คลังลุ้นชิมช้อปใช้กระตุ้นจีดีพี0.3%

คลังลุ้นชิมช้อปใช้กระตุ้นจีดีพี0.3%

คลังคาดยอดใช้จ่ายชิมช้อปใช้สูง 6 หมื่นล้านบาท ช่วยกระตุ้นจีดีพีปีนี้ 0.2-0.3% ขณะที่ ระบบเปิดให้ลงทะเบียนต่อหลังลงทะเบียน 10 วัน มีผู้ไม่ผ่านเกณฑ์เฉลี่ย 2 แสนรายต่อวัน ส่วนยอดใช้จ่าย 5 วันแรกเพิ่มเป็น 628 ล้านบาท

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)ระบุว่า สศค.คาดหวังจะมีเม็ดเงินจากยอดใช้จ่ายจากโครงการชิมช้อปใช้ราว 6 หมื่นล้านบาทไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีส่วนกระตุ้นจีดีพีปีนี้ให้สามารถขยายตัวได้เพิ่ม 0.2-0.3%

ทั้งนี้ ในจำนวน 6 หมื่นล้านบาทดังกล่าวนั้น จะแบ่งเป็น 2 ส่วน ซึ่งส่วนแรกจะมาจากการแจกเงิน 1 พันบาทให้สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ 10 ล้านราย เป็นเงินรวม 1 หมื่นล้านบาท และ ส่วนที่สองจะมาจากการใช้จ่ายจากเงินในกระเป๋าของประชาชน ซึ่งเราคาดว่า จะมีการใช้จ่ายราว 3 ล้านราย คิดเป็นยอดใช้จ่ายเฉลี่ยรายละ 1.35 หมื่นบาท รวมเป็นเงิน 5 หมื่นล้านบาท

เขากล่าวด้วยว่า ในช่วง 10 วันแรก มีผู้ลงทะเบียนรับสิทธิ์มาตรการชิมช้อปใช้เต็มตามโควตา 1 ล้านรายทุกวัน โดยมีผู้ลงทะเบียนไม่ผ่านวันละประมาณ 2 แสนราย ซึ่งระบบจะเปิดให้ลงทะเบียนต่อเนื่องจนกว่าจะครบ 10 ล้านราย โดยสิ้นสุดการลงทะเบียนในวันที่ 15 พ.ย.นี้

ทั้งนี้ การตรวจสอบสิทธิ์ผู้ลงทะเบียน 7 วันแรกเสร็จสิ้นแล้ว โดยมีผู้ได้รับสิทธิ์ 5.53 ล้านราย ซึ่งผู้ลงทะเบียน 6 วันแรกได้รับ SMS ยืนยันสิทธิ์แล้วจำนวน 4.72 ล้านราย สำหรับอีก 8.14 แสนราย จะได้รับภายในวันนี้

ทั้งนี้ มีผู้เข้ายืนยันตัวตนในแอปพลิเคชัน“เป๋าตัง”แล้ว 3.9 ล้านราย โดยยืนยันตัวตนสำเร็จ 2.71 ล้านราย มีผู้ที่ยังไม่ได้ติดตั้งแอปพลิเคชัน 8.21 แสนราย และที่อยู่ระหว่างการติดตั้ง 1.1 ล้านราย

ในการใช้จ่าย 5 วันแรก มีผู้ใช้สิทธิ์จำนวน 7 แสนราย มีการใช้จ่ายรวมประมาณ 628 ล้านบาท ซึ่งเป็นการใช้จ่าย g-Wallet ช่อง 1 ประมาณ 621 ล้านบาท

โดยเป็นการใช้จ่ายที่ร้าน“ช้อป”ซึ่งเป็นร้านในกลุ่ม OTOP ร้านวิสาหกิจชุมชน รวมทั้งร้านธงฟ้าประชารัฐกว่า 50% หรือประมาณ 330 ล้านบาท ส่วนร้าน “ชิม” หรือร้านอาหารและเครื่องดื่ม มียอดใช้จ่ายประมาณ 98 ล้านบาท ร้าน “ใช้” เช่น โรงแรม โฮมสเตย์ เป็นต้น มียอดใช้จ่ายประมาณ 10 ล้านบาท และร้านค้าทั่วไป มียอดใช้จ่ายประมาณ 183 ล้านบาท

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่า มีการใช้จ่ายในร้านค้าขนาดใหญ่ที่มีหลายสาขาประมาณ 142 ล้านบาท หรือเพียง 22% ของยอดใช้จ่ายทั้งหมด

สำหรับการใช้จ่าย g-Wallet ช่อง 2 มีผู้ใช้สิทธิ์แล้วจำนวน 2.9 พันราย มียอดใช้จ่ายประมาณ 7.5 ล้านบาท หรือเฉลี่ยรายละประมาณ 2.53 พันบาท โดยเป็นการใช้จ่ายที่ร้าน “ช้อป” ประมาณ 5 ล้านบาท ส่วนร้าน “ชิม” และร้าน “ใช้” มียอดใช้จ่ายใกล้เคียงกันที่ประมาณ 1 ล้านบาท 

เมื่อพิจารณาจากจังหวัดที่มีการใช้จ่ายมากที่สุด พบว่า 10 อันดับแรก ได้แก่ 1.กรุงเทพฯประมาณ 87 ล้านบาท 2.ชลบุรีประมาณ 48 ล้านบาท 3. สมุทรปราการประมาณ 29 ล้านบาท 4.ระยองประมาณ 20 ล้านบาท 5. ปทุมธานีประมาณ 20 ล้านบาท

6.พระนครศรีอยุธยาประมาณ 19 ล้านบาท 7.ลำพูนประมาณ 18 ล้านบาท 8.เชียงใหม่ประมาณ 17 ล้านบาท 9.นครปฐมประมาณ 17 ล้านบาท และ 10.นนทบุรี ประมาณ 15 ล้านบาท 

ทั้งนี้ กลุ่มที่มีการใช้จ่ายมากที่สุด คือ ช่วงอายุ 22-30 ปี ประมาณ 35%รองลงมาคือช่วงอายุ 31-40 ปี ประมาณ 30% 

เขากล่าวเพิ่มเติมว่า จากการตรวจสอบปัญหาในการยืนยันตัวตน พบว่า ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับแสงที่อาจสว่างเกินไปหรือผิดตำแหน่งในขณะถ่ายภาพ รวมทั้งการถ่ายโดยใช้แอปพลิเคชันตกแต่งภาพที่ทำให้ภาพไม่เหมือนจริง ซึ่งที่ผ่านมา ธนาคารกรุงไทยฯ ได้มีการติดตามเพื่อให้คำแนะนำแก่ผู้ที่ยืนยันตัวตนไม่สำเร็จวันละกว่า 5 พันราย และมีผู้ไปยืนยันตัวตนผ่านธนาคารแล้วกว่า 2 แสนราย ซึ่งขณะนี้ ธนาคารกรุงไทยฯ อยู่ระหว่างการปรับปรุงระบบการยืนยันตัวตนให้รวดเร็วขึ้น โดยคาดว่าจะใช้เวลาอีก 1-2 วัน