“เอ็มอาร์โอ”เสี่ยงสะดุดปมตีความสัญญา

“เอ็มอาร์โอ”เสี่ยงสะดุดปมตีความสัญญา

“เอ็มอาร์โอ” ยังติดหล่ม หลังแอร์บัสติงโครงการอาจไม่เข้าข่ายร่วมทุนพีพีพี เหตุไม่ใช่โครงสร้างพื้นฐาน ชี้เป็นเพียงการร่วมทุนระหว่างเอกชน และรัฐวิสาหกิจ ต้องเดินหน้าสัญญาไร้อายุ ขณะที่ “บินไทย” มั่นใจโครงการต้องเกิด คาดแอร์บัสยื่นข้อเสนอไม่เกิน ต.ค.นี้

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าของโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน (เอ็มอาร์โอ) โดยระบุว่า ขณะนี้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทแอร์บัส ซึ่งเป็นผู้ร่วมลงทุนอยู่ระหว่างเจรจารายละเอียดข้อสัญญาร่วมลงทุน เนื่องจากทางแอร์บัสยังมีข้อสงสัยในประเด็นโครงการดังกล่าว ไม่เข้าข่ายข้อกฎหมายเอกชนร่วมลงทุนโครงการรัฐ (พีพีพี)

“ตอนนี้ที่ยังติดขัด ไม่สามารถเดินหน้าขั้นตอนอื่นได้ เพราะทางแอร์บัสตีความว่าโครงการอาจไม่ใช่โครงการโครงสร้างพื้นฐาน ดังนั้นจะไม่ตรงกับเงื่อนไขการร่วมลงทุนในรูปแบบพีพีพี”

ทั้งนี้ การตีความในสัญญาที่แตกต่างกัน ทางแอร์บัสจึงมีข้อกังวลในเงื่อนไขโครงการนี้ เพราะมีการระบุว่ามีสัญญาร่วมทุน 50 ปี ก่อสร้างพร้อมบริหารครบสัญญาจะต้องคืนทรัพย์สินให้กับภาครัฐ ณ วันสิ้นสุดสัญญา

โดยทางแอร์บัสไม่ได้ตีความว่าโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องสัญญาลักษณะนั้น รวมทั้งมองว่าโครงการน่าจะเป็นในลักษณะการร่วมลงทุนในกิจการมากกว่า ดังนั้นการบริหารงานระหว่างการบินไทย และแอร์บัส ควรออกมาในรูปแบบการร่วมลงทุน และบริหารความเสี่ยงร่วมกัน และบริหารงานร่วมกันไปเรื่อยๆ แบบไร้อายุสัญญา

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ทางแอร์บัสอยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดร่างสัญญาร่วมลงทุน เพื่อให้สรุปข้อเสนอทั้งหมดมาหารือร่วมกับคณะกรรมการคัดเลือกของโครงการฯ ก่อนจะสรุปเสนอ สกพอ. และรายงานไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาปรับแก้เงื่อนไขของการร่วมลงทุน หรือตีความโครงการร่วมทุนนี้ใหม่อีกครั้ง

“ตอนนี้แอร์บัสยังสนใจที่จะร่วมทุนโครงการนี้ เพราะดีมานด์มีอยู่แล้ว และยืนยันไม่มีเงื่อนไขเรื่องซื้อเครื่องบินแอร์บัสก่อน ตอนนี้หารือเฉพาะในส่วนของการร่วมทุนแอร์บัสอย่างเดียว"

สำหรับโครงการพัฒนาเอ็มอาร์โออู่ตะเภาตามแผนลงทุนของการบินไทย จะดำเนินการบนพื้นที่ประมาณ 210 ไร่ โดยแบ่งระยะการลงทุนออกเป็น ระยะแรกช่วงปี 2565 - 2583 จะลงทุนประมาณ 6.3 พันล้านบาท โดยการบินไทยลงทุนเอง 2 พันล้านบาท ที่เหลือจะเป็นการลงทุนของภาคเอกชน เพื่อใช้ในการก่อสร้างโรงซ่อมบำรุง และจัดซื้ออุปกรณ์

โดยโครงการนี้จะสามารถรองรับการซ่อมบำรุงอากาศยานได้ราว 80-100 ลำ ตามแผนคาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในปี 2565 มีเป้าหมายสร้างรายได้ในปีแรกอยู่ที่ 400 – 500 ล้านบาท จากการซ่อมอากาศยาน 10 ลำ และประเมินว่าจะมีการเติบโตของรายได้เฉลี่ยอีกปีละ 2% และในช่วง 50 ปีจะมีรายได้รวม 2 แสนล้านบาท

นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เบื้องต้นทราบว่าทางแอร์บัสจะยื่นข้อเสนอไม่เกินเดือน ก.ย. – ต.ค.นี้

“ตอนนี้ก็ต้องรอให้ทางแอร์บัสยื่นข้อเสนอกลับมาก่อน และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ก็จะมีการประชุมหารือในรายละเอียด แต่ทราบว่าแอร์บัสจะยื่นข้อเสนอแน่ๆ เพราะเขาก็มีความตั้งใจที่จะทำโครงการนี้ เพราะดีมานด์ในธุรกิจมีอยู่แล้ว แต่ยังติดในรายละเอียดที่ต้องเจรจากันเล็กน้อย” 20180920153843045_1