“ทีวี”แห่เขย่าผังชิงเรทติ้ง สู้ศึกระลอกใหม่ หลัง 7 ช่องยกธงขาว 

“ทีวี”แห่เขย่าผังชิงเรทติ้ง สู้ศึกระลอกใหม่ หลัง 7 ช่องยกธงขาว 

ทีวีดิจิทัล เร่งปรับทัพธุรกิจ เขย่าผัง ชิงงบโฆษณา สู้ศึกระลอกใหม่ หลัง 7 ช่องลาจอ “เนชั่นทีวี” ชูช่องข่าวเบอร์1 “ช่อง3”กระจายเสี่ยง เจาะออนไลน์ “อมรินทร์ทีวี” ลุยออมนิชาแนล “ทีเอ็นเอ็น” ชูข่าวเศรษฐกิจ “พีพีทีวี” งัดคอนเทนท์เด็ด ปั๊มรายได้

ย้อนไป 5 ปี ประเทศไทยมีการเปลี่ยนผ่านระบบโทรทัศน์แบบอนาล็อกไปสู่ดิจิทัล โดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดให้มีการประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัล(ไลเซ่นส์) ผู้ผลิตคอนเทนท์ที่เคยเช่าเวลาช่อง 3 5 7 9 ที่ “ทุนหนา” และบรรดา “มหาเศรษฐี” ผู้มั่งคั่ง ต่างตบเท้าเข้าประมูลเพื่อเป็น “เจ้าของช่อง” ทำให้มีเงินนำส่งเข้ารัฐทะลุ 5 หมื่นล้านบาท เกิดทีวีดิจิทัลทั้งสิ้น 24 ช่อง ในจำนวนนี้เป็นช่องธุรกิจ 22 ช่อง

ทว่าเพียงปีแรกของการทำธุรกิจก็เกิดเสียงโอดครวญดังจากผู้ประกอบการทีวีเพราะกระบวนการ“เปลี่ยนผ่าน”ทีวีอนาล็อกสู่ดิจิทัล ไม่ง่าย ทั้งโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล (Mux)ที่ยังไม่พร้อมไม่ครอบคลุมการแจกคูปองเพื่อแลกกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิทัลที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายเป็นต้น

นอกจากนี้ ยังเผชิญ “สึนามิลูกใหญ่” ที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะกระเทือนธุรกิจจนซวนเซ คือ“ดิจิทัล ดิสรัปชัน”เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างสิ้นเชิง จากเคยเฝ้าหน้าจอทีวีดูรายการโปรดก็หันไปเสพติดมือถือ ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์(โซเชียลมีเดีย) จนความนิยมของรายการโทรทัศน์ หรือ“เรทติ้ง”ทั้งช่องใหญ่ “ลดฮวบ” ส่วนช่องใหม่ “ไม่กระเตื้อง” สุดท้ายทำให้เม็ดเงินโฆษณา“แสนล้าน”ที่ทุกฝ่ายหมายปองผิดแผน

นอกจากเม็ดเงินโฆษณาไม่เข้ามายังช่องสร้างรายได้ ยังฉุดให้ธุรกิจ “ขาดทุน” ยับเยิน นำไปสู่การเรียกร้องรัฐเพื่อหาทางออก กระทั่ง คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ(คสช.) ต้องออกประกาศ เปิดทางให้ผู้ประกอบการทีวี “คืนช่อง” โดยมี 7 ช่องขอลาจอ ได้แก่ ไบรท์ทีวี 20 ,วอยซ์ทีวี 21 ,เอ็มคอต แฟมิลี่ 14, สปริงนิวส์ 19 ,สปริง 26  ,ช่อง3แฟมิลี่13 และช่อง3 เอสดี 28  

โดย 30 ก.ย.ที่ผ่านมา 2 ช่องของบีอีซี เวิลด์ หรือช่อง 3 “จอดำ” เป็นลำดับสุดท้าย ทำให้เหลือทีวีดิจิทัลประเภทธุรกิจ 15 ช่อง รวมกับทีวีสาธารณะอีก 4 ช่อง ได้แก่ ไทยพีบีเอส ,เอ็นบีที ,ช่อง5 และช่องรัฐสภา จะมีทีวีดิจิทัลรวมกันทั้งสิ้น 19 ช่อง

10 ปีที่เหลือของการถือไลเซ่นส์ทีวีดิจิทัล ผู้ประกอบการ 15 ช่อง ปรับทัพกันอย่างไร เพื่อสู้ศึกจอแก้ว และดิจิทัล ดีสรัปชั่น รวมไปถึง “ปัจจัยภายนอก” ที่มองไม่เห็นและยากจะคาดการณ์ในอนาคต ขณะที่เม็ดเงินโฆษณาทรุดลงต่อเนื่อง โดยนีลเส็น(ประเทศไทย) เผย 8 เดือนแรกของปีนี้ เม็ดเงินโฆษณาทีวี มีมูลค่า 44,577 ล้านบาท หดตัว 0.88% ขณะที่เดือนส.ค.เดือนเดียว มีมูลค่า 5,684 ล้านบาท หดตัว 0.77%

bb55dbe5a75jcd68e9k7f

สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม

**"เนชั่นทีวี" ย้ำจุดแข็งช่องข่าวเบอร์ 1

นายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม ประธานกรรมการบริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลช่องเนชั่นทีวี 22 เปิดเผยว่า แม้ภาพรวมธุรกิจทีวีดิจิทัลจะเหลือผู้เล่นน้อยลง หลังจากมีการคืนไลเซ่นส์ไป 7 ช่อง แต่แนวโน้มของธุรกิจยังคงเผชิญความท้าทายจากพฤติกรรมคนดูที่ลดลง เนื่องจากมีเทคโนโลยี สื่อดิจิทัลใหม่ๆที่เข้ามาดิสรัปธุรกิจต่อเนื่อง

ขณะที่ปี 2555 ภาพรวมเม็ดเงินโฆษณา 1.12 แสนล้านบาท ปี 2561 อยู่ที่ 8.7 หมื่นล้านบาท ลดลง 30% ซ้ำร้ายยังกระจายไปยังแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น และล้วนเป็นของต่างประเทศเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ค ยูทูปฯ กระเทือนเม็ดเงินโฆษณาทางทีวี โดยปี 2555 ทีวีครองเม็ดเงินโฆษณา 7.28 หมื่นล้านบาท ปี 2561 อยู่ที่ 47,781 ล้านบาท ลดลง 35% สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนเม็ดเงินโฆษณาที่หายไปจากจอแก้วต่อเนื่อง

ขณะที่สถานการณ์ดังกล่าว เนชั่นทีวี 22 ในฐานะผู้นำช่องข่าวอันดับ 1 ที่ผ่านมาได้ปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อสร้างการเติบโตรายได้ มีการผลิตรายการเพื่อป้อนสื่อทุกแพลตฟอร์มทั้งทีวี ออนไลน์ หรือนิวมีเดีย ซึ่งปัจจุบันเติบโตต่อเนื่อง ขณะที่คอนเทนท์ข่าวยังเพิ่มความเข้มข้นของเนื้อหา ตลอดจนเพิ่มรายการสด ให้ทันเหตุการณ์ หรือเรียลไทม์ ตอบโจทย์ผู้ชมมากขึ้น

“นโยบายของประธานกรรมการ และประธานกรรมการบริหาร เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป (ฉาย บุนนาค) ระบุชัดเจนให้เราเปลี่ยนตัวเอง สู่การเป็นคอนเทนท์โปรวายเดอร์ และสร้างฐานข้อมูล เชื่อมทุกแพลตฟอร์มสื่อ เพื่อเข้าถึงคนดูให้ครอบคลุมมากที่สุด ซึ่งหลังจากที่ทีมบริการใหม่เข้ามาและปรับตัวทางธุรกิจ ช่องเนชั่นเรทติ้ง เพิ่มขึ้น 300% และมีส่วนทำให้ครึ่งปีแรกมีกำไรกว่า 400 ล้านบาท”

อาริยะ พนมยงค์

อริยะ พนมยงค์

**ช่อง 3 เร่งธุรกิจใหม่ กระจายเสี่ยง 

นายอริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ช่อง 3 ให้ความสำคัญกับกระจายความเสี่ยงด้านรายได้ จากปัจจุบันละครทำเงินให้ช่องสัดส่วนสูงสุดถึง 80% ข่าวต่ำกว่า 10% ที่เหลือเป็นรายการวาไรตี้ จากนี้ไปช่องทางทำเงินใหม่จะมาจากการนำคอนเทนท์ละครไปขายในตลาดต่างประเทศมากขึ้น และรุกช่องทางออนไลน์(โอทีที) ไม่ว่าจะเป็นไลน์ทีวี เน็ตฟลิกซ์ สร้างสัดส่วนรายได้ธุุรกิจใหม่ 10%

นอกจากนี้ คอนเทนท์ข่าวซึ่งอดีตเคยทำเงินให้ช่อง 3 สัดส่วนกว่า 10% ก่อนจะลดเหลือ 1 หลักในปัจจุบัน บริษัทจะกลับมาโฟกัสมากขึ้น ด้วยการปรับโครงสร้างยุบ 9 โต๊ะข่าวเหลือ 1 โต๊ะ ลดจำนวนพนักงานร่วมร้อยชีวิต ล่าสุดได้ทรานส์ฟอร์ม เขย่าผังรายการข่าว และปรับโพสิชั่นนิ่งรายการข่าวใหม่เป็น “ข่าวจริง ทันเหตุการณ์ พึ่งพาได้” เน้นเสนอข่าว 3 หมวด ได้แก่ อาชญากรรม สังคม และบันเทิง ต้นปีหน้าช่องจะปรับคอนเทนท์ละคร และรายการวาไรตี้ สร้างความแข็งแกร่ง โกยเรตติ้งเพิ่ม เพื่อดึงเม็ดเงินโฆษณาตามมา

 “อุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลแข่งขันรุนแรง เพราะผู้ประกอบการที่เหลือจะต้องอยู่ในสมรภูมิเดียวกันไปอีก 10 ปี เพื่อชิงเม็ดเงินโฆษณาที่กระจุกตัวอยู่เพียง 10 ช่อง จากช่องธุรกิจที่เหลือ 15 ช่อง”

ระริน

ระริน อุทกะพันธุ์ ปัญจรุ่งโรจน์

**ผสานทุกสื่อเสิร์ฟคอนเทนท์ดึงเงิน 

นางระริน อุทกะพันธุ์ ปัญจรุ่งโรจน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท อมรินทร์พรินติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด(มหาชน) ผู้บริหารช่องอมรินทร์ทีวี กล่าวว่า การลาจอของทีวีดิจิทัล 7 ช่อง ไม่มีผลกระทบให้ธุรกิจทีวีดิจิทัลและเม็ดเงินโฆษณาเปลี่ยนแปลงมากนัก เพราะล้วนเป็นช่องที่เรทติ้งอยู่อันดับท้ายๆ ซึ่งอมรินทร์ทีวี ไม่ได้ไปแข่งขันอยู่แล้ว แต่อาจส่งผลบวกต่อการรับชม ให้ปรับตัวดีขึ้นบ้าง เช่น ผู้ชมที่เคยดู 7 ช่อง อาจย้ายมายังช่องอื่นแทน แต่ต้องขึ้นอยู่กับคอนเทนท์ดึงดูดกลุ่มเป้าหมายแค่ไหน

ขณะที่ผ่านมา ธุรกิจสื่อได้รับผลกระทบจากดิจิทัล ดิสรัปชั่น ทำให้ผู้ประกอบการปรับตัวต่อเนื่อง กลยุทธ์ของอมรินทร์ จากนี้ไปให้ความสำคัญกับ “ออมนิ ชาแนล” เพื่อให้เกิดออมนิเอฟเฟ็กซ์ ซึ่งหมายถึงการนำคอนเทนท์ที่มีไปต่อยอดเสิร์ฟผู้บริโภคผ่านสื่อทุกช่องทาง เพื่อให้ลูกค้าที่มาลงโฆษณามีโอกาสปิดยอดขายสินค้าและบริการได้ เพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุนที่คุ้มค่า(ROI)มากขึ้น

นอกจากนี้ บริษัทยังพัฒนามาร์เก็ตเพลส Amvata เพื่อจำหน่ายสินค้าและบริการให้กับลูกค้า ซึ่งจะเปิดตัวในเดือนต.ค.นี้ รวมถึงการให้ความสำคัญในการขยายธุรกิจโฮมชอปปิง หลังจากที่ผ่านมาพบว่าสร้างยอดขายได้ดี เช่น อดีตขายหนังสือผ่านร้านนายอินทร์ 3,000 เล่ม ใช้ 2 ปี แต่ขายผ่านทีวี ใช้เวลาเพียง 1 สัปดาห์เท่านั้น

ทีเอ็นเอ็น

**ผนึกเครือโกยฐานคนดู ชิงเรทติ้ง 

นายองอาจ ประภากมล กรรมการผู้จัดการ (ร่วม) บริษัท ไทย นิวส์ เน็ตเวิร์ค (ทีเอ็นเอ็น) จำกัด กล่าวว่า กลยุทธ์ของบริษัทต้องหาน่านน้ำสีคราม(บลู โอเชี่ยน) สร้างความโดดเด่นให้ช่อง ดึงผู้ชม ล่าสุด ได้ปรับโครงสร้างองค์กร ผนึกกำลังกับช่องทรูโฟร์ยู เพื่อลดความซ้ำซ้อนของบุคลากร

ทั้งนี้ ได้ปรับโพสิชันนิ่งรายการข่าวใหม่ เน้นการเป็นช่องข่าวเศรษฐกิจเต็มรูปแบบ โดยเพิ่มเนื้อหาข่าวเศรษฐกิจเป็น 30% จากเดิม 15% ข่าวการเมืองระหว่างประเทศ 10% จาก 2% ข่าวไอที 5% จากเดิมไม่มีเลย ข่าวสิ่งแวดล้อม กิจกรรมเพื่อสังคม และความยั่งยืนต่างๆ 5% ข่าวกีฬา 10% จากเดิมต่ำกว่านี้ และยังเพิ่มงบประมาณ 10% เพื่อลงทุนด้านคอนเทนท์ให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น

พีพีทีวี

**“พีพีทีวีงัดทางลัดโกยเรทติ้ง 

นายสุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด ช่องพีพีทีวี 36 กล่าวว่า ปีนี้ช่องระมัดระวังการใช้จ่าย โดยใช้งบประมาณ 1,000 ล้านบาท ลงทุนด้านคอนเทนท์ เน้นผลิตละครมากขึ้น เสริมความแข็งแกร่งในช่วงไพรม์ไทม์ (วันพุธถึงศุกร์)  จากที่ผ่านมาเน้นการซื้อคอนเทนท์จากต่างประเทศ ย้ำภาพลักษณ์ของช่อง “World class TV” 

นอกจากนี้ยังดึงรายการที่ได้รับความนิยมสูงจากช่องต่างมาเสริมความแข็งแกร่งและดึงคนดูให้เพิ่มขึ้น ตลอดจนเอเยนซี และลูกค้าที่ใช้จ่ายเงินโฆษณา มีการเดินสายโปรโมทช่องทั่วประเทศ สร้างการรับรู้กลุ่มเป้าหมายให้กว้างขึ้น และต้องรักษา Content is King ของช่อง ด้วยการซื้อสิทธิ์ถ่ายทอดฟุตบอลพรีเมียร์ลีก อังกฤษ(EPL)ฤดูกาลใหม่มายึดฐานผู้ชมผู้ชาย เสริมจากละครที่เป็นกลุ่มเป้าหมายผู้หญิง ซึ่งจากแผนดังกล่าวช่องต้องการเกาะกลุ่มเรทติ้งสูงสุด