หมอกควันข้ามแดน: ปัญหาธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนอาเซียน

หมอกควันข้ามแดน: ปัญหาธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนอาเซียน

หมอกควันไฟป่าจากเกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย ที่แผ่กระจายข้ามพรมแดนปกคลุมมาเลเซีย สิงคโปร์ และภาคใต้ของไทยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่

แต่เป็นปัญหาระดับภูมิภาคตั้งแต่ปี 2525 และเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเกือบทุกปี ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งด้านสุขภาวะ เศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

สาเหตุหลักของไฟป่าเกิดจากการเผาซากพืชเพื่อปรับหน้าดินรองรับฤดูกาลเพาะปลูกปาล์มน้ำมันบนเกาะสุมาตราและกาลิมันตัน อินโดนีเซีย โดยปาล์มน้ำมันถือเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของภูมิภาค ในปี 2561 อินโดนีเซียส่งออกปาล์มน้ำมันมากเป็นอันดับ 1 ของโลกโดยครองส่วนแบ่ง 54.5% สร้างมูลค่ากว่า 16,500 ล้านดอลลาร์ ขณะที่มาเลเซียเป็นอันดับที่ 2 ครองสัดส่วน 28.6% มูลค่า 8,700 ล้านดอลลาร์

หากเปรียบเทียบในแง่ของต้นทุนการผลิตแล้วการกำจัดซากพืชด้วยเครื่องจักรหรือสารเคมีมีต้นทุนสูงราว 6,000-90,000 บาทต่อพื้นที่ 1 เฮกตาร์ ขณะที่การเผาทำลายใช้งบเพียง 150-5,000 บาทเท่านั้น ด้วยต้นทุนที่ต่ำและรวดเร็วกว่าจึงเป็นแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการเลือกใช้วิธีเผาทำลายแม้จะสร้างผลกระทบที่ตามมาอย่างมหาศาลก็ตาม

จากรายงานของ World Bank ระบุว่า ช่วงวิกฤติหมอกควันที่รุนแรงในปี 2540 สร้างความเสียหายต่อ GDP ของอินโดนีเซียถึง 4.5% สิงคโปร์ 0.32% และมาเลเซีย 0.3% ส่วนปี 2558 กระทบต่อ GDP ของอินโดนีเซีย 1.9% และสิงคโปร์ 0.17% ขณะที่รายได้จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของสิงคโปร์ลดลงถึง 80% โดย Asian Development Bank (ADB) ประเมินว่าช่วงปี 2540-2541 ปัญหาหมอกควันสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจโดยรวมของภูมิภาคราว 9,000 ล้านดอลลาร์

ยิ่งไปกว่านั้น ยังส่งผลกระทบต่อความมั่นคงมนุษย์และวิถีชีวิตของประชาชนอาเซียน จากสถิติในปี 2540 พบว่า มีผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจชาวอินโดนีเซียถึง 20 ล้านคน ชาวมาเลเซีย 21.56 ล้านคน มีการปิดโรงเรียนนับพันแห่งและปิดกิจการห้างร้านในหลายประเทศในช่วงวิกฤติซึ่งมิอาจประเมินมูลค่าความเสียหายได้

แม้ว่าอินโดนีเซียจะมีกฎหมายเกี่ยวกับการลักลอบเผาป่า แต่ในทางปฏิบัติรัฐบาลกลางไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากอุปสรรคเชิงโครงสร้างการปกครองที่ซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้เสียในธุรกิจปาล์มน้ำมันทั้งในและต่างประเทศ

อินโดนีเซียกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นมีการเลือกตั้งทุกระดับ โดยผู้บริหารระดับจังหวัด อำเภอ และตำบลเป็นทั้งผู้บังคับใช้กฎหมาย ผู้ดำเนินนโยบายจากรัฐบาลกลาง และผู้มีอำนาจออกใบอนุญาตหรือให้สัมปทานเหมืองแร่และสิทธิประโยชน์เหนือที่ดิน

ประกอบกับหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 บริษัทข้ามชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งสิงคโปร์และมาเลเซียเริ่มเข้ามาเป็นเจ้าของกิจการ หรือมีหุ้นส่วนกับบริษัทปาล์มน้ำมันในอินโดนีเซียมากขึ้น ส่งผลให้หลายกรณีเกิดผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ กลุ่มผลประโยชน์ และผู้ประกอบการธุรกิจปาล์มน้ำมัน แม้ว่ารัฐบาลสิงคโปร์และมาเลเซียจะออกมาตรการลงโทษบริษัทที่เกี่ยวข้องกับไฟป่าในอินโดนีเซียแต่ก็ไม่สามารถยุติปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม

อาเซียนเริ่มมีบทบาทในการแก้ปัญหานี้ตั้งแต่ปี 2538 โดยจัดตั้ง ASEAN Cooperation Plan on Transboundary Haze Pollution และ ASEAN Specialised Meteorological Centre (ASMC) เพื่อสร้างกลไกเฝ้าระวังคุณภาพอากาศและไฟป่าในภูมิภาค ขณะที่ในปี 2545 อาเซียนจัดตั้ง ASEAN Agreement on Transboundary Haze and Pollution (ATBHP) เพื่อเป็นกลไกเชิงป้องกันมากกว่าการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ โดยสร้างกรอบความร่วมมือด้านกฎหมาย การเฝ้าระวัง การเตือนภัย ฯลฯ ซึ่งอินโดนีเซียเพิ่งลงนามข้อตกลงดังกล่าวในปี 2557

ปัญหาสำคัญ คือ กลไกของอาเซียนยังขาดมาตรการบังคับประเทศสมาชิก เนื่องจากอาเซียนยึดมั่นในหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน กอปรกับประเทศสมาชิกตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาไม่เท่ากันเพราะไม่ได้รับผลกระทบจากหมอกควันทุกประเทศ ดังนั้น ตัวแสดงสำคัญในการแก้ปัญหาหมอกควันจึงย้อนกลับไปที่รัฐบาลอินโดนีเซีย

ปัญหาหมอกควันจึงเป็นข้อท้าทายต่อประเทศสมาชิกอาเซียน ภาคธุรกิจ และภาคประชาชนที่ต้องร่วมกันรักษาสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเพื่อสร้างประชาคมอาเซียนที่ยั่งยืนในทุกมิติ