ส่องขุมทรัพย์ “ไลน์" 2 พันล.ลุยปั้นบริการดิจิทัล 24 ชั่วโมง

ส่องขุมทรัพย์ “ไลน์" 2 พันล.ลุยปั้นบริการดิจิทัล 24 ชั่วโมง

ไม่จำเป็นต้องอยู่บนไลน์ 24 ชม. แต่ใน 24 ชม.ถ้านึกจะทำอะไร ไลน์ต้องสามารถตอบโจทย์ได้

ส่องยุทธศาสตร์โต “ไลน์ ประเทศไทย” หลังได้ผู้บริหารลูกหม้อดั้งเดิม "พิเชษฐ์ ฤกษ์ปรีชา” นั่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ชายผู้นี้มาพร้อมไอเดียน่าสนใจ ที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับตัวเลข หรือยอดคนใช้บริการ หากแต่ต้องการโมเดลที่จะดึงให้ผู้ใช้งานใช้เวลาอยู่บนไลน์ได้ใน 24 ชั่วโมงแบบ “ไม่เสพติด”

แม้ไลน์จะมีผู้ใช้งานในไทยมากถึง 44 ล้านคน คิดเป็น 90% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต และสามารถตรึงให้คนใช้เวลาบนไลน์ได้มากกว่า 60 นาทีต่อวันผ่านบริการที่มีมากมายนับ 10 บริการ โดยเมื่อปี 2561 ทำรายได้ในประเทศไทยมากกว่า 2 พันล้านบาท หากเขาและทีมงานยังทำการบ้านอย่างหนัก เพื่อต้องการรู้ให้ได้ว่า user journey ในแต่ละวัน ช่วงไหนมี gap ที่ยังสามารถเติมเต็มบริการได้อีก ภายใต้แนวคิิดที่เขาเชื่อว่า ไลน์ คือ Life Infrastructure ของคนยุคนี้

“พิเชษฐ์" ให้สัมภาษณ์พิเศษ สื่อเครือเนชั่น และฐานเศรษฐกิจ เป็นครั้งแรกเมื่อไม่นานมานี้ ระบุว่า ปัจจุบันไลน์เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีผู้ใช้ขลุกอยู่กับบริการมากที่สุดใน 24 ชั่วโมง และ “ไทย” ถือเป็นตลาดใหญ่มากเป็นอันดับ 2 รองจากญี่ปุ่น ทั้งเป็นประเทศที่ไลน์ลงทุนเป็นจำนวนมาก จนปัจจุบันมีพนักงานในไทยมากถึง 500 คน ราว 200 คนเป็นเอ็นจิเนียที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างระบบและบริการต่างๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภค

เข้าถึงผู้บริโภค 24 ชม.

"ไลน์ไม่ได้เป็นแค่แชทแอพหรือ ซูเปอร์ แอพ เท่านั้น ด้วยนวัตกรรมต่างๆ ที่เราพัฒนา และมีให้บริการบนแพลตฟอร์มของไลน์ เราตั้งเป้าเป็น Life Infrastructure ซึ่งจะกลายเป็นหนึ่งในปัจจัยพื้นฐานการใช้ชีวิตของคนในยุคปัจจุบัน เป็นแพลตฟอร์มที่เข้าถึงได้ตลอด 24 ชั่วโมงในทุกๆ วัน เรียกได้ว่า ผู้ใช้สามารถเข้าถึงไลน์ ตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอน และด้วยบริการที่หลากหลายของไลน์ ทำให้เราสามารถตอบโจทย์การใช้ชีวิตผู้ใช้งานได้ ทั้งเรื่องการทำงาน เรื่องส่วนตัว สาระ และความบันเทิงต่างๆ" พิเชษฐ กล่าว

หากการไปถึงเป้าหมายนั้น บิซิเนส อีโคซิสเต็มส์ ต้องหลากหลายและครอบคลุม ตอบโจทย์ชีวิตประจำวันของผู้คน เทคโนโลยีต้องใช้งานง่าย และเป็นบิซิเนส โซลูชั่นให้กับแบรนด์ รวมถึงผู้ประกอบการที่สามารถสร้าง Engage กับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

พิเชษฐ เล่าต่อว่า ไลน์ให้ความสำคัญกับทุกโปรดักส์ที่ทำ มีโจทย์ที่อยากเติมบริการลูกค้าให้ครบอยู่ตลอด และต้องตอบโจทย์สิ่งที่เป็น pain point ของลูกค้าได้

"บริการของไลน์ ต้องแก้ปัญหา user experience ให้ได้ เป็นสิ่งที่ Founder ของไลน์ พูดกับเราเสมอว่าให้เราครีเอท wow คือ ถ้าเราทำโปรดักส์ได้ถูก ทราฟฟิกหรือบิซิเนสจะมาเอง ซึ่งเราไม่ได้อยากให้ผู้ใช้เสพติดไลน์ขนาดนั้น แค่อยากหาโปรดักส์ที่ตอบโจทย์การใช้งานในชีวิตประจำวัน ไม่จำเป็นต้องอยู่บนไลน์ 24 ชั่วโมง แต่ใน 24 ชั่วโมง ถ้านึกจะทำอะไร ไลน์ต้องสามารถตอบโจทย์ได้ ไม่ว่าซื้อของ โอนเงิน อ่านข่าว ดูหนัง หรือทำงาน”

ต้อง “คิด” ให้เหนือคู่แข่ง

พิเชษฐ์ บอกว่า ความท้าทายของไลน์ในฐานะของ “เทค คอมพานี” คือ การอยู่ในธุรกิจที่แข่งขันสูง มีทั้งผู้เล่น รายเล็ก รายใหญ่ โดยเฉพาะคู่แข่งระดับโลก จึงจำเป็นต้องหาบริการที่ตอบโจทย์ได้เหนือกว่า เนื้อหาและผลิตภัณฑ์ ต้องพัฒนาแบบ Hyper Localize

"เราอยู่ในอินดัสทรี ที่แข่งขันค่อนข้างสูง คนที่เราแข่งด้วยมีตั้งแต่รายเล็กจนถึงระดับโลก ดังนั้นต้องหาอะไรที่เราต้องตอบโจทย์ได้ดีกว่าเขา มันก็ต้องมีวิธีของเรา จุดเด่นของคนไทย คือ พฤติกรรมที่เฉพาะตัว เนื้อหา หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำต้องโลคัลไลซ์จริง ให้เขาใช้งานง่ายมากขึ้น จะเห็นว่าทุกโปรดักส์พอผ่าน ไลน์ มันจะใช้งานง่าย เราอยากเป็นเบอร์ 1 แบบที่ว่าเวลาคนไทยอยากทำอะไร ภายใน 24 ชม. ต้องนึกถึงไลน์"

สำหรับบริการที่ไลน์มีมากกว่า 10 บริการนั้น พิเชษฐ บอกว่า เติบโตทุกบริการ โดยเฉพาะแอพแชทที่ยังเป็นบริการเรือธง เช่นเดียวกับไลน์ สติกเกอร์ที่มียอดการเติบโตสูง ซึ่งไทยติด 1 ใน ประเทศที่มีจำนวนสติกเกอร์สะสมโดยเฉลี่ยต่อผู้ใช้ 1 คนสูงถึง 65 ชุด เป็นสติกเกอร์ที่จำหน่ายสูงถึง 20 ชุด ติดอันดับ 1 ใน 3 ประเทศที่มีการเติบโตสูงสุด ซึ่งไลน์ พร้อมขยายรูปแบบของคอนเทนท์ให้หลากหลาย ขยายช่องทางการจำหน่ายไปบนแพลตฟอร์มของพาร์ทเนอร์ให้เข้าถึงคนไทยทั่วประเทศ ควบคู่ไปกับการสนับสนุนครีเอเตอร์ไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ปัจจุบันมีผู้ทำอาชีพครีเอเตอร์หรือนักออกแบบสติกเกอร์กว่า 480,000 คนในไทย

ปั้นบริการตอบโจทย์คนไทย

นอกจากนี้ บริการอย่าง ไลน์ เมโลดี้ ที่เพิ่งเปิดให้บริการเมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา มีการเติบโตสูงขึ้น ไลน์โอเอ หรือ Line Official Account ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมกลุ่มธุรกิจที่เข้ามาใช้บริการ 3 ล้านราย ส่วนไลน์ทีวี เป็นอีกหน่ึ่งบริการที่ไลน์มองว่าจะเติบโตมากในอนาคต ด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปหันมารับชมทีวีย้อนหลังมากขึ้น โดยมีระยะเวลาโดยเฉลี่ยของผู้ชมรายการบนไลน์ทีวี ประมาณ 2 ชั่วโมงต่อวัน

ส่วนบริการไลน์แมน เขาบอกว่า น่าจะเป็นบริการเดลิเวอรี่ที่มีฐานข้อมูลใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยขณะนี้ไลน์แมน ที่มีฐานร้านอาหารอยู่ 50,000 กว่าร้าน ให้บริการส่งอาหารในกรุงเทพ ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ โดยปีนี้จะขยายไปต่างจังหวัด เริ่มที่พัทยา และขยายต่อไปตามหัวเมืองใหญ่ๆ

เมื่อถามถึงเป้าหมายของไลน์ในอีก 3-5 ปี ข้างหน้า ซีอีโอลูกหม้อของไลน์ บอกว่า แค่ 1 ปี ก็จะการเปลี่ยนแปลงที่เยอะแล้ว เพราะธุรกิจอยู่ในโลกของเทคโนโลยี แต่ไลน์ยังคงยืนหนึ่งการเป็น เทค คอมพานี และพร้อมพัฒนาบริการใหม่ๆ ตอบโจทย์ลูกค้าให้ได้อย่างต่อเนื่อง

"ภายในปีนี้ จะมีบริการใหม่มาเสริมอีกแน่นอน เรามีโปรดักส์ที่บริษัทแม่พัฒนาออกมาอยู่เรื่อยๆ ซึ่งเราต้องดูที่ความเหมาะสม แต่เน้นว่า บริการที่จะนำเข้ามา หากมีกฏหมายที่เกี่ยวข้องยังไม่ชัดเจน ไลน์จะยังไม่ทำ ยกตัวอย่าง ไลน์ แท็กซี่ เราก็ยังไม่นำเข้ามา มีหลายอย่างที่อยากทำ แต่ถ้ากฏหมายยังไม่ชัดเจน ก็ไม่ทำ อย่างฟินเทคไต้หวันมีแล้ว ญี่ปุ่นมีแล้ว แต่เรายังรอความพร้อมของกฏหมายในไทย"

ยันเสียภาษีถูกต้อง

พิเชษฐ์ ยังได้ตอบคำถามเกี่ยวกับ “ภาษี” ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทเทคโนโลยี ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่เขาตอบอย่างชัดเจน โดยระบุว่า ไลน์เป็นผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียที่มีการจดทะเบียนบริษัทในไทย ธุรกรรมทั้งหมดทำในไทย มีการเสียภาษีถูกต้องตามกฎหมายไทย

"ถ้าพูดถึงภาษีอีคอมเมิร์ซ โปรดักส์ที่ขายผ่านไลน์ มันถูกกฏหมายอยู่แล้ว ไลน์ชอปปิง มีการจ่ายภาษีอย่างถูกต้อง ส่วนเม็ดเงินโฆษณา ไลน์ปฏิบัติตามกฏหมายไทย อันนี้ชัดเจน เม็ดเงินโฆษณาเราผ่านไลน์ ประเทศไทย ต้องบอกว่าผมมีค่าใช้จ่ายในประเทศไทยเยอะ พนักงาน 500 กว่าคน การทำบัญชีต้องตรงไปตรงมา จริงๆ แล้วเขาไม่ได้หมายถึงเรา แต่ไลน์มักจะโดนพ่วงไปด้วยตลอด ลองไปดูข้อมูลลึกๆ จะเห็นว่า ไลน์ลงทุนในประเทศไทยเยอะกว่าแพลตฟอร์มอื่น”

ไลน์ จดทะเบียนในตลาดไทยในชื่อ บริษัทไลน์ คอมพานี ปี 2561 มีรายได้รวม 2,333 ล้านบาท ซึ่งเติบโตอย่างรวดเร็วจากปี 2560 ที่มีรายได้ราว 990 ล้านบาท