ดันแผนแก้“ฝุ่นพิษ”วาระชาติ

ดันแผนแก้“ฝุ่นพิษ”วาระชาติ

ครม.อนุมัติแผนแก้ปัญหาฝุ่นละอองวาระแห่งชาติ กำหนด 3 มาตรการ “จัดการพื้นที่-ลดฝุ่นต้นทาง-เพิ่มประสิทธิภาพ” คพ.เผย “ลมพัด-ฝนเพิ่ม” ช่วง 1-6 ต.ค.ช่วยบรรเทา คาดเดือน ธ.ค.-ม.ค.เจออีกระลอก นายกฯยันอนาคตใช้มาตรฐานไอเสียยูโร 6

หลังจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก พีเอ็ม​​ 2.5​ ปกคลุมกรุงเทพฯ และปริมณฑล เกินค่ามาตรฐานความปลอดภัย จนติดอันดับโลก ล่าสุด คณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาโดยให้ความสำคัญ เป็นวาระแห่งชาติ  

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์หลังประชุมครม. ว่า ได้หารือและนำแผนปฏิบัติการของกรมควบคุมมลพิษ (คพ.)เข้าสู่การพิจารณาใน ครม. และมาตรการเสริมเรื่องการจราจร ยานพาหนะ เรื่องการเผาต่างๆ ก็เข้มงวดขึ้น และเมื่อเกิดวิกฤติแล้วค่าฝุ่นเกิน 100 มคก.(ไมโครกรัม) ถ้าเกินไปขนาดนั้นต้องมีการประชุมคณะกรรมการร่วมกัน และรัฐบาลต้องหามาตรการที่เข้มงวด สั่งการในระดับประเทศลงไป ซึ่งเราเคยทำมาแล้วบางพื้นที่ ในช่วงที่ผ่านมา

วันนี้กระทรวงสาธารณสุขแจ้งไปแล้ว ใครเป็นกลุ่มเสี่ยง ต้องหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายกลางแจ้ง ถ้าจำเป็นต้องออกนอกบ้านสวมหน้ากากอนามัย และเตรียมไปแจกจ่ายในกลุ่มจังหวัด หากไม่พอให้ขอมาที่ส่วนกลาง ขณะที่กระทรวงคมนาคม ตำรวจ กรุงเทพมหานคร กระทรวงมหาดไทย ขอความร่วมมือประชาชนงดการเผาในพื้นที่โล่งทุกชนิด

นอกจากนี้ เรื่องการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ทดแทนการใช้รถส่วนบุคคล ที่ไม่ผ่านการตรวจสอบมาตรฐาน ทั้งเครื่องยนต์ ท่อไอเสีย รถควันดำต่างๆ ต้องเข้มงวด และขอแจ้งเตือนผู้ประกอบการทุกส่วนด้วย ในส่วนของกระทรวงคมนาคม จัดจุดตรวจทุกพื้นที่มีการเข้มงวดรถควันดำ ต้องหยุดใช้งาน จนกว่าจะปรับปรุงใหม่ 

กระทรวงอุตสาหกรรมขอความร่วมมือสถานที่ก่อสร้าง โรงงานอุตสาหกรรม ควบคุมและลดการระบายฝุ่นมลพิษทางอากาศ ในส่วนของ กทม. หรือพื้นที่ก่อสร้างปริมณฑล ต้องขอความร่วมมือลดฝุ่นละอองให้ได้ ต้องฉีดพ่นน้ำในช่วงที่มี พีเอ็ม 2.5 สูงขึ้น และวันนี้กระทรวงมหาดไทย จัดเตรียมเครื่องพ่นละอองไอน้ำในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นสูงขึ้น

“ในช่วงนี้กรมอุตุฯ พิจารณาแล้วว่า อากาศที่ปิดเป็นเหมือนโดมครอบกรุงเทพฯ และประเทศไทยอยู่ เนื่องจากอากาศเย็นสูง ซึ่งอากาศจากจีนนิ่ง ทำให้ไม่มีลมมาทางเอเชียของเรา ต่างคนต่างครอบไว้ทั้งนั้น และอากาศหนาวก็เข้ามาเร็ว เป็นอากาศหนาวระยะสั้น ก็เกิดโดมขึ้นมาครอบอากาศหนัก ฝุ่นละอองก็เลยไม่กระจายไปในพื้นที่กว้าง ขอให้ประชาชนระมัดระวังตัวเองด้วย รัฐบาลจะพยายามทำอย่างเต็มที่ และกรมฝนหลวงก็พร้อมจะปฏิบัติการเพื่อบรรเทาปัญหาฝุ่น” นายกฯ กล่าว

ด้านนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกรัฐบาล แถลงรายละเอียดว่า ครม.เห็นชอบแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ตามที่กรมควบคุมมลพิษเสนอ ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ได้ปฏิบัติตามแผนนี้มาเป็นระยะ และขณะนี้ยังอยู่ในระยะ ก่อนเกิดวิกฤติ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่หน่วยงานต่างๆ จะต้องเตรียมความพร้อมที่รัฐบาลได้ถอดบทเรียนการแก้ปัญหามาจากปี 2560 และ 2561

 โดยแผน แบ่งเป็น 3 มาตรการ คือ 1.การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ ซึ่งเป็นการควบคุมมลพิษในช่วงวิกฤติสถานการณ์ฝุ่นละออง เป็นระยะเร่งด่วน เพื่อควบคุมพื้นที่ที่มีปัญหาฝุ่นละออง ได้แก่ 9 จังหวัดภาคเหนือ กทม.และปริมณฑล พื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง (ประสบปัญหาหมอกควัน) พื้นที่หน้าพระลาน จ.สระบุรี และพื้นที่เสี่ยงปัญหาฝุ่นละอองอื่น ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการเผาในที่โล่ง เช่น ขอนแก่น กาญจนบุรี

โดยแนวทางการดำเนินงานประกอบด้วยการทบทวน ประเมินผลการดำเนินงานที่ผ่านมา และถอดบทเรียน เพื่อปรับปรุง แผนเผชิญเหตุและแผนตอบโต้สถานการณ์ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในช่วงเกิดวิกฤติสถานการณ์ โดยใช้กลไกการจัดการแบบเบ็ดเสร็จ ซึ่งมีกลไกการสั่งการตามปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5

20191001111544935

ทั้งนี้ หากมีค่า 76-100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร(มคก./ลบ.ม.)ให้ผู้ว่าฯบัญชาการเหตุการณ์ และหากระดับที่ 4 PM2.5 มีค่ามากกว่า 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เสนอให้จัดการประชุมคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอมาตรการต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการ

2.มาตรการการป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง (แหล่งกำเนิด) มีแนวทางการดำเนินงานทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งควบคุมจากยานพาหนะ โดยใช้มาตรการจูงใจ ควบคุมและลดมลพิษจากการเผาในที่โล่ง/ภาคการเกษตร ควบคุมและลดมลพิษจากการก่อสร้างและผังเมือง โดยกำหนดกฎระเบียบ มาตรการและเกณฑ์ปฏิบัติในการควบคุมฝุ่นจากการก่อสร้าง กำหนดให้การจัดทำผังเมือง และการก่อสร้างต้องคำนึงถึงการแพร่กระจายของมลพิษ เพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง

3.ระยะยาว (พ.ศ. 2565 – 2567) ให้ควบคุมและลดมลพิษจากยานพาหนะ โดยบังคับใช้มาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากรถยนต์ใหม่ Euro 6 ภายในปี 2565 บังคับใช้มาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิงมีกำมะถันไม่เกิน 10 ppm ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2567 ส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าและการใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ ปรับปรุงแก้ไขการเก็บภาษีรถยนต์ประจำปีสำหรับรถยนต์ใช้งาน

รวมทั้งห้ามนำเข้าเครื่องยนต์ใช้แล้วทุกประเภท ควบคุมการระบายฝุ่นจากการขนถ่ายสินค้าที่ท่าเรือและจากเรือสู่เรือ ควบคุมการระบายมลพิษทางอากาศจาก Non-road Engine ควบคุมและลดมลพิษจากการเผาในที่โล่ง โดยให้มีการใช้ประโยชน์เศษวัสดุการเกษตรเพื่อไม่ให้มีการเผา ห้ามไม่ให้มีการเผาในที่โล่งโดยเด็ดขาด ป้องกันการเกิดไฟป่าและจัดการไฟป่า ส่งเสริมให้ปรับเปลี่ยนการปลูกพืชหรือไม้ยืนต้นอื่นทดแทนพืชเชิงเดี่ยวหรือพืชที่มีการเผา

ส่วนกลไกการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง ให้มีการจัดตั้งศูนย์ดำเนินการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในระดับจังหวัด โดยใช้กลไกการจัดการแบบเบ็ดเสร็จ (Single Command) มีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บัญชาการในช่วงเกิดวิกฤตสถานการณ์ฝุ่นละออง และใช้กลไกของหน่วยงานที่มีหน้าที่ตามกฎหมาย ออกกฎระเบียบ/แนวทาง/ข้อบังคับในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง

 1.การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ (การแก้ปัญหาระยะเร่งด่วนและช่วงวิกฤติ) ซึ่งการรับมือสถานการณ์วิกฤติจะดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุที่สอดคล้องกับความรุนแรงของสถานการณ์ ได้แก่ ระดับที่ 1 พีเอ็ม 2.5 ไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม. หน่วยงานดำเนินภารกิจตามสภาวะปกติ 

ระดับที่ 2 พีเอ็ม 2.5 ระหว่าง 51-75 มคก./ลบ.ม. หน่วยงานดำเนินมาตรการเข้มข้นขึ้น ระดับที่ 3 พีเอ็ม 2.5 ระหว่าง 76-100 มคก./ลบ.ม. โดยผู้ว่าฯ กทม. ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์โดยใช้อำนาจตามกฎหมายควบคุมพื้นที่ ควบคุมแหล่งกำเนิด และกิจกรรมที่ทำให้เกิดมลพิษ และระดับที่ 4 พีเอ็ม 2.5 เกิน 100 มคก./ลบ.ม. เสนอให้ประชุมคณะกรรมการควบคุมมลพิษ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อเสนอมาตรการให้นายกรัฐมนตรีสั่งการ

 2.การป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทางหรือแหล่งกำเนิด (ระยะสั้นปี 2562-2564 และระยะยาวปี 2565-2567) และ 3.การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ (ระยะสั้นปี 2562-2564 และระยะยาวปี 2565-2567)

อนาคตจ่อใช้มาตรฐานยูโร 6

ก่อนหน้านี้ นายกฯ กล่าวถึงปัญหามลพิษในช่วงกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำเสนอผลงานที่ประสบความสำเร็จจากการบ่มเพาะธุรกิจวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ตอนหนึ่งว่า​ วันนี้สถานการณ์​ดีขึ้น ลดจำนวนลงเยอะมาก​ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับอากาศ​ ถ้าอากาศนิ่ง ฝุ่นละอองก็สะสม​เพราะเรายังมีการใช้รถยนต์​อยู่ทุกวัน​ 

เมื่อวานนี้ (30 ก.ย.)​ นายศักดิ์​สยาม​ ชิด​ชอบ​ รมว.คมนาคม​ ก็ได้ไปดูเกี่ยวกับ​เรื่องรถสาธารณะ​และรถยนต์ทั้งหมดที่ก่อมลพิษ​ควันดำ​ ซึ่งอีกไม่กี่ปีข้างหน้า​ประเทศเราต้องใช้มาตรฐานไอเสียระดับยูโร​ 6 อนาคตประเทศเราต้องเดินแบบนี้​ วางขั้นตอนไว้​ ไม่ใช่แค่ทำวันนี้แล้วทุกคนพอใจ​ก็จบ​ มันไม่ใช่​การพัฒนาประเทศในทางที่ยั่งยืน​

“ทุกวันนี้ต่างประเทศ​ใช้วิธีนี้ทั้งหมด​คือทำไปทีละขั้นตอน​ ประเทศไทยอยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยน​และต้องทำทุกอย่างให้ยั่งยืน​ ไม่ใช่ทำอะไรแบบลอยๆ​ เอาเงินให้แล้วจบ​ ก็ไม่ได้อะไรออกมา​ จำเป็น​ต้องใช้เงินให้เหมาะสมและถูกต้อง​ ”นายกฯ กล่าว

ด้าน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ระบุว่า ในการประชุมคอนเฟอเรนซ์กับผู้ว่าฯทั่วประเทศเมื่อวันที่ 31 ก.ย. ได้กำชับผู้ว่าฯ ให้เตรียมการ เช่น เรื่องที่นาซึ่งจะมีการเก็บเกี่ยวในเดือน พ.ย.ต้องมีมาตรการในการจัดเก็บแปรรูปและนำไปใช้ประโยชน์ ทั้ง ฟางข้าว อ้อย ข้าวโพด เป็นต้น เพราะหากนำไปเผาจะทำให้เกิดปัญหาหมอกควันขึ้นอีก นอกจากนี้ผู้ว่าฯ จะต้องแจ้งข้อมูลให้ประชาชนทราบอย่างต่อเนื่อง พร้อมประสานกระทรวงสาธารณสุขแจกหน้ากากอนามัยให้ประชาชนด้วย

ขณะที่ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. กล่าวขอโทษชาวกรุงเทพฯ ต่อสถานการณ์ฝุ่นพิษที่เกิดซ้ำในหลายเขตพื้นที่ซึ่งมีค่าเกิน 50 มคก./ลบ.ม. เนื่องจากมีแรงกดอากาศมาเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ จากเดิมคาดว่าจะมาในเดือน ธ.ค.62 -มค.63 แต่ในเดือน ต.ค.ก็มาแล้ว

 

คาดเดือนธ.ค.-ม.ค.เจอฝุ่นอีก

วันเดียวกัน นายประลอง ดำรงไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า จากสถานการณ์ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ที่เพิ่มขึ้นในช่วงนี้นั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีการเรียกประชุมเมื่อวานนี้ (30 ก.ย.) ซึ่งได้ชี้แจงสถานการณ์กับรัฐมนตรีในหลายกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรุงเทพมหานคร (กทม.) 

โดยยืนยันว่าช่วงนี้ยังไม่ถึงเวลาที่จะเกิดสถานการณ์ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 แต่สาเหตุที่เกิดขึ้นมานั้น เรียกว่าเป็นฤดูหนาวหลงฤดู โดยกรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่าเกิดจากความหนาวเย็นที่แผ่ปกคลุมมาจากประเทศจีน ส่วนที่มีการสอบถามกันว่า อากาศหนาวเย็นจากจีนได้พาฝุ่นมาด้วยหรือไม่นั้น ข้อเท็จจริงคือไม่ใช่ หากพูดเช่นนี้อาจกระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ แต่กระบวนการในการเกิดฝุ่นพีเอ็ม 2.5 มาจากการที่เรายังใช้รถยนต์กันอยู่ โดยเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซล ที่มีการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์เนื่องจากรถเก่า ไม่มีการปรับสภาพรถ

“อากาศเย็นลงมาปิดทับการระบายตัวของฝุ่นในอากาศจึงไม่ดี และเกิดการสะสมขึ้น ทำให้ค่าฝุ่นค่อยๆ สูงขึ้น โดยกรมอุตุฯ บอกว่าจะมีฝนตก โดยมรสุมจากประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งจะช่วยหอบฝุ่นขึ้นชั้นบรรยากาศ ถ้าเป็นไปตามสถานการณ์ที่กรมอุตุฯ รายงาน ตัวเลขฝุ่นก็จะลดลงจนกลับสู่ปกติ แต่จะกลับมาเจออีกในช่วงเดือนธันวาคมและมกราคม ซึ่งจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงมาตรการเสนอต่อครม.ในวันนี้ด้วย” นายประลองกล่าว

ด้าน น.ส.กรรวี สิทธิชีวภาค รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า หลังจากวันนี้ (1 ต.ค.) ไปจนถึงวันที่ 6 ต.ค.พื้นที่ประเทศไทยตอนบน รวมถึงกรุงเทพฯ จะมีปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้นจากเดิมประมาณร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ จะเพิ่มเป็นร้อยละ 40-60 เนื่องจากช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ยังมีมวลอากาศเย็นปกคลุม บวกกับลมที่พัดเข้ามาในบ้านเรา เป็นลมเหนือและลมตะวันออก ส่งผลให้สภาพอากาศตอนบนรวมถึงกรุงเทพฯ ค่อนข้างแห้งและนิ่ง ฝุ่นจึงลอยตัวในอากาศไม่ไปไหน 

แต่หลังจากวันนี้ลมที่ปกคลุมจะเปลี่ยนเป็นลมใต้พัดเอาความชื้นจากทะเลเข้ามาในพื้นที่บวกกับเริ่มมีมวลอากาศเย็นเริ่มแผ่ลงมาปกคลุมเกิดความแปรปรวนทำให้ช่วงนี้จะมีฝนเพิ่ม น่าจะช่วยให้สถานการณ์ฝุ่นละอองดีขึ้นได้บ้าง

มลพิษลดลง-ปชช.ตื่นตัวป้องกัน

ผู้สื่อข่าวรายงาน ช่วงเวลา 17.00 น.วันนี้ กรมควบคุมมลพิษรายงานคุณภาพอากาศในเขตกรุงเทพฯ พบว่าสภาพอากาศดีขึ้นคงเหลือพื้นที่บางแห่งที่ค่า AQI อยู่ในระดับสีส้ม เกิน 100 มคก.ต่อลบ.ม.ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ อาทิ ริมถนนพระราม 3 เขตเจริญกรุง วัดได้ 149 แขวงทุ่งวัดดอน เขตสาทร 106 ริมถนนพระราม 4 เขตปทุมวัน 109 ริมถนนดินแดง เขตดินแดง 124 แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง 104 ริมถนนจรัญสนิทวงศ์ เขตบางพลัด 147 

แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ 142, แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ 134 ส่วนในพื้นที่ปริมณฑลวัดค่าได้ในระดับปานกลาง 50-100 มคก.ต่อลบ.ม. อาทิ ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ 67, ต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร 67, ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี 59 แต่บางแห่งยังมีค่าสูง เช่น ต.อ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร วัดค่าได้ 109 เป็นต้น

ขณะที่เว็บไซต์ airvisual.com รายงานเมื่อเวลา 17.38 น. ในการแสดงอันดับเมืองที่มีมลภาวะพบว่ากรุงเทพฯ ลงไปอยู่ที่อันดับ 11 วัดค่า AQI ที่ 110 ส่วนอันดับ 1 คือเมืองดูไล วัดค่าได้ 182 รองลงมาคือเมืองฮานอย เวียดนาม ที่ 179

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าประชาชนในกรุงเทพฯ จำนวนมากตื่นตัวกับค่าฝุ่นละอองพีเอ็ม 2.5 โดยพบว่ามีจำนวนมากสวมใส่หน้ากากอนามัยทั้งผู้ที่ใช้รถโดยสารประจำทางและระบบขนส่งมวลชน รวมถึงประชาชนที่ต้องอยู่กลางที่โล่งต่างสวมใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นละอองตลอดทั้งวัน

อาชีวะผลิตกรองอากาศมอบร.ร.

ขณะที่นายไกรเสริม โตทับเที่ยง เลขานุการ รมว.ศึกษาธิการ พร้อมด้วยคณะแถลงข่าวว่ากระทรวงศึกษาธิการเตรียมผลิตเครื่องกรองอากาศต้นแบบฝีมือนักศึกษาอาชีวะ เริ่มนำร่องใช้งาน 37 โรงเรียนในกรุงเทพฯกว่า 1,000 เครื่อง เพื่อลดปริมาณฝุ่นเนื่องจากปริมาณฝุ่นที่สูงในช่วงสัปดาห์นี้ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ได้สั่งการให้อาชีวะดำเนินการจัดทำเครื่องกรองอากาศเพื่อนำไปมอบให้โรงเรียนต่างๆ โดยจะเริ่มนำร่องโรงเรียนในกรุงเทพฯ สังกัด สพฐ.ทั้ง 37 โรงเรียนก่อน จำนวน 1,000 เครื่อง เพื่อนำไปใช้ลดปริมาณฝุ่นในห้องเรียน 

โดยสามารถลดปริมาณฝุ่นได้เกินครึ่ง อนาคตจะขยายให้บริการในชุมชนหรือหน่วยงานภายนอกเพื่อจัดทำเป็นพื้นที่เซฟโซน และเตรียมผลิตเพิ่มเติมเพื่อรองรับเปิดเทอม ส่วนงบประมาณในการผลิตไม่มาก เครื่องต้นแบบไม่เกินเครื่องละ 2,000 บาท โดยจะทยอยผลิตและส่งไปยังโรงเรียนนำร่องภายใน 10-15 วัน ซึ่งตอนนี้มีเครื่องต้นแบบแล้ว 3 เครื่อง โดยมี 37 โรงเรียนนำร่อง ที่จะนำเครื่องกรองอากาศไปติดตั้ง

ทบ.ส่งรถน้ำ-แพทย์เคลื่อนที่ช่วย

ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) พ.อ.หญิงศิริจันทร์ วาทอง รองโฆษกกองทัพบก กล่าวว่า พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ.ได้มอบหมายให้หน่วยทหารของกองทัพบก ประสานกับจังหวัดและส่วนราชการที่รับผิดชอบ ร่วมกันดูแลประชาชนและแก้ไขปัญหาตามแนวทางของรัฐบาลโดยด่วน โดยสั่งการให้หน่วยทหารจัดชุดแพทย์เคลื่อนที่ ออกตรวจสุขภาพ แจกจ่ายหน้ากากป้องกันฝุ่น พร้อมให้กองทัพบกสนับสนุนรถบรรทุกน้ำและกำลังพลเพื่อออกปฏิบัติการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ และจิตอาสาพระราชทาน 904 วปร. ในการล้างทำความสะอาดพื้นที่และฉีดพ่นละอองน้ำเพื่อเพิ่มความชุ่มชื่นและลดฝุ่นละอองในอากาศ จนกว่าสถานการณ์ฝุ่นละอองเกินมาตรฐานจะคลี่คลาย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

-ฝุ่นพิษขอนแก่นพุ่งรับนายกฯ PM2.5แตะ108ไมโครกรัมฯ

-พรุ่งนี้ ฝุ่นพิษพุ่ง! คนกรุงฯ เตรียมหน้ากากอนามัยให้พร้อม

-หวั่นแย่ลงอีก! วิกฤตฝุ่นพิษPM2.5 'กทม.' มลพิษสูงที่สุดในฤดูหนาว

-12 พื้นที่ทั่วปท. เช้านี้ฝุ่นพิษ PM2.5 เกินมาตรฐาน