เพิ่มประสิทธิภาพ อปท.-จัดสรรงบ โจทย์หินพัฒนาเชิงพื้นที่

เพิ่มประสิทธิภาพ อปท.-จัดสรรงบ  โจทย์หินพัฒนาเชิงพื้นที่

การพัฒนามีหลากหลายรูปแบบ แต่ “การพัฒนาเศรษฐกิจเชิงพื้นที่” ซึ่งรัฐบาลกำลังผลักดันให้ "อีอีซี" เป็นต้นแบบการพัฒนาเชิงพื้นที่ แต่พื้นที่อื่นมีกลไกที่พร้อมน้อยกว่า โดยเฉพาะการจัดสรรงบประมาณและความพร้อมของ อปท.

สนิท อักษรแก้ว ประธานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวถึงแนวทาง การพัฒนาเชิงพื้นที่ของประเทศ ว่า ปัจจัยความสำเร็จอยู่ที่การสร้างความมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนให้พัฒนาพื้นที่ไปในทิศทางเดียวกันโดยต้องสร้างการมีส่วนร่วมจากคนในชุมชน และพื้นที่ต่างๆให้มีส่วนร่วม แสดงความคิดเห็น มีส่วนในการวางแผนและพัฒนาพื้นที่ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายในแต่พื้นที่ของประเทศไทย

“การสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะพื้นที่ที่จะมีโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ เช่นในพื้นที่อีอีซี จะต้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งจะทำให้เกิดการยอมรับและเข้าใจถึงประโยชน์ที่ประเทศและชุมชนจะได้รับ จะทำให้การพัฒนาเชิงพื้นที่ประสบความสำเร็จได้อย่างแท้จริง”

ทั้งนี้การบริหารจัดการเชิงพื้นที่เป็นเครื่องมือการบริหารของภาครัฐในการตัดสินใจกำหนดทิศทางเชิงนโยบาย การจัดทรัพยากรเพราะที่ผ่านมาการรวมศูนย์ดังกล่าวทำให้การตัดสินใจรวมอยู่ที่ส่วนกลางไม่สามารถแก้ปัญหาหรือตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้ทั้งหมด โดยรัฐบาลมีเป้าหมายให้ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นต้นแบบของการพัฒนาพื้นที่อื่น

ข้อมูลจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เรื่องการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ : ความร่วมมือทุกภาคส่วนและการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม (Collaborative Governance) ระบุว่า ปัจจุบันรัฐปรับแนวคิดการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ เพื่อให้มีประสิทธิภาพขับเคลื่อนไทยสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้ ภาครัฐได้พยายามสร้างกลไกในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่หลายระดับทั้งนโยบายระดับกลุ่มจังหวัด ภาค การพัฒนาคุณภาพชีวิตเชิงพื้นที่

รวมทั้งการจัดตั้ง เขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญในพื้นที่ต่างๆ ที่มีจุดเด่นและศักยภาพแตกต่างกันและการขับเคลื่อนนโยบาย อีอีซี เป็นหนึ่งในความพยายามวางแผนการพัฒนาเชิงพื้นที่ของรัฐบาล

การพัฒนาเชิงพื้นที่ลักษณะเดียวกับอีอีซีต้องคำนึงถึงปัจจัยสนับสนุนและความท้าทายที่มีผลต่อการพัฒนาเชิงพื้นที่โดยโอกาสหรือปัจจัยสนับสนุนประกอบด้วย 4 ปัจจัยคือ

1.ความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งของไทยควรมองถึงการเชื่อมโยงกับจีนเอเชียและตะวันตก ซึ่งเป็นความได้เปรียบด้านเส้นทางคมนาคมของไทย 

2.ความตื่นตัวของสังคมในการพัฒนาท้องถิ่น  ทำให้ภาคีเครือข่ายที่ดำเนินกิจกรรมกับภาครัฐสามารถแสดงออกทางความคิดเห็นเพื่อร่วมพัฒนา ท้องถิ่นและตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานภาครัฐได้สะดวกมากยิ่งขึ้น หน่วยงานภาครัฐที่ต้องการเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วมเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ในการปรับปรุงแนวทางการบริหารจัดการเชิงพื้นที่แบบมีส่วนร่วม

3.ความก้าวหน้าเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทำให้มีการเรียนรู้/สื่อสารอย่างใกล้ชิดกันเพิ่มขึ้น  

4.การเลื่อนไหลของกระแสวัฒนธรรมโลกที่สามารถผสมผสานกับวัฒนธรรมท้องถิ่นส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต ทัศนคติ ความเชื่อ ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล การเรียนรู้และการ บริโภคในรูปแบบต่างๆนับเป็นปัจจัยหนึ่งที่ภาครัฐ ต้องให้ความสำคัญและใช้ประโยชน์จากกระแสดังกล่าวในเชิงสร้างสรรค์ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการ ปรับปรุงแนวทางการบริหารจัดการเชิงพื้นที่แบบมีส่วนร่วมต่อไป

สำหรับความท้าทาย 4 ประการที่ส่งผลต่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่ต้องเตรียมพร้อมได้แก่

1.ความเหลื่อมล้ำในมิติต่างๆ เช่น การเข้าถึงเทคโนโลยี การบริการ และโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะใน พื้นที่ห่างไกลหรือในกลุ่มผู้ด้อยโอกาสