บราเดอร์ย้ำ‘ดาต้า’หัวใจทรานส์ฟอร์ม

บราเดอร์ย้ำ‘ดาต้า’หัวใจทรานส์ฟอร์ม

“บราเดอร์” แชร์ประสบการณ์ทรานส์ฟอร์มองค์กร เผยมองหาโอกาสใหม่ในตลาดแล้วแตกไลน์ทำสินค้าและบริการใหม่ที่แตกต่างจากธุรกิจหลัก ระบุ “ดาต้า” สำคัญสุดที่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงสำเร็จ

นายพงษ์พันธ์ สุระวัฒน์เจริญ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาด บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวในการเสวนา “บิสิเนส โซลูชั่น ฟอร์ ทรานส์ฟอร์ม” จัดโดยเครือฐานเศรษฐกิจว่า องค์กรธุรกิจตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่ต่างตื่นตัวและเร่งพัฒนาธุรกิจ โดยการนำโซลูชั่นต่างๆ มาใช้กับการบริหารจัดการ เช่นเดียวกับบราเดอร์ที่พยายามปรับเปลี่ยนและพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่องในทุกกลุ่มธุรกิจ โดยแตกไลน์ไปสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ นอกจากธุรกิจเครื่องพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นระบบตรวจสอบทรัพย์สินผ่านแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน หรือที่เรียกว่า TRACKMO และการทำสายรัดข้อมือผู้ป่วย 

รวมทั้งพยายามมองหาโอกาสใหม่ๆ จากตลาดและขยายความร่วมมือกับพันธมิตรในการดำเนินธุรกิจ เป้าหมายเพื่อรักษาความเป็นผู้นำในตลาด ปรากฏว่าผลประกอบการปีล่าสุดเติบโตถึง 7% มากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 5% หากมองย้อนไปตลอด 6 ปีที่ผ่านมา (ช่วงปี 2557-2561) รายได้เติบโตเพิ่ม 1.6 เท่า สวนทางกับภาพรวมตลาดเครื่องพิมพ์ที่ลดลง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทที่ตลาดหดตัวลง 5% ส่วนเครื่องพิมพ์เลเซอร์ลดลง 3% 

“จุดเริ่มต้นเล็กๆ แต่เป็นจุดสำคัญที่ทำให้บราเดอร์ หรือองค์กรที่มีการทรานส์ฟอร์มแล้วนั้นประสบผลสำเร็จ คือ ”ดาต้า" แม้จะทำการตรวจสอบย้อนหลังไป 30-40 ปี ข้อมูลในระบบเหล่านี้ก็จะยังคงอยู่และเมื่อถึงจุดเปลี่ยนที่จะมีการนำเอไอมาใช้ ก็จะสามารถต่อยอดสู่ขั้นตอนต่อไปได้อย่างสมบูรณ์ จึงถือเป็นบิสิเนส โซลูชั่น ฟอร์ ทรานส์ฟอร์ม ที่แท้จริง”

ข้อมูลการวิจัยของ IDC Research ด้านการสำรวจองค์กรในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก พบว่า 25% จากกลุ่มสำรวจยังไม่มีการเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงองค์กร ยังเป็นดิจิทัล Resister และอีก 40% ที่เป็นคนส่วนใหญ่ของภูมิภาคนี้เกิดการตื่นตัวว่าจะต้องเปลี่ยนแต่ไม่รู้จะเปลี่ยนไปในทิศทางใด เริ่มต้นจากจุดไหน Explorer อย่างไร และมีแค่ 30% เท่านั้นที่ปรับตัวแล้วก้าวหน้าท่ามกลางเทคโนโลยี ซึ่งทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าไม่ใช่แค่ประเทศไทยที่ตื่นตัวและกำลังจะก้าวข้ามผ่านการเปลี่ยนแปลง แต่ทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกก็กำลังเริ่มเช่นกัน

สำหรับผู้ที่จะทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์ม จะต้องพิจารณาองค์ประกอบหลัก 3 ข้อ ดังนี้ 1.การสร้างประสบการณ์ใหม่ให้ลูกค้า 2.ปรับปรุงกระบวนการปฏิบัติงานให้กระชับรวดเร็วยิ่งขึ้น ให้มีต้นทุนที่ถูกลง อะไรที่ไม่สำคัญก็เอาท์ซอสให้บุคคลอื่นที่เชี่ยวชาญเข้ามาทำ และหลักสุดท้ายคือการขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดการสร้างโปรดักส์หรือธุรกิจใหม่ๆ ขึ้นมาในองค์กรหรือในบริษัท

นายพงษ์พันธ์ ยังยกกรณีตัวอย่างจาก Burberry ในอดีตมีกลุ่มเป้าหมายคือคนยุคเบบี้บูมเมอร์และเจนเอ็กซ์ แต่อยากจะขยับขึ้นมาเป็นกลุ่มมิลเลเนียนที่มีทุนทรัพย์ สิ่งที่แบรนด์ดังนี้ทำคือปรับปรุงช่องทางการสื่อสารมุ่งโซเชียลมีเดียและเว็บไซต์ พร้อมทั้งนำแพลตฟอร์มวีแชทของจีนมาปรับใช้กับธุรกิจ รวมถึงเข้าถึงระบบอีคอมเมิร์ซให้ลูกค้าสามารถคลิกสั่งซื้อแฟชั่นใหม่ๆ ได้ทันที 

วันนี้แบรนด์เสื้อผ้าหรูดังกล่าวมีฐานข้อมูลลูกค้าเชื่อมถึงกันทั่วโลก อีกทั้งส่งผลต่อสมรรถภาพในการบริหารงานอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการประหยัดเวลา การตอบลูกค้า การดึงดูดกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ผ่านการใช้ดิจิทัลเป็นตัวเชื่อม และสุดท้ายคือการทรานส์ฟอร์มธุรกิจที่นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีเกินคาดหมาย