'วราวุธ' ขอโทษ คน กทม. หลังฝุ่นพิษ เกินมาตราฐาน

'วราวุธ' ขอโทษ คน กทม. หลังฝุ่นพิษ เกินมาตราฐาน

"วราวุธ" ขอโทษ คน กทม. หลังฝุ่นพิษ เกินมาตราฐาน พร้อมดันมาตรการลด pm 2.5 เป็นวาระแห่งชาติ เข้าครม.เร่งด่วน รับแรงกดอากาศมาเร็วเกินคาด ขอประชาชน- เด็กเล็กสวมหน้ากาก ลดใช้รถยนต์

เมื่อวันที่ 1 ต.ค. เวลา 08.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวขอโทษชาวกรุงเทพมหานครต่อสถานการณ์ฝุ่น pm 2.5 ที่เกิดซ้ำในหลายเขตพื้นที่ซึ่งมีค่าเกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เนื่องจากมีแรงกดอากาศมาเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ จากเดิมคาดว่าจะมาในเดือนธันวาคมถึงมกราคม แต่ในเดือนตุลาคมก็มาแล้ว  ซึ่งเหมือนฝาชีที่ครอบกรุงเทพฯ เอาไว้ ดังนั้นมาตรการเร่งด่วนในช่วงนี้ จึงขอประชาชนและเด็กเล็กใส่หน้ากากอนามัย และขอความร่วมมือประชาชนในเขตเมืองลดการใช้รถยนต์บนถนนซึ่งจะช่วยได้ในระดับหนึ่ง

นายวราวุธ เปิดเผยว่า วันนี้เตรียมเซ็นมาตรการลดปัญหาฝุ่นละออง pm 2.5 เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีภายในวันนี้ ภายหลังนายกรัฐมนตรีเรียกประชุมด่วนและกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญในสามด้าน 1. การดูแลเชิงพื้นที่ ที่มีการเกิดมลพิษแตกต่างกันทั้งกลุ่ม 9 จังหวัดภาคเหนือเกิดจากการเผาไหม้ทางการเกษตร   กรุงเทพฯ ปริมลฑล ภาคกลางเกิดจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์  และภาคใต้ เกิดจากพัดพามาจากประเพื่อนบ้าน 2.มาตรการลดการผลิต pm 2.5 ในระยะสั้น 

นายวราวุธ กล่าวต่อว่า และ3.มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมมลพิษ ถ้ายังต่ำกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลุกบาศก์เมตร ทุกอย่างยังสามารถดำเนินการได้ปกติ แต่ถ้าขึ้นไปถึง 50-75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรก็ต้องเข้าสู่ช่วงเฝ้าระวัง แต่หากเข้าถึงระดับ 75-100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรซึ่งเป็นขั้นอันตรายก็จะมอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในแต่ละพื้นที่มีอำนาจตัดสินใจว่าจะทำอย่างไร เช่นการสั่งปิดโรงเรียน หรือไม่อนุญาตให้รถยนต์วิ่งผ่าน และหากเกิน 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรถือว่าเข้าขั้นวิกฤตก็จะนำเรื่องเข้าคณะกรรมการ เพื่อขอเสนอมาตรการต่อนายกรัฐมนตรีเพิ่มความเข้มข้น รวมถึงมาตราการตรวจวัดที่ปัจจุบันมีเครื่องอยู่แต่ยังไม่เพียงพอ และบางส่วนยังไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งต้องทำให้มีประสิทธิภาพมากกว่านี้

ส่วนมาตรการเฝ้าระวังจะแบ่งออกเป็นระยะสั้นและระยะยาว ในระยะสั้นต้องประสานกระทรวงพลังงานขอให้มีการใช้น้ำมันที่มีคุณภาพมากขึ้น เพิ่มมาตรฐานเครื่องยนต์ขึ้นไปถึง ยูโร 5 เพื่อลดการผลิตมลภาวะ รวมถึงการควบคุมการวางฝังเมืองและการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่