“เมืองสีเขียว” หรือ “พัทลุง กรีน ซิตี้” เพื่อให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี

“เมืองสีเขียว” หรือ “พัทลุง กรีน ซิตี้” เพื่อให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี

“พัทลุง”จังหวัดเล็กๆที่จัดเป็นเมืองรองในพื้นที่ภาคใต้ มีประชากรราว 5.25 แสนคน แต่กล้าที่จะประกาศตัวทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ นั่นคือ การกำหนดเป้าหมายจังหวัดสู่การเป็น “เมืองสีเขียว” หรือ “พัทลุง กรีน ซิตี้” เพื่อให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี

      เป็นส่วนหนึ่งของ “หน่วยจัดการพื้นที่จังหวัดพัทลุง” หรือ Node Flagship พัทลุง จากการสนับสนุนของแผนสร้างสรรค์โอกาส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ซึ่งการขับเคลื่อนเข้าปีที่ 2 เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น อย่างเช่นที่ “บ้านขาม“ พื้นที่ติดเทือกเขาบรรทัด และ “บ้านบางขวน”พื้นที่ติดริมทะเลสาบสงขลา

สกู๊ปหลัก_๑๙๐๙๓๐_0004

        ณ บ้านขาม ต.ลำสินธุ์ อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง สหจร ชุมคช เกษตรกร วัย 46 ปี ผู้ที่กล้าท้าทายแหกกฎการทำสวนยางแบบเดิมๆตั้งแต่เมื่อ 10 ปีก่อน ในช่วงเวลาที่ราคายางพารายังไม่ตกต่ำเท่าทุกวันนี้ โดยหลังจากไปร่ำเรียนและทำงานในเมืองหลวงนานนับ 10 ปี บวกกับมีความสนใจในเรื่องต้นไม้เป็นทุนเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งพืชท้องถิ่น กระทั่ง ในปี 2551  สหจร ตัดสินใจกลับมาอยู่บ้าน ทว่า เป้าหมายไม่ใช่เพียง “กรีดยาง” แต่เขาต้องการทำให้”สวนยาง”มีมากกว่า”ต้นยางพารา” ที่เป็นเกษตรเชิงเดี่ยว ด้วยการทำ “ป่าร่วมยาง”

 

สกู๊ปหลัก_๑๙๐๙๓๐_0002

      สหจร เริ่มต้นด้วยตัวคนเดียวเพียงลำพัง โดยการเริ่มสะสมต้นไม้ที่เขาเคยพบเห็นในสวนยางสมัยเด็กๆ ที่นับวันจะเริ่มหายากและสูญพันธุ์ จากการที่ใช้สารเคมีอันตรายในสวน นำมาเพาะขยายและปลูกในสวนยาง ท่ามกลางสายตาคนในชุมชนที่มองว่า”เขาบ้า” เพราะสิ่งที่สหจร ทำนั้นเป็นการ “ฉีกกฎ”การทำสวนยางแบบเดิมๆ ที่มีความเชื่อว่า “หากปลูกพืชอื่นในสวนยาง ยิ่งมาก ยิ่งทำให้น้ำยางออกไม่ดี”

      

        แม้แต่ภรรยาก็ไม่เห็น เมื่อสหจร ปลูกต้นไม้ ภรรยาก็จะเดินตามและถอนทิ้ง เพราะไม่เข้าใจสิ่งที่เขาคิดจะทำ เหนืออื่นใดในการปลูกป่าร่วมยางของสหจร เป็นแบบเกษตรอินทรีย์ ไม่มีการใช้สารเคมีใดๆทั้งสิ้น แม้แต่ปุ๋ยเคมี อาศัยระบบธรรมชาติพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันถึงวันนี้ผ่านมา 10 ปี “สวนปันแสง” เนื้อที่ 7 ไร่ รกคลึ้มไปด้วยต้นไม้ 6 ชั้น มีมากกว่า 1,000 ชนิด ทั้งพืชใบ พืชดอก ผัก ผลไม้ และสมุนไพร และพืชแทบทุกชนิดสามารถส่งขายเป็นรายได้ให้กับครอบครัวไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1- 3 หมื่นบาท อย่างเช่น ดอกเอื้องหมายนา กิโลกรัมละ 800 บาท หรือต้นตีนตุ๊กแกกิโลกรัมละ 150 บาท ดอกดาหลา ลูกฉิ่ง ว่านสาวหลง และอื่นๆ

   

สกู๊ปหลัก_๑๙๐๙๓๐_0001

       ซึ่งลูกค้าสำคัญของสหจร เป็นเชฟระดับมิชลินสตาร์ที่ปัจจุบันนิยมให้ความสำคัญกับการใช้พืชท้องถิ่นปลอดสารพิษจากภูมิภาคต่างๆมาประกอบอาหารหรือประดับจานอาหารมากขึ้น ราวมถึงรายได้จากการเพาะเมล็ดพันธุ์ต้นกล้าขาย ใน 1 ปีได้เงินมาเกือบ 1 แสนบาท

       

สกู๊ปหลัก_๑๙๐๙๓๐_0003

       จนผลผลิตเฉพาะสวนของสหจรไม่เพียงพอ จึงมีการรวมตัวเป็นเครือข่ายคนในชุมชน ปรับเปลี่ยนการทำสวนยางเชิงเดี่ยว มาทำเรื่อง “ป่าร่วมยาง” ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น ไม่หวังพึ่งเพียงการขายยางพาราเท่านั้น สิ่งสำคัญ ยังเป็นการขยายวงลดใช้สารเคมี มุ่งเน้นเกษตรอินทรีย์ เพราะการปลูกพืชร่วมยางต้องเป็นพืชท้องถิ่น ทนต่อสภาพอากาศ และมีการจัดระบบในสวน ปลูกพืชชั้นนอก เพื่อเป็นเหมือนแนวกำแพงควบคุมความชุ่มชื้นภายในสวน ด้วยการใช้ไม้แตกกอ

   

     

        ภายในสวนต้องมีไม้หลักทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง ให้ร่มเงาและความชุ่มชื้น อาจจะใช้ต้นยางเดิม และต้องรู้ว่าพืชที่จะปลูกนั้นชอบแดดมากหรือแดดรำไร ต้องดูสภาพพื้นทที่ด้วย ปัจจุบัน สวนยางปันแสงเป็น “สวนการเรียนรู้พันธุกรรมพืชตำบลลำสินธุ์” และเป็นต้นแบบในการสร้างแหล่งอาหารปลอดภัย

สกู๊ปหลัก_๑๙๐๙๓๐_0005

  “สวนยางส่วนใหญ่จึงจะมีลักษณะโล่งเตียน แต่เราต้องกล้าที่จะแหกกฎการทำสวนยางเดิมๆ เราถึงจะพบแนวทางใหม่ๆ ทุกวันนี้ ผลผลิตต่อไร่ดีกว่ายางพาราถึง 10 เท่า กลายเป็นรายได้หลัก มากกว่าขายน้ำยางที่กรีดได้ 2-3 เท่า โดยการทำตลาดส่วนใหญ่ใช้ช่องทางโซเชียลมีเดีย”สหจร กล่าวอย่างเชื่อมั่น 

    

         ปัจจุบัน “โครงการป่าร่วมยาง”เป็นพื้นที่ศึกษาต้นแบบ ด้านอาหารปลอดภัย ของ "หน่วยจัดการพื้นที่จังหวัดพัทลุง” ซึ่งสสส.เป็นแกนหลักสำคัญประสานความร่วมมือกับภาคประชาชน กำหนดเป้าหมายสู่ “พัทลุง กรีน ซิตี้ คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี” มียุทธศาสตร์ขับเคลื่อนด้านสุขภาวะ 4 ประเด็น ได้แก่ 1.สิ่งแวดล้อมดี ชุมชนปลอดมลพิษ 2.ทรัพยากรชายฝั่งเพิ่มขึ้น 3.อาหารปลอดภัย และ4.การท่องเที่ยว ส่งเสริมสินค้าวัฒนธรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

สกู๊ปหลัก_๑๙๐๙๓๐_0006

       ภายใต้ยุทธศาสตร์ ปี  2561-2564 "พัทลุง เมืองคนคุณภาพ สิ่งแวดล้อมดี ชุมชนเข้มแข็ง เติบโตและม่ั่งคั่งจากฐานการเกษตร วัฒนธรรม ภูมิปัญญา และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ยั่งยืน เช่นเดียวกับโครงการ "เขตอนุรักษ์สัตว์น้ำบ้านบางขวน"

 

อ่านเรื่อง “เขตอนุรักษ์สัตว์น้ำบางขวน”พลิกฟื้น...ทะเลสาบสงขลา แหล่งอาหารสำคัญชาวบ้าน ต่อที่ https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/849207