อนุมัติ 2.2 พันล. ซ่อมสาธารณูปโภค 24จว.หลังน้ำท่วม

อนุมัติ 2.2 พันล. ซ่อมสาธารณูปโภค 24จว.หลังน้ำท่วม

ครม.อนุมัติ 2.2 พันล้านบาทซ่อมแซมสาธารณูปโภคใน 24 จังหวัด ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในภาคอีสาน พร้อมอนุมัติให้ลดหย่อนภาษี ซ่อมแซมที่อยู่อาศัย-รถยนต์ และอนุมัติ 1,770 ล้านต่ออายุมาตรการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ในส่วนค่าน้ำ ค่าไฟ และลดแวตอีก 1 ปี

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)วันที่ 1 ต.ค.62 ได้อนุมัติงบกลาง รายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 วงเงิน 2,283 ล้านบาท เพื่อจัดสรรเป็นงบประมาณในการซ่อมแซมสาธารณูปโภค ใน 24 จังหวัด ในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ให้กรมทางหลวง 1,375 ล้านบาท กรมทางหลวงชนบท 908 ล้านบาท 

ทั้งนี้ กรมทางหลวงได้เสนอโครงการ 125 รายการ วงเงิน 1,374.60 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐาน ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 22 จังหวัด ประกอบด้วย กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชุมพร เชียงใหม่ น่าน พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน ยโสธร ร้อยเอ็ด ลำปาง เลย ศรีสะเกษ สุโขทัย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี อุตรดิตถ์ อุบลราชธานี โดยมีความเสียหายที่จะต้องใช้งบประมาณในการบูรณะซ่อมแซมให้กลับคืนสู่สภาพเดิม และปรับปรุงระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ส่วนกรมทางหลวงชนบท เสนอขอรับการจัดสรรงบฯ 93 รายการ เพื่อฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 11 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงใหม่ พิจิตร พิษณุโลก มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยโสธร ร้อยเอ็ด สกลนคร สุโขทัย อำนาจเจริญ อุบลราชธานี โดยมีความสียหายที่จะต้องใช้งบฯในการบูรณะซ่อมแซมให้กลับคืนสู่สภาพเดิม

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การอนุมัติงบกลางเพื่อดำเนินการซ่อมแซมสาธารณูปโภคที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยจากผลกระทบของพายุโพดุลและคาจิกิ ซึ่งหลังจากนี้จะได้มีการพิจารณามาตรการ เพื่อเยียวยาความเสียหายในภาคเกษตร โดยเร่งด่วนต่อไป 

ขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อยู่ระหว่างการประเมินความเสียหายโดยคณะกรรมการที่กระทรวงตั้งขึ้น โดยเบื้องต้นขณะนี้ทราบว่า มีความเสียหาย 3 ล้านไร่เศษ

“ขณะนี้ประชาชนที่อพยพน้ำท่วม 2 หมื่นราย ได้ทยอยกลับเข้าที่พักอาศัย ตอนนี้ยังเหลือที่เข้าที่พักไม่ได้ประมาณ 3,000 ราย โดยสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ รายงานให้ทราบว่า ที่จ.อุบลราชธานี ระดับน้ำในแม่น้ำมูล จะลดลงอยู่ระดับตลิ่งได้ในช่วงวันที่ 3 ต.ค.นี้ ซึ่งเร็วกว่าที่คาด เมื่อประชาชนทยอยกลับเข้าที่พักแล้ว หน่วยงานต่างๆ ทั้งทหาร ตำรวจ นักศึกษาอาชีวศึกษา จะเข้าช่วยเหลือการซ่อมแซม ทั้งส่วนโครงสร้างพื้นฐาน ที่อยู่อาศัยต่อไป”  นางนฤมล กล่าว

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. ได้อนุมัติมาตรการลดหย่อนภาษีเพื่อบรรเทาทุกข์ให้กับประชาชนที่ต้องมีภาระในการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยและรถยนต์ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม จากผลกระทบของพายุโพดุล คาจิกิ และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งมีประชาชนได้รับผลกระทบ 419,988 ครัวเรือน ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ 

ประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่ 1.มาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดาสำหรับค่าซ่อมแซมอสังหาริมทรัพย์ ค่าใช้จ่ายซ่อมแซมที่ได้จ่ายระหว่างวันที่ 29 ส.ค.-30 พ.ย.2562 จ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกิน 1 แสนบาท และ 2.มาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับค่าซ่อมแซมรถ ที่ได้จ่ายระหว่างวันที่ 29 ส.ค.-30 พ.ย.2562 จ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกิน 30,000บาท

สำหรับหลักเกณฑ์การลดหย่อนภาษีคือ 1.ทรัพย์สิน-รถหรืออุปกรณ์(สิ่งอำนวยความสะดวกในรถ) ได้รับความ ในขณะที่ทรัพย์สิน-รถ อยู่ในพื้นที่ที่ทางราชการ ประกาศให้เป็นเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย หรือเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน

2. คุณสมบัติของผู้ได้รับการลดหย่อนภาษีในกรณีอสังหาริมทรัพย์ ผู้มีเงินได้ต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ผู้เช่า หรือผู้ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินนั้น เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย ใช้ประกอบกิจการ หรือใช้ประโยชน์อื่นกรณีรถ ผู้มีเงินได้ต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือผู้เช่าเท่านั้น 

3. กรณีผู้มีเงินได้ได้จ่ายค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ในการซ่อมแซมทรัพย์สินหรือรถ มากกว่าหนึ่งแห่งหรือคัน ตามลำดับ ให้รวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดเข้าด้วยกันแล้วลดหย่อนได้ไม่เกินที่กำหนด

20190910194940114

นอกจากนี้ ครมเห็นชอบตามกระทรวงการ คลังเสนอขยายมาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา ให้แก่ประชาชนที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐบาล ต่อไปอีก 1 ปี โดยเริ่มตั้งแต่เดือน ต.ค.62 - ก.ย.2563 โดยประชาชนที่ถือบัตร 14.6 ล้านคนนั้น คิดเป็นครัวเรือนที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว ประมาณ 8.2 ล้านครัวเรือน 

โดยประชาชนที่ถือบัตรสวัสดิการฯ ได้รับลดค่าไฟฟ้า 230 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน คิดเป็นเงิน 1,740 ล้านบาท ส่วนค่าน้ำประปา ได้รับเงินช่วยเหลือ 100 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน คิดเป็นเงิน 30 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 1,770 ล้านบาท

นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบ ขยายมาตรการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต) 5% ให้ประชาชนที่ถือบัตรสวัสดิการฯ ตั้งแต่เดือน พ.ย.62 - ก.ย.63  โดยคาดว่าจะใช้งบฯ 99.30 ล้านบาท

“มาตราลดค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาที่ ครม.เห็นชอบในครั้งนี้ เป็นมาตรการต่อเนื่องจากปีงบประมาณ 2562 ซึ่งสิ้นสุดไปแล้ว เมื่อ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา ครม.จึงเห็นชอบขยายมาตรการออกไปอีก 1 ปี เช่นเดียวกับมาตรการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 5% แก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ”