแต่เดือนมี.ค.25560 ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้อนุมัติสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน สำหรับเป็นทางเลือกให้กับประชาชนในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ ทดแทนหนี้นอกระบบรายละไม่เกิน 50,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ย 0.85% ต่อเดือน โดยได้เร่งกระจายความช่วยเหลือด้านสินเชื่อดังกล่าวแก่ประชาชนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ 

ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนส.ค. 2562 มีการอนุมัติสินเชื่อรวม 620,998 ราย เป็นจำนวนเงิน 27,354.97 ล้านบาท จำแนกเป็นสินเชื่อที่อนุมัติแก่ประชาชนทั่วไปจำนวน 575,717 ราย เป็นจำนวนเงิน 25,401.76 ล้านบาท และสินเชื่อที่อนุมัติให้กับผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้นอกระบบในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2560 จำนวน 45,271 ราย เป็นจำนวนเงิน 1,953.21 ล้านบาท

ด้านการดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่กระทำผิดกฎหมาย สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังคงกวดขันจับกุมผู้ปล่อยเงินกู้นอกระบบและผู้ติดตามทวงถามหนี้โดยวิธีการผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง โดยผลการดำเนินการจับกุมผู้กระทำผิดสะสมนับตั้งแต่เดือนต.ค.2559 ถึงสิ้นเดือนส.ค.2562 มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 5,279 คน

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังคงดำเนินการร่วมกับหน่วยงานภาคีแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่องใน 5 มิติ ได้แก่ 1.ดำเนินการจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่ผิดกฎหมาย 2.เพิ่มช่องทางการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ 3.ลดภาระหนี้นอกระบบโดยการไกล่เกลี่ย 4.เพิ่มศักยภาพลูกหนี้นอกระบบ และ 5.สนับสนุนการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบโดยองค์กรการเงินชุมชน ซึ่งประชาชนสามารถติดตามข้อมูลข่าวสาร และรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ที่เปิดดำเนินการได้ทางเว็บไซต์ www.1359.go.th