10 เทรนด์แพ็คเกจจิ้ง สะดุดใจผู้บริโภคยุคใหม่

10 เทรนด์แพ็คเกจจิ้ง  สะดุดใจผู้บริโภคยุคใหม่

10 เทรนด์ใหม่การออกแบบบรรจุภัณฑ์ตั้งแต่สไตล์ “มินิมอล” จนถึง “ดีไซน์ย้อนอดีต” วิเคราะห์โดยผู้เชี่ยวชาญจากม.กรุงเทพ ที่จะถูกกล่าวถึงมากบนโลกโซเชียล หวังเป็นไกด์ไลน์ให้ดีไซเนอร์นำไปพัฒนาบรรจุภัณฑ์ตอบโจทย์ “อีโมชั่น” คนรุ่นใหม่

ไทยเป็นประเทศที่มีการบริโภคมากที่สุดประเทศหนึ่ง มีตลาดการพิมพ์บรรจุภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียแปซิฟิก อีกทั้งศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังระบุว่าตลาดบรรจุภัณฑ์ในไทยมีการผลิตราว 6 ล้านตันต่อปี มีมูลค่าทางธุรกิจกว่า 1.5 แสนล้านบาท และคาดว่าความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ในภูมิภาคจะมีสัดส่วนสูงถึง 40% ในปี 2565 ซึ่งได้รับอานิสงส์จากกลุ่มธุรกิจหลักของประเทศอย่างอาหารและเครื่องดื่มที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่ม Ready to Eat จึงเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการที่จะออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด

ด่านแรกชนะใจผู้บริโภค

นลินี ทองแท้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบบรรจุภัณฑ์ และอาจารย์ด้านการออกแบบกราฟฟิกและผลิตภัณฑ์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้เปิดเผยระหว่างการสัมมนา “เปิดไอเดียบรรจุภัณฑ์อาหาร ปี 2020” ในงาน Pack print international 2019 โดยนำเสนอ 10 เทรนด์การออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่มาแรงในปี 2563 ประกอบด้วย

1.มินิมอล คงความเรียบง่าย ใช้การสื่อสารน้อยแต่สื่อสารกระชับ 2.อาร์ตเวิร์ค นำผลงานภาพวาดของศิลปิน หรือใบหน้ามาออกแบบและย่อส่วนไว้บนบรรจุภัณฑ์ 3.การไล่เฉดสีพื้น เพื่อเพิ่มมิติให้กับตัวบรรจุภัณฑ์โดดเด่นสังเกตได้ตั้งแต่ไกล 4.แบบเรียบ ลดทอนกราฟฟิก โฟกัสไปที่จุดสำคัญมากยิ่งขึ้น 5.เน้นคำ (Big Word) ไม่เน้นดีไซน์แต่เน้นคำพูด 6.ลายเส้นมือ เติมเส้นเพื่อสร้างความนุ่มนวล 7.ดีไซน์ย้อนยุค ความเก่าเป็นสิ่งที่โหยหาของผู้คนในปัจจุบัน 8.โทนสีแนวขาวดำ เพิ่มความหนักแน่นให้กับตัวแบรนด์และตัวสินค้า เดิมพบในผลิตภัณฑ์ของผู้ชาย แต่ปัจจุบันเริ่มใช้สีขาวดำในสไตล์ที่เรียบง่ายขึ้น ทำให้เป็นเทรนด์การออกแบบที่สามารถอยู่ได้ในทุกสินค้าทั้งผลิตภัณฑ์ของผู้หญิงและผู้ชาย 9.วัสดุรักษ์โลก ใช้วัสดุรีไซเคิลหรือพิมพ์สีน้อยลง  10.การใช้ภาพถ่ายสื่อสาร โดยเฉพาะในกลุ่มบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่ม ด้วยการใช้ภาพถ่ายจริงมาประกอบเพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจถึงตัวสินค้า รวมถึงภาพอาหารที่สวยงามเหมาะสม และสะท้อนคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้กับผู้พบเห็นอีกด้วย

“ขณะเดียวกัน ในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์จะต้องทำงานร่วมกันเป็นทีม ทั้งนักออกแบบและนักการตลาด เพื่อที่จะสามารถสะท้อนเอกลักษณ์ของแบรนด์ และข้อมูลผลิตภัณฑ์ได้ถูกต้อง อีกทั้งควรพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้มีความอัจฉริยะมากขึ้นและเป็นมากกว่าแค่ที่ใส่สินค้าสินค้า อาทิ บรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มน้ำอัดลมที่ใช้วัสดุเรืองแสงได้ในความมืด เพื่อสร้างการรับรู้ใหม่ให้กับผู้บริโภค อาจจะส่งผลต่อการบอกต่อบนโลกออนไลน์และทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักมากขึ้น” นลินี กล่าว

ผลิตภัณฑ์ของคนรุ่นใหม่

นอกจากเรื่องของบรรจุภัณฑ์ที่ดึงดูดใจแล้ว ผู้บริโภคยุคใหม่ยังมีความต้องการผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติ ดังนี้ 

1.สุขภาพพร้อมคลีน ทำให้เทรนด์ความนิยมสินค้าที่ติดฉลากเป็น Clean Labal มาแรง เพราะต้องบอกถึงส่วนผสมอย่างครบครัน

2.บรรจุภัณฑ์ใส่สมอง (Smart Packaging) ความต้องการรับรู้เรื่องผลิตภัณฑ์เชิงลึก เช่น ในต่างประเทศมีฉลากแสดงระดับความสุกของผลไม้ในหีบห่อ  

3.คุณภาพและความปลอดภัย (Certified & Safe) ความปลอดภัยในการใช้ผลิตภัณฑ์และประโยชน์ที่จะได้รับ เช่น ตรารับรองอาหารและผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคของสหรัฐ USDA Organic บนถุงกราโนลา แสดงถึงบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

4.เพื่อสภาพแวดล้อมและโลกสีเขียว (Still Green & Eco) 

ฉะนั้น การที่จะรังสรรค์บรรจุภัณฑ์สินค้าใดๆ ออกมาวางตลาดควรที่จะคำนึงถึงแนวโน้มข้างต้น เพื่อเหมาะสมกับความต้องการของผู้บริโภค เมื่อโลกเชื่อมต่อกันด้วยอินเทอร์เน็ต กระแสความเป็นไปของค่านิยมต่างๆ มักจะถูกกระตุ้นง่ายและรวดเร็ว เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ สิ่งไม่เว้นแม้แต่พฤติกรรมของผู้บริโภคที่หมุนไปตามวงจรนี้เช่นกัน ในฐานะผู้ประกอบการหากจะตัดสินใจผลิตสินค้าสักชิ้นให้เตะตาผู้บริโภคยุคใหม่ คงต้องคำนึงถึง “บรรจุภัณฑ์” ที่เปรียบเสมือนประตูด่านแรกของการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภค เพราะไม่เช่นนั้นอาจจะตกเป็นผู้เล่นรายสุดท้ายที่จะเข้าสู่เส้นชัยในสนามแข่งขันนี้