ส่งต่อธุรกิจที่ดีจากรุ่นสู่รุ่นกฏทองทายาท ‘นันยาง’

ส่งต่อธุรกิจที่ดีจากรุ่นสู่รุ่นกฏทองทายาท ‘นันยาง’

หนึ่งในปัญหาที่ทายาทธุรกิจหลายต่อหลายคนมักพบเจอก็คือ "ขายงานไม่ผ่าน" ไม่ว่าพยายามนำจะเสนออะไร พ่อแม่ก็ไม่เห็นด้วย ทำอย่างไรจึงจะผ่านฉลุย?

มีเคล็ดลับอยู่ 3 ข้อ ในการขายงานให้พ่อแม่ได้สำเร็จ ประกอบด้วย 1. 5W1H 2.Feasibility Study+ROI และ 3. Worst-Case Scenario 

เป็นคำแนะนำของ “จักรพล จันทวิมล” ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและขาย บริษัท นันยางมาร์เก็ตติ้ง จำกัด  ในฐานะทายาทรุ่นที่สาม ทั้งยังสามารถพลิกฟื้นธุรกิจที่เคยเก่าเก็บให้กลับมาครองใจคนรุ่นใหม่ ให้ทุกก้าวเป็นตำนานได้อย่างเหลือเชื่อ ในหมายเหตุในปีนี้นันยางมีอายุ 67 ปีแล้ว

อย่างไรก็ดี เขาบอกว่าต้องทำความเข้าใจกันก่อนถึงคำว่าขายงานกับการขายไอเดีย ขายงานจะหมายถึงสิ่งที่จับต้องได้ เป็นสิ่งที่ทำมาระยะหนึ่งเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ขณะที่ไอเดียเป็นเพียงแค่ความคิด เป็นเพียงแค่จินตนาการ เป็นอะไรที่จับต้องไม่ได้ ดังนั้นการขายในสิ่งที่จับต้องได้ย่อมต้องมีภาษีที่ดีกว่าสิ่งที่จับต้องไม่ได้

จะให้ดีการขายงานต้องเตรียมให้ครบทั้ง 3 ข้อข้างต้น เริ่มจาก 1. 5W1H หรือ The Kipling method เป็นวิธีนี้ที่ช่วยการสำรวจและวิเคราะห์ปัญหาโดยการท้าทายด้วยคำถาม ประกอบด้วยWho ต้องรู้ว่า ใครรับผิดชอบ ใครเกี่ยวข้อง ใครได้รับผลกระทบ What เราจะทำอะไร Where สิ่งที่ทำนั้นอยู่ที่ไหน When กรอบระยะเวลาที่จะทำ Why ต้องรู้ว่า สิ่งที่จะทำนั้น ทำเพราะอะไร และ How ที่ต้องรู้ว่าจะทำให้บรรลุผลได้อย่างไร 

2.Feasibility Study+ROI หมายถึงต้องศึกษาความเป็นไปได้ด้านต่างๆ เพื่อให้แน่ใจว่าน่าทำ น่าลงทุนหรือไม่อย่างไร ส่วน ROI ย่อมาจาก Return on Investment ก็คือผลตอบแทนจากการลงทุนจะคุ้มค่าหรือได้กำไรหรือไม่ และ 3.Worst-Case Scenario นักธุรกิจมองแค่ภาพสวยไม่ได้ต้องพยายามรู้ถึงกรณีเลวร้ายที่สุดที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย เพื่อคิดแผนในการรับมือได้ทัน ไม่ให้เกิดเสียหายหนัก

ข้อควรระวังก็คือ ในการจะขายงานแต่ละครั้ง ก็ไม่ควรทำให้เป็นวาระพิเศษ ทำให้เป็นเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ เพราะโดยปกติไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่หรือคนทั่วไป หากเป็นอะไรที่รู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องปกติก็มักจะรีบถอยหลบฉาก แน่นอนว่ามีโอกาสจะขายงานไม่ผ่าน จึงต้องทำให้เป็นเรื่องปกติ ในการทำงานควรมีการจัดประชุมกันเป็นประจำ ทั้งรายสัปดาห์ รายเดือน รายไตรมาส เพื่อให้ทุกคนได้นำเสนองาน หากอยากขายงานก็ขายในการประชุม นอกจากนี้ก็เพื่ออัพเดทเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น

ที่ต้องระมัดระวังห้ามทำเป็นอันขาดก็คือ ห้ามขายงานในช่วงเวลาที่ไม่ใช่งานแต่เป็นของครอบครัว ทายาทห้ามขายงานให้กับพ่อแม่ในโต๊ะกินข้าว หรือเวลาที่ครอบครัวดูทีวีผ่อนคลายด้วยกันที่บ้าน

จักรพลมองว่าปัญหาที่ทำให้ทายาทคุยกับพ่อแม่ไม่รู้เรื่องเวลานี้ เป็นเรื่องของมุมคิด โดยเฉพาะความเข้าใจในคำว่า “เจ้าของ”

"เราจะสิ้นสุดความเป็นเจ้าของตั้งแต่วันแรกที่ตัดสินใจเข้าไปทำงานกับที่บ้าน เราจะไม่ใช่เจ้าของอีกต่อไป แม้ว่าเราเกิดมาเป็นเจ้าของ หรือแม้ภาพของเราในมุมของเพื่อนฝูงหรือคนทั่วไปก็คือเจ้าของ ถ้าคิดแบบนี้ได้ก็จะไม่มีปัญหา เพราะการมีเจ้าของหลายคนก็มักจะมีปัญหา เหมือนกับบ้านที่ยังต้องมีชื่อเจ้าของเพียงคนเดียว"

