นายกฯถกด่วนเร่งแก้“ฝุ่นพิษ”

นายกฯถกด่วนเร่งแก้“ฝุ่นพิษ”

นายกฯ เรียกประชุมด่วนหน่วยงานเกี่ยวข้อง - 16 ผู้ว่าฯ ระดมเร่งแก้ฝุ่นพิษ หลังกทม.-ปริมณฑล สูงเกินค่ามาตรฐาน คพ.แจงช่วงเฝ้าระวังยังไม่วิกฤติ มีฝนตกช่วยบรรเทา ชี้สาเหตุลมสงบช่วงเปลี่ยนฤดู ขณะที่ กทม.ค่าเกิน 33 เขต จ่อประกาศพื้นที่ควบคุม

สถานการณ์มลพิษทางอากาศ จากปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ พีเอ็ม 2.5 ได้เพิ่มขึ้นจนแตะระดับอันตรายต่อสุขภาพประชาชนในหลายพื้นที่ประเทศไทย ได้กลับมาอีกระลอก ทำให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามเร่งแก้ปัญหา

วานนี้(30ก.ย.)กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยนายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดี คพ.เปิดเผยว่า จากการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดย คพ.ร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) พบปริมาณฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ตรวจวัดได้ระหว่าง 40-78 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) เกินเกณฑ์มาตรฐาน 33 สถานี ซึ่งค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 มคก.ต่อลบ.ม.

โดยในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้แก่ เขตบางขุนเทียน เขตปทุมวัน เขตธนบุรี เขตวังทองหลาง เขตดินแดง เขตสัมพันธวงศ์ เขตพญาไท เขตบางรัก เขตสาทร เขตบางคอแหลม เขตยานนาวา เขตจตุจักร เขตคลองสาน เขตบางกอกน้อย เขตภาษีเจริญ เขตคลองเตย เขตบางซื่อ เขตหลักสี่ เขตบางเขน เขตบึงกุ่ม เขตบางพลัด และบริเวณถนนสิริธร

ส่วน จ.นนทบุรี บริเวณ อ.บางกรวย และอ.ปากเกร็ด และ จ.ปทุมธานี บริเวณ อ.คลองหลวง จ.สมุทรปราการ บริเวณ อ.พระประแดง และอ.เมืองสมุทรปราการ ส่วน จ.สมุทรสาคร บริเวณ อ.กระทุ่มแบน จ.นครปฐม บริเวณ อ.เมืองนครปฐม ปริมาณฝุ่นละอองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้าเกือบทุกพื้นที่ คุณภาพอากาศอยู่ในระดับปานกลางถึงเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ

สาเหตุเนื่องจากสภาพอากาศที่กรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่า ช่วงเช้าลมสงบความชื้นสูงเกิดการผกผันกลับของอุณหภูมิในช่วงเช้า ประกอบกับระยะนี้มีฝนตกน้อยลง เป็นระยะที่กำลังเปลี่ยนฤดูกาล จึงทำให้ฝุ่นละอองสะสมเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ คพ. กทม. บก.จร.(กองบังคับการตำรวจจราจร) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอความร่วมมือประชาชน งดการเผาในที่โล่งทุกชนิด บำรุงรักษาเครื่องยนต์ไม่ให้เกิดควันดำ ใช้ระบบขนส่งสาธารณะทดแทนการใช้รถส่วนบุคคล ตรวจสอบและไม่ใช้รถขนส่งสาธารณะที่มีควันดำ และขอความร่วมมือสถานที่ก่อสร้างและโรงงานอุตสาหกรรมควบคุมและลดการระบายฝุ่นและมลพิษทางอากาศ

วันเดียวกันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า “เช้าวันนี้หลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีปริมาณฝุ่นละอองพีเอ็ม 2.5 อยู่ในระดับเกินเกณฑ์มาตรฐานครับ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแผนที่ได้เตรียมไว้อย่างเร่งด่วน และขอความร่วมมือสถานที่ก่อสร้างและโรงงานอุตสาหกรรม ลดการระบายฝุ่นและมลพิษทางอากาศในช่วงนี้สำหรับพี่น้องประชาชนที่มีความจำเป็นต้องออกไปทำกิจกรรมข้างนอกก็ขอให้สวมหน้ากากอนามัยด้วยครับ”

 

ประชุมด่วนหน่วยงาน-16ผู้ว่าฯ

ต่อมาเวลา 16.00 น.หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายกฯได้ขึ้นไปยังตึกไทยคู่ฟ้า เพื่อเป็นประธานการประชุมแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และมีการวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่นและหมอกควันรวม 16 จังหวัด 

มีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงคมนาคม เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ

นายกฯ กล่าวเปิดการประชุมตอนหนึ่งว่า ในช่วงที่ผ่านมาเราเจอปัญหาอุทกภัยในหลายจังหวัด ปัจจุบันอยู่ในสถานการณ์ที่ดีขึ้น บางส่วนยังต้องมีการระบายน้ำเพิ่มเติมในปัจจุบัน ขณะที่ค่าฝุ่น PM2.5 ขณะนี้อยู่ในระดับที่เกินมาตรฐาน จึงต้องเตรียมการในส่วนของรัฐบาล ซึ่งรองนายกฯ รมว.มหาดไทย รมว.คมนาคม รมว.สาธารณสุข สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า ต้องหารือกันในที่ประชุมเพื่อรับทราบสถานการณ์ก่อนจะสั่งการอะไรเพิ่มเติม

ระบุช่วงเฝ้าระวัง-ยังไม่วิกฤติ

ภายหลังการประชุม นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดี คพ.เปิดเผยว่า สถานการณ์ดังกล่าวเริ่มตั้งแต่วันที่ 24 ก.ย.จนค่า PM2.5 สูงเกินมาตรฐาน 15 พื้นที่ และในวันนี้ขยายตัวเป็น 33 พื้นที่ แต่ยืนยันว่าค่าที่เกินมาตรฐานยังไม่เป็นอันตรายสุขภาพ แต่จะเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ เพราะค่าเกิน 50 มคก.ไปแล้ว ช่วงบ่ายที่ผ่านมา พบว่าค่าฝุ่นละอองลดลงทุกพื้นที่ เพราะมีฝนตกลงมาช่วย ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาได้พยากรณ์ว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.จะมีปริมาณฝนตกลงมามากขึ้น คาดว่าปลายสัปดาห์นี้จะกลับสู่สภาพปกติ เพราะขณะนี้ถือว่าอยู๋ในช่วงเฝ้าระวัง ยังไม่เข้าขั้นวิกฤติ เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ก็ไม่จำเป็นต้องดำเนินมาตราการใดๆ

ทั้งนี้ นายกฯแจ้งที่ประชุมว่า สาเหตุของการเกิดฝุ่นละอองเกิดจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ แต่สิ่งที่เราควบคุมได้คือการใช้ยานพาหนะโดยเฉพาะรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของปัญหา มีสัดส่วน 54 % และการเผาไหม้ในที่โล่ง 35 % ขณะที่โรงงานอุตสาหกรรม และอื่นๆสร้างฝุ่นละออง 3-5 % เท่านั้น

รับทราบแผนปฏิบัติ 3 ระยะ

ในที่ประชุมได้รับทราบแนวทางแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ที่จะมีแนวทางแก้ปัญหาใน 3 ระยะ คือก่อนเกิดวิกฤติ ช่วงเกิดวิกฤติ และหลังวิกฤติ อาทิ การแก้ปัญหาในเชิงพื้นที่กรุงเทพฯหากค่าฝุ่นเกิน 50 มคก.จะเพิ่มจุดตรวจควันดำ จากเดิม 10 จุด เป็น 21 จุด และหากปริมาณฝุ่นเกิน 75 มคก. ผู้ว่าฯกทม.มีอำนาจตามพ.ร.บ.สาธารณสุข สามารถออกคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น การประกาศปิดโรงเรียน 437 แห่งอย่างเมื่อปีที่แล้ว ส่งผลให้ค่าฝุ่นลดลงอย่างเห็นได้ชัด 

ทั้งนี้ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก แต่ขอให้ตระหนักกับสถานการณ์ที่้เกิดขึ้น และสามารถติดตามค่าฝุ่นละออง ผ่านแอพพลิเคชั่น Air4Thai

กทม.จ่อประกาศพื้นที่ควบคุม

ด้านนายชวินทร์ ศิรินาค ผอ.สำนักอนามัย กทม. กล่าวกรณีสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เรียกร้องภาครัฐเตรียมพร้อมรับมือปัญหาฝุ่นละอองว่า สำนักอนามัย ได้บูรณาการความร่วมมือกับสำนักสิ่งแวดล้อม สำนักงานเขต และกระทรวงสาธารณสุข ในการกำหนดแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยมาตรการเร่งด่วนเมื่อมีปริมาณฝุ่นเกินมาตรฐาน สำนักอนามัยจะนำเรียนผู้ว่าฯกทม.เพื่อออกประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ กำหนดแหล่งก่อเหตุและมาตรการในการระงับเหตุรำคาญ แจกหน้ากากอนามัยที่สามารถป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยง

นอกจากนี้ จะออกหน่วยแพทย์ให้บริการในพื้นที่ที่สถานการณ์คุณภาพอากาศเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ รวมถึงให้คำแนะนำแก่ประชาชนในการดูแลตนเองและป้องกัน ส่วนมาตรการระยะยาว ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำหลักเกณฑ์ การประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพที่เป็นแหล่งก่อมลพิษอากาศ เช่น กิจการคอนกรีตผสมเสร็จ การเผาถ่าน เป็นต้น

ด้านนายสมชาย จึงมีโชค ผอ.สำนักการแพทย์ กทม. ระบุว่าได้เตรียมความพร้อมของ โรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ทุกแห่งในการรับมือกับผู้ป่วย และได้ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ตรวจสุขภาพและให้ความรู้แก่ประชาชนในการดูแลป้องกันตนเอง แจกหน้ากากอนามัยป้องกัน รวมทั้งให้ความรู้ผ่านสื่อต่างๆ

สั่งจุดก่อสร้างฉีดพ่นละอองน้ำ

ส่วนนายชาตรี วัฒนเขจร ผอ.สำนักสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. กล่าวว่า สำนักสิ่งแวดล้อม ได้เตรียมความพร้อมรับมือและแต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 อีกทั้งตั้งศูนย์ประสานงานแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลเพื่อเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ฝุ่นละอองอย่างต่อเนื่อง ส่วนมาตรการในระยะยาว กทม. จะเร่งผลักดันให้มีการปรับปรุงมาตรฐานการระบายไอเสียรถยนต์และคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง รณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งสาธารณะแทนการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล และการจัดพื้นที่จอดแล้วจร เป็นต้น

ขณะที่ นายไทวุฒิ ขันแก้ว รอง ผอ.สำนักการโยธา กล่าวว่า สำนักการโยธา ได้ร่วมกับสำนักงานเขต ตรวจติดตาม ดูแลโครงการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคารให้ปฏิบัติตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ อย่างเคร่งครัด รวมทั้งกำหนดเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตก่อสร้างดัดแปลงหรือรื้อถอนอาคาร ให้ผู้ได้รับอนุญาต ต้องปฏิบัติตามวิธีการเงื่อนไขการก่อสร้างฯ โดยต้องฉีดพ่นละอองน้ำบนอาคาร และบริเวณรอบสถานที่ก่อสร้างอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดปัญหาฝุ่นละออง 

รวมทั้งขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้ปลูกต้นไม้ใหญ่ในโครงการและบริเวณโดยรอบแนวเขตที่ดินของโครงการ เพื่อเป็นแนวป้องกันมลพิษจากการก่อสร้างไม่ให้กระจายออกไป

มลพิษไทยขึ้นอันดับ1ของโลก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเว็บไซต์ airvisual.com รายงานสภาพปริมาณมลพิษทางอากาศ โดยใช้หน่วย AQI ประมวลผล พบว่าในช่วงเช้าวันที่ 30 ก.ย. กรุงเทพฯ เมืองหลวงไทย ขึ้นมาอยู่ในอันดับ 2 ของเมืองที่มีค่าปริมาณฝุ่นพีเอ็ม 2.5 มากที่สุด ซึ่งมีค่า AQI อยู่ที่ 175 และล่าสุดเวลา 18.15 น.วันเดียวกัน กรุงเทพฯ ขึ้นมาอันดับ 1 ค่า AQI อยู่ที่ 162 อันดับ 2 เมืองดูไบ 159 และอันดับ 3 เมืองฮานอย เวียดนาม 158

ขณะที่ในโลกออนไลน์ ได้มีการโพสต์และแชร์ภาพท้องฟ้าสีเทาที่ขมุกขมัวไปด้วยฝุ่นละอองปกคลุมไปทั่วเมืองหลวงตลอดทั้งวัน