'ทีเอ็มบี'ลดปล่อยกู้รายใหญ่ ชี้ผลตอบแทนต่ำ-ภาระตั้งสำรองสูง

'ทีเอ็มบี'ลดปล่อยกู้รายใหญ่ ชี้ผลตอบแทนต่ำ-ภาระตั้งสำรองสูง

แบงก์ทหารไทย กางแผนปรับเปลี่ยนโครงสร้างสินเชื่อใหม่ หลังควบรวมกิจการกับแบงก์ธนชาต จ่อลดสัดส่วนสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ เหตุให้ผลตอบแทนต่ำ-เป็นภาระตั้งสำรองเงินกองทุนฯ พร้อมดันสินเชื่อบ้าน-รถเพิ่ม ฉุดสินเชื่อรวมในปี 63 ส่อแววติดลบ

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการควบรวมกิจการระหว่าง TMB และธนาคารธนชาต (TBANK) ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะเห็นการร่วมกันบริหารธนาคารภายใต้คณะกรรมการชุดเดียวกันตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2563 เป็นต้นไป โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการสรรหาบุคคลที่เหมาะสมเข้ามารับตำแหน่งตามโควตาของผู้ถือหุ้นแต่ละราย ซึ่งหลังการควบรวมแล้วจะมีผู้ถือหุ้นใหญ่ 3 ฝ่าย ได้แก่ กระทรวงการคลัง บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TCAP และกลุ่มไอเอ็นจี

ทั้งนี้โครงสร้างสินเชื่อของธนาคารจะมีการปรับเปลี่ยนสัดส่วนของสินเชื่อทั้ง 3 ประเภท ได้แก่ สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่,สินเชื่อเอสเอ็มอี และสินเชื่อรายย่อย โดยพอร์ตสินเชื่อรายย่อยจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 60-70% จากปัจจุบันที่อยู่ระดับ 50% เพราะมีสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ของ TBANK เข้ามาเสริม ส่วนด้านสินเชื่อเอสเอ็มอีจะลดสัดส่วนลงเหลือ 20% จากปัจจุบัน 30% และส่วนที่เหลือจะเป็นสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ โดยที่ในระยะยาวธนาคารมีแผนจะลดสัดส่วนสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ลงมาต่ำกว่า 20% ตามกลยุทธ์หลังการควบรวม ซึ่งจะเน้นการให้สินเชื่อที่มีผลตอบแทนสูงและเงินฝากที่มีต้นทุนดอกเบี้ยต่ำ

ขณะที่ในส่วนของแผนด้านเงินฝากของธนาคาร หลังจากการควบรวมจะมีการปรับรูปแบบของเงินฝากที่มีต้นทุนดอกเบี้ยสูงที่มาจากกลุ่มลูกค้าเงินฝากประจำของธนาคารธนชาตลดลง โดยจะเป็นการแนะนำให้ลูกค้าเงินฝากนำเงินไปลงทุนผ่านกองทุนรวมเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเป็นการบริหารต้นทุนเงินฝากให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ของธนาคารที่ต้องการลดสัดส่วนเงินฝากที่มีต้นทุนดอกเบี้ยสูงให้ลดลง และนำธุรกิจบลจ.มาเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าในการลงทุนที่สามารถสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าการฝากเงินกับธนาคาร

“จุดเด่นทางด้านสินเชื่อหลังควบรวมทั้งสองธนาคารนั้น เราจะเน้นไปที่สินเชื่อบ้านและสินเชื่อรถที่เดิมทั้งสองธนาคารมีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว ซึ่งทั้ง 2 สินเชื่อนี้เป็นสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูง ส่วนธุรกิจที่ปรึกษาทางด้านการลงทุนจะมาเป็นส่วนเสริมในการให้บริการลูกค้าเงินฝาก เพราะในอนาคตจะต้องมองเรื่องการการสร้างกำไร,ลดต้นทุน และไม่เร่งเพิ่มขนาดสินทรัพย์ให้ใหญ่ขึ้น เพราะตอนนี้เราถือว่าเป็นแบงก์ใหญ่อันดับ 6 แล้ว”

นายปิติ กล่าวต่อว่าด้านภาพรวมสินเชื่อรวมในปี 2562 ยอมรับว่าอาจจะโตต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้จะเติบโต 3-5% จากปีก่อน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกมีความผันผวนและเศรษฐกิจไทยชะลอตัวตามการส่งออก ซึ่งส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้สินเชื่อลดลง ส่วนแนวโน้มสินเชื่อรวมในปี 2563 ธนาคารจะชะลอปล่อยสินเชื่อรายใหญ่ เพราะเป็นสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนต่ำและยังมีภาระในการตั้งสำรองเงินกองทุนขั้นที่ 1 เพิ่มขึ้น โดยจะหันไปเน้นสินเชื่อรายย่อยมากขึ้น เพราะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า อย่างไรก็ตามสินเชื่อรายย่อยมีวงเงินให้สินเชื่อต่อรายที่ต่ำกว่าสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ จึงไม่สามารถชดเชยขนาดของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ที่ลดลงไปได้ ทำให้คาดว่าสินเชื่อในปีหน้าจะติดลบอย่างแน่นอน

“ตอนนี้บริษัทขนาดใหญ่สามารถระดมทุนด้วยตัวเอง เช่น การออกตราสารหนี้หรือหุ้นกู้ ซึ่งดอกเบี้ยถูกกว่าการมากู้แบงก์ และทำให้บริษัทใหญ่หลายๆบริษัทไม่ค่อยกู้แบงก์เหมือนเมื่อก่อน ซึ่งการที่บริษัทใหญ่ไม่ค่อยมากู้มากจะทำให้แบงก์ไม่ต้องนำกำไรจากผลการดำเนินงานไปอัดใส่เงินกองทุนฯให้เพิ่มมากขึ้น เพราะมีคำถามที่นักลงทุนต่างชาติสอบถามมาโดยตลอดว่าทำไมเราต้องตั้งเงินกองทุน Teir 1 สูง แต่ไม่เอาเงินมาจ่ายปันผลแทน โดยในอนาคตเราก็อยากนำกำไรมาจัดสรรเป็นเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นมากขึ้น”