33 สถานี 'กทม.-ปริมณฑล' ค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน

33 สถานี 'กทม.-ปริมณฑล' ค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน

"โฆษกรัฐบาล" เผย 33 สถานี "กทม.-ปริมณฑล" มีค่าฝุ่นละออง PM2.5 กลับมาเกินเกณฑ์มาตรฐาน แต่สถานการณ์อยู่ในขั้นเกิดก่อนวิกฤต ชี้นายกฯสั่งเร่งแจกหน้ากากอนามัยให้ประชาชน

เมื่อวันที่ 30 ก.ย.62 นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ที่กลับมาเกินเกณฑ์มาตรฐานในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธาน ว่า นายกฯ ได้รับทราบรายงานตัวเลขจากกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งสถานการณ์เริ่มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนายกฯ มีความกังวล ซึ่งเช้าวันเดียวกันนี้ข้อมูลล่าสุดที่ นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และการประชุมในช่วงบ่าย นายกฯ ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า ขณะนี้ค่าฝุ่นละออง PM2.5 ตรวจวัดได้ที่ระหว่าง 40 ถึง 78 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือว่าเกินมาตรฐานทั้งหมด อยู่ถึง 33 สถานี

ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้แก่ เขตบางขุนเทียน เขตปทุมวัน เขตธนบุรี เขตวังทองหลาง เขตดินแดง เขตสัมพันธวงศ์ เขตพญาไท เขตบางรัก เขตสาทร เขตบางคอแหลม เขตยานนาวา เขตจตุจักร เขตคลองสาน เขตบางกอกน้อย เขตภาษีเจริญ เขตคลองเตย เขตบางซื่อ เขตหลักสี่ เขตบางเขน เขตบึงกุ่ม เขตบางพลัด และบริเวณถนนสิริธร

 

นอกจากนั้น ยังมีที่บริเวณ อ.บางกรวย และ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี บริเวณ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี บริเวณ อ.เมือง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ อ.กระทุ่มแบน และ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร และที่บริเวณ อ.เมือง จ.นครปฐม ปริมาณฝุ่นละอองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้าเกือบทุกพื้นที่ คุณภาพอากาศเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทั้งนี้ นายกฯ มอบหมายให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องรายงานถึงสถานการณ์และแผนการปฏิบัติการที่จะดำเนินการต่อไปหลังจากที่เราเคยมีบทเรียนมาแล้ว ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขชี้แจงว่าได้มีการแจ้งเตือนกับประชาชนไปเรียบร้อยแล้ว อาทิ ไม่ให้มีการออกกำลังกายกลางแจ้ง หรือสตรีที่มีครรภ์และเด็กควรสวมใส่หน้ากากอนามัย ในส่วนของกระทรวงคมนาคมได้รายงานความคืบหน้าถึงมาตรการคุมเข้มในเรื่องของรถยนต์สาธารณะและรถยนต์ทั่วไปเรื่องของควันดำ ซึ่งหากมีควันดำที่เกินเกณฑ์มาตรฐานรถสาธารณะต้องหยุดเพื่อทำการซ่อมปรับปรุงก่อน ซึ่งแผนระยะยาวก็จะต้องไปดูในเรื่องการใช้น้ำมันที่ก่อให้เกิดมลพิษน้อยลง รวมทั้งการใช้รถยนต์ที่ทำให้ไม่มีฝุ่นและควันอันตราย

 

นางนฤมล กล่าวยืนยันว่า การแก้ปัญหารัฐไม่ได้รอให้ธรรมชาติหรือปริมาณฝนช่วยเพียงอย่างเดียว ซึ่งขณะนี้มีมาตรการและแผนปฏิบัติการต่างๆ สำหรับการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองไว้อยู่แล้ว ทั้งนี้ คาดว่าจะมีการนำเข้าสู่การพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งมีแผนในการรับมือ 3 ระยะ ระยะแรก คือ การก่อนเกิดวิกฤต ระยะที่สอง คือ เมื่อเกิดวิกฤตแล้วจะทำอย่างไร และระยะที่สาม คือ หลังวิกฤตจะมีการดำเนินการแก้ไขเยียวยาอย่างไร

"ขณะนี้ถือว่าสถานการณ์อยู่ในขั้นเกิดก่อนวิกฤต วันนี้ถือว่าฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพแต่เป็นช่วงที่เข้ามาหลงฤดู ซึ่งนายกฯ ได้แนะนำว่าถ้าหากเป็นไปได้ก็ให้ทุกหน่วยงานเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันฝุ่นละอองที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยมอบหมายให้กระทรวงสาธารณะสุขได้เร่งจะจ่ายหน้ากากอนามัยให้กับประชาชนด้วย