'กัลฟ์-ปตท.' เซ็นมาบตาพุดเฟส 3 โปรเจคแรก 'อีอีซี'

'กัลฟ์-ปตท.' เซ็นมาบตาพุดเฟส 3 โปรเจคแรก 'อีอีซี'

กนอ.เซ็นสัญญาร่วมลงทุนกับ บริษัทกัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล จำกัด หลัง ครม.อนุมัติขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด รวมพื้นที่ถมทะเล 1,000 ไร่ เดินหน้าท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 คาดเปิดบริการเชิงพาณิชย์

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้  ( 1ตุลาคม ) หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการลงทุนโครงการขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดซึ่งเป็นพื้นที่ถมทะเล 1,000 ไร่ ในการพัฒนาโครงการท่าเรืออุตสาหกรรม มาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) กนอ.ได้ลงนามสัญญาร่วมลงทุนกับ บริษัทกัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด

ที่เป็นผู้ชนะประมูลโครงการดังกล่าว โดยเป็นสัญญาร่วมทุนในรูปแบบ Public Private Partnership (PPP) NET Cost หรือร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนโดยให้เอกชนได้รับสิทธิ์ในการประกอบกิจการบนพื้นที่ 200ไร่ และจัดสรรผลตอบแทนบางส่วนให้แก่ภาครัฐตามข้อตกลง 

“โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะ 3 ช่วงที่ 1 นับเป็น 1 ใน 5 โครงสร้างพื้นฐานหลักในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) หรือ EEC Project List ที่ถือเป็นโครงการแรกในการเซ็นสัญญาร่วมทุน กนอ.คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในปี 2568 และมั่นใจว่าจะมีส่วนสำคัญต่อการสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศมากขึ้นและนี่จะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะทำให้เกิดการเชื่อมต่อระบบขนส่งแบบไร้รอยต่อของไทยเพื่อเชื่อมไปสู่ประตูเศรษฐกิจกลุ่มประเทศCLMVT”นายสมคิด กล่าว

ทั้งนี้ภายหลังการลงนามกนอ.จะส่งมอบพื้นที่ให้กับบริษัทคู่สัญญาเข้าสำรวจออกแบบรายละเอียดและก่อสร้างในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน เป็นไปตามเป็นไปตามสัญญาร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน

พร้อมกันนี้ กนอ.เตรียมที่จะเข้าไปยื่นเอกสารต่อกรมเจ้าท่า เพื่อให้การพัฒนาท่าเรือฯมาบตาพุด ระยะที่3 ช่วงที่ 1 ทั้งในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานและส่วนของระบบสาธารณูปโภคภายในพื้นที่ท่าเรือฯเป็นไปตามกฎหมายการขออนุญาตปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทยอย่างถูกต้อง 

นอกจากนั้น กนอ.จะตั้งกองทุนตามมาตรการที่กำหนดในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ไม่ว่าจะเป็นด้านผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนโดยรอบพื้นที่และใกล้เคียงอย่างเคร่งครัดด้วยเช่นกัน

รวมทั้งหลังที่ได้ส่งมอบพื้นที่ให้กับเอกชนคู่สัญญาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) จะเป็นหน่วยงานหลักในการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1                      

โดยมี 5 ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้แทนจาก กนอ. ผู้แทนจาก สกพอ. ผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนจากกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้แทนจากบริษัทเอกชนร่วมลงทุน เพื่อเข้ามากำกับดูแลการพัฒนาให้เป็นไปตามกรอบการดำเนินงานภายใต้สัญญาร่วมลงทุนต่อไป   

สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 รวมมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 55,400 ล้านบาท โดยในช่วงที่ 1 จะเป็นการพัฒนาในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน โดยบริษัทคู่สัญญาที่ได้ลงนามจะเข้าพัฒนาพื้นที่ได้ทันที

เอกชนที่ชนะการประมูลในช่วงที่ 1 จะได้สิทธิในการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือ (Superstructure) 200 ไร่  รวมมูลค่าการลงทุน 47,900 ล้านบาท แบ่งเป็น กนอ.ร่วมลงทุนเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิไม่เกิน 12,900 ล้านบาท

ส่วนภาคเอกชนลงทุน 35,000 ล้านบาท ได้แก่ การขุดลอกและถมทะเล พื้นที่ 1,000 ไร่ แบ่งเป็น พื้นที่ใช้ประโยชน์ 550 ไร่ และพื้นที่เก็บกักตะกอน 450 ไร่ การขุดลอกร่องน้ำ และแอ่งกลับเรือ การก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น การก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานการติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมการเดินเรือ ท่าเทียบเรือบริการ และท่าเรือก๊าซรองรับปริมาณการขนถ่ายก๊าซได้ 10 ล้านตันต่อปี คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2568

นอกจากนั้นในช่วงที่ 2 จะเป็นการลงทุนพัฒนาก่อสร้างในส่วนของท่าเรือ กนอ.จะออกทีโออาร์ประกาศเชิญชวนภาคเอกชนร่วมพัฒนาโดยเอกชนเป็นผู้ลงทุนพัฒนาท่าเทียบเรือสินค้าเหลวรองรับปริมาณขนถ่ายสินค้าเหลวได้ 4 ล้านตันต่อปี คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2566 และเปิดให้บริการได้ภายในปี 2568 ซึ่งจะใช้เงินลงทุน 4,300 ล้านบาท

ส่วนงานก่อสร้างพื้นที่หลังท่า จำนวน 150 ไร่  เงินลงทุน 3,200 ล้านบาท เพื่อรองรับธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เนื่องจากปัจจุบันการใช้งานท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด มีการใช้งานใกล้เต็มศักยภาพรองรับแล้ว จึงจำเป็นต้องขยายเป็นระยะที่ 3 เพื่อรองรับการขนถ่าย ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และสินค้าเหลวสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งคาดว่าจะสามารถรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและสินค้าเหลวได้เพิ่มอีก 14 ล้านตันต่อปีในอีก 30 ปีข้างหน้า