เพราะส่วนใหญ่ช่วงเวลาที่ทายาทเข้าไปรับช่วงต่อ ธุรกิจก็ยังคงมีพ่อแม่เป็นหลักเป็นผู้ขับเคลื่อนธุรกิจอยู่ ยกเว้นว่าพ่อแม่จะเสียชีวิตไปแล้วทายาทจึงจะมีภาพเจ้าของโดยสมบูรณ์จักรพลบอกว่ามี 3 องค์ประกอบหลักๆในความเป็นธุรกิจครอบครัว 1.ครอบครัว หมายถึงคนในครอบครัว ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อแม่ ลูกหลาน ซึ่งจะมีเป้าหมายว่าทุกคนต้องรักกัน สามัคคีกัน 2. ธุรกิจ หมายถึงผู้ถือหุ้นและนักลงทุน ที่มีเป้าหมายเป็นผลตอบแทนจากการลงทุน และ 3. เจ้าของ หมายถึงประธานบริษัท กรรมการบริษัท ผู้จัดการ หัวหน้า ลูกน้อง ที่มีเป้าหมายเป็นผลตอบแทนจากการงาน

“ปัญหามันเกิดขึ้นเพราะการมีหมวกอยู่ 3 ใบที่นำมาใส่อยู่ในหัว ๆเดียว ในเวลาเดียวกัน มีความจำเป็นที่ทายาทจะต้องแยกหมวกจากกันในแต่ละช่วงเวลาให้ได้”

การเป็นทายาท เป็นลูกเจ้าของ ไม่ใช่เจ้าของ ไม่ใช่ผู้บริหาร ดังนั้นการเข้าไปช่วยทำงานให้ธุรกิจของครอบครัว ทายาทต้องรู้บทบาทหน้าที่ แน่นอนว่าไม่ควรไปล้ำเส้นหรือก้าวก่าย คอมเมนท์คนทำงานในแผนกงานอื่นๆเขาบอกว่ามีเคล็ดลับง่ายๆ ด้วยกฏ “Do” หรือสิ่งที่ควรทำ กับ “Do Not” สิ่งที่ไม่ควรทำ

เริ่มจากเมื่อเรียนจบก็ควรทำงานที่อื่น ไม่ควรมาทำงานกับที่บ้านทันทีแทนที่คิดแต่จะเปลี่ยนหัวหน้า หรือพ่อแม่ ก็ควรเริ่มต้นปรับเปลี่ยนความคิด วิธีการของตัวเองเสียก่อนทายาทต้องมีความเป็นมืออาชีพ ควรคิดแบบเจ้าของ ทางตรงข้ามต้องทำงานแบบคนทำงาน ไม่ควรทำงานแบบเจ้าของเพราะหนีไม่พ้นการทำตัวเหนือกว่าชาวบ้านหรือพนักงานคนอื่นๆ

“ที่บ้านของผมกำหนดไว้เลยว่าลูกหรือหลานต้องไปทำงานข้างนอกก่อน 2 ปี ก่อนจะให้เข้ามาช่วยงาน และเราก็ไม่ให้เขยกับสะใภ้เข้ามาด้วยเพราะไม่ต้องการให้เกิดปัญหา” 

จักรพลเองภายหลังที่เรียนจบ MIS คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขาเคยทำงานที่องค์กรใหญ่ก็คือ SCG  ซึ่งถือเป็นประสบการณ์ที่ดี ทำให้เขามีเพื่อนฝูงมากมาย และสร้างความประทับใจให้เขาอย่างไม่มีวันลืม

One time shot เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ แต่ที่ดีกว่าก็คือ คือการคิดว่าความผิดพลาดเกิดขึ้นได้เสมอ ต้องพยายามลองผิดลองถูก ผิดแล้วก็ต้องเรียนรู้  เมื่อล้มแล้วลุก แต่สุดท้ายต้องตั้งใจคิดจะทำจริงๆ และไม่เพียงแค่สมาชิกคนในครอบครัวเท่านั้น หรือ Only family member แต่ความยั่งยืนของธุรกิจจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมองหามืออาชีพมาร่วมทำงานด้วย

สุดท้ายเขามองว่า ไม่ใช่การ “Rebrand” แต่สิ่งที่ทายาทควรให้ความสำคัญก็คือ การ “Restructure” ประเด็นสำคัญที่สุดก็คือ การทำให้คนในครอบครัว รวมถึงทุกคนในบริษัทรู้และทำในสิ่งที่ต้องรับผิดชอบภายใต้ตำแหน่งหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ตาม JD (Job Description) ที่บริษัทกำหนดไว้  เรียกว่าก่อนอื่นต้องไปเริ่มแก้ไขกันที่ต้นตอ คือต้องเตรียมความพร้อมภายในองค์กรให้ดีก่อน ถ้าดีแล้วเรื่องอื่น ๆก็จะกลายเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายมาก ๆ

--เรียบเรียงจากการบรรยายวิชา “เตรียมความพร้อมขายงานพ่อแม่ สำหรับทายาทรุ่นสอง” ในงานทายาทรุ่นสอง Good Family Business Conference จัดโดย TheCloud