เบร็กซิทแบบไม่มีข้อตกลงทำสินค้าไทยส่งออกเพิ่ม

เบร็กซิทแบบไม่มีข้อตกลงทำสินค้าไทยส่งออกเพิ่ม

สนค.วิเคราะห์โอกาสสินค้าไทยไปสหราชอาณาจักร หลังเบร็กซิท แบบไม่มีข้อตกลงแต่ได้ยกเว้นภาษี 1 ปี คาด ทำให้ไทยส่งออกเพิ่มขึ้นหลายรายการ ด้านเอกชนห่วงความไม่แน่นอนทำลายอำนาจซื้อตลาดปลายทาง

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)เปิดเผยว่า สนค.ได้ประเมินผลกระทบการส่งออกของไทยในกรณีที่สหราชอาณาจักรจะออกจากสหภาพยุโรป (อียู)หรือเบร็กซิท โดยพบว่า จะเป็นโอกาสในการผลักดันการส่งออกของไทย โดยเฉพาะสินค้าที่ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าชั่วคราวเป็นระยะเวลา 1 ปี ในกรณีการออกจากสหภาพยุโรปแบบไม่มีข้อตกลง (No-deal Brexit) โดยจะยกเว้นการจัดเก็บภาษีนำเข้าในสินค้า 87% ของรายการสินค้าทั้งหมด แต่มีการเก็บภาษีนำเข้าในสินค้าที่มีความอ่อนไหวอีก 26 กลุ่ม เช่น ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ (เนื้อ แกะ หมู และสัตว์ปีก) และผลิตภัณฑ์นม เนย ชีส ข้าว รถยนต์ สิ่งทอ เซรามิก เอทานอล กล้วย น้ำตาล และสินค้าประมงบางชนิด เป็นต้น เมื่อพิจารณาสินค้า 20 รายการแรกที่ไทยส่งออกไปสหราชอาณาจักรพบว่า ผลกระทบจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 สินค้าที่น่าจะได้รับประโยชน์จากการยกเว้นภาษีนำเข้าไปยัง สหราชอาณาจักรเป็นระยะเวลา 1 ปีเมื่อเบร็กซิทมีผลบังคับ ซึ่งเดิมเคยถูกเก็บภาษีนำเข้าไปยังสหภาพยุโรป มูลค่า 962.59 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นประมาณ 23.90 % ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไป สหราชอาณาจักร อาทิ ชิ้นส่วนยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องเพชรพลอย เครื่องปรับอากาศ ส่วนประกอบของเครื่องยนต์ เครื่องยนต์เบนซิน เครื่องประมวลผลข้อมูลอัตโนมัติ เครื่องสูบลมหรือสูบสุญญากาศ เครื่องอัดลมและเครื่องระบายอากาศ บรรจุภัณฑ์ที่ทำด้วยพลาสติก ยางรถยนต์ วงจรพิมพ์ แว่นตา ของปรุงแต่งชนิดที่ใช้ในการเลี้ยงสัตว์ และอุปกรณ์สำหรับควบคุมระบบไฟฟ้า

กลุ่มที่ 2 สินค้าที่มีโอกาสผลักดันการส่งออก แม้ว่ายังคงอัตราภาษีนำเข้าในอัตราใกล้เคียงกับสหภาพยุโรปและอยู่ภายใต้ระบบโควตาภาษี ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าอ่อนไหวของ สหราชอาณาจักร มูลค่า 1,282.74 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 31.86 % ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไป สหราชอาณาจักร อาทิ เนื้อสัตว์ ไก่แปรรูปปรุงสุก ยานพาหนะเพื่อการขนส่งสินค้า รถจักรยานยนต์ รถยนต์และยานยนต์เพื่อขนส่งบุคคล และข้าว และกลุ่มที่ 3 สินค้าที่ไม่น่าจะได้รับผลกระทบ เนื่องจากภาษีนำเข้า 0 % อยู่แล้ว มูลค่า 238.91 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 5.93 % ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไปสหราชอาณาจักร อาทิ แผงวงจรไฟฟ้า และเครื่องโทรศัพท์ รวมถึงเครื่องอุปกรณ์อื่น ๆ สำหรับการส่งหรือการรับเสียง ภาพ หรือข้อมูลอื่นๆ

“ การยกเว้นภาษีนำเข้าชั่วคราวเป็นระยะเวลา 1 ปีของ สหราชอาณาจักรจะส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าในกลุ่มแรก รวมทั้งเป็นโอกาสที่ภาคเอกชนไทยจะผลักดัน ให้เกิดการขยายการส่งออกสินค้าที่มีศักยภาพของไทยไปยังสหราชอาณาจักรได้มากขึ้น” นางสาวพิมพ์ชนก กล่าว

อย่างไรก็ดี ผู้ผลิตและ ผู้ส่งออกของไทยที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของการส่งออกสินค้าไปยังสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปควรติดตามสถานการณ์เบร็กซิทอย่างใกล้ชิดเนื่องจากอาจได้รับผลกระทบจากการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุน นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการส่งออกของไทยไปสหราชอาณาจักร เช่น ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน กำลังซื้อของผู้บริโภคในสหราชอาณาจักรที่มีแนวโน้มลดลง ตลอดจนการชะลอตัวของเศรษฐกิจในยุโรปและเศรษฐกิจโลก เป็นต้น ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะติดตามสถานการณ์เบร็กซิทอย่างใกล้ชิดเพื่อเร่งหาโอกาส เพื่อขับเคลื่อนการส่งออกของไทยอย่างต่อเนื่อง

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า ปัญหาเบร็กซิทก็เหมือนกับปัญหาสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐที่ทำให้สินค้าไทยไปทดแทนในตลาดของจีนและสหรัฐในบางรายการ อย่างไรก็ตามเมื่ออังกฤษออกจากอียูมีหรือไม่มีข้อตกลงก็จะกระทบภาพรวมของเศรษฐกิจของอียูและอังกฤษชะลอตัว และจะทำให้มีปัญหาค่าเงินทำให้กำลังซื้อลดลง ทั้งนี้ก็คงต้องใช้โอกาสในปีแรก ในกรณีที่อังกฤษออกจากเบร็กซิทแบบไม่มีข้อตกลงเพื่อเพิ่มสัดส่วนตลาดของไทย