GetZTrac บริการเกี่ยวตามสั่ง อาศัยห้องเรียน AGrowth ยกระดับภาพลักษณ์-เชื่อมั่น

GetZTrac บริการเกี่ยวตามสั่ง อาศัยห้องเรียน AGrowth ยกระดับภาพลักษณ์-เชื่อมั่น

GetZTrac บริการเกี่ยวตามสั่ง 1 ใน 10 สตาร์ทอัพจาก 5 ประเทศที่ผ่านการคัดเลือกให้เข้ารับการบ่มเพาะในโครงการเร่งสร้างวิสาหกิจเริ่มต้นด้านการเกษตรระดับนานาชาติ หรือ AGrowth หวังยกระดับภาพลักษณ์และเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้าเกษตรกร

เปรมศักดิ์ ทานน้ำใจ ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง GetZTrac (เก็ทแทรค) แอพพลิเคชั่นการจัดหาเครื่องจักรการเกษตรให้บริการแก่เกษตรกร หนึ่งใน 10 สตาร์ทอัพที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วม “โครงการเร่งสร้างวิสาหกิจเริ่มต้นด้านการเกษตรระดับนานาชาติ” หรือ AGrowth กล่าวว่า AGrowth จะช่วยเผยแพร่ภาพลักษณ์ให้บริษัท ทำให้เกษตรกรมีความมั่นใจมากขึ้น ช่วยเพิ่มยอดการใช้งานของแอพพลิเคชั่นได้ จากปัจจุบันมีเครือข่ายผู้ให้บริการเครื่องจักรการเกษตรลงทะเบียนรับงานในเก็ทแทรคประมาณ 500 ราย ยอดดาวน์โหลดที่เป็นเกษตรกรประมาณ 5 พันกว่าดาวน์โหลด และมีกว่า 1 พันการจองใช้งาน ส่วนพื้นที่ให้บริการครอบคลุมกว่า 8 จังหวัดในพื้นที่ภาคกลาง ภาคเหนือตอนล่างและภาคอีสานตอนบน ในอนาคตจะขยายให้ครอบคลุมทุกจังหวัด

เก็ทแทรค เป็น แอพพลิเคชั่นสัญชาติไทย ที่จะเปิดโอกาสในเกษตรกรเข้ามาหาจ้างผู้ให้บริการอุปกรณ์การเกษตรได้ในแอปพลิเคชันของเรา เรามีเป้าหมายที่จะให้เกษตรกรทุกคนสามารถเข้าถึงอุปกรณ์ทางด้านการเกษตรได้อย่างเท่าเทียมโดยมีนโยบายดูแลเกษตรกรคือ “ราคาเป็นธรรม ผู้ให้บริการมาตรงวันและเวลาที่ต้องการ รับประกันคุณภาพงาน ชำระเงินได้ง่ายด้วยวิธีการโอนเงิน โดยมีระยะเวลาชำระเงินหลังจากเก็บเกี่ยวได้ยาวนาถึง 15 วัน เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรได้มีเวลาในการวางแผนการเงินที่ดีขึ้น” ทั้งยังเป็นช่องทางหางานและเพิ่มรายได้ สำหรับผู้ให้บริการอุปกรณ์การเกษตรที่มาร่วมกับเครือข่ายอีกด้วย จึงเป็นเหมือน machine matching สำหรับเกษตรกรที่ต้องการจองใช้บริการล่วงหน้าเครื่องจักรกลการเกษตรต่างๆ ตอบโจทย์ปัญหาในเรื่องรถเกี่ยวข้าวขาดแคลน เกษตรกรถูกเรียกค่าบริการแพงกว่าที่ควรจะเป็น หรือแม้กระทั่งจ้างรถเกี่ยวข้าวแล้วไม่มาตามนัด นอกจากนี้ยังมีฟังก์ชันที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร ทั้งเรื่องของพยากรณ์อากาศและอัพเดทราคาสินค้าเกษตร

เก็ทแทรค ต้องการที่จะพัฒนาแอพพลิเคชันเพื่อที่ เกษตรกร จะได้ก้าวสู่ยุค 4.0 อย่างมีประสิทธิภาพ และยกระดับคุณภาพชีวิตให้ที่ตัวเกษตรกรเองและเจ้าของอุปกรณ์ บริษัทจึงให้ความสำคัญกับ “ดาต้า” ทั้งจำนวน เกษตรกร และพื้นที่เพาะปลูกกว่า 70 ล้านไร่ การเก็บข้อมูลยังเป็นปัญหาใหญ่ที่เราต้องลงทุนจ้างเพื่อทำวิจัยการตลาด แต่ว่าแอพพลิเคชั่นก็ทำให้ได้ข้อมูลเกษตรกรมาส่วนหนึ่งจากการลงทะเบียน ซึ่งทั้งหมดถูกเก็บในดาต้าและสามารถนำไปเสริมกับข้อมูลของภาครัฐและเอกชนได้ ไม่ว่าจะเป็น การวางแผนการผลิต การพยากรณ์เส้นทางระบาดของโรคพืชโรคแมลง ในอนาคตมีแผนที่จะเพิ่มบริการอื่นๆ สำหรับการดำนา งานอัดฟาง เพื่อให้การทำงานของแอพพลิเคชั่นสามารถช่วยภาคเกษตรได้อย่างครบวงจร

ทั้งนี้ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ เอ็นไอเอ ร่วมกับบริษัท เนสท์ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน และบริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดตัวโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพด้านนวัตกรรมการเกษตรระดับนานาชาติ หรือ AGrowth ครั้งแรกในประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนธุรกิจและผู้ประกอบการจากทั่วโลก ในการส่งผ่านนวัตกรรมและเทคโนโลยีอันทันสมัยที่จะขับเคลื่อนไปสู่ผลลัพธ์เชิงบวกต่ออนาคตของอุตสาหกรรมการเกษตรของประเทศไทย นอกจากนี้ NIA และหน่วยงานพันธมิตรจะร่วมกันพัฒนา 10 สตาร์ทอัพจาก 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย อินเดีย ไนจีเรีย และออสเตรเลีย ให้มีการเติบโตทั้งในด้านช่องทางการขยายธุรกิจ การตลาด และนำโซลูชั่นมาทดลองและแก้ปัญหาจริงให้กับเกษตรกรที่อยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ในประเทศไทย โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการพัฒนาภาคการเกษตรการเป็น "เกษตรอัจฉริยะ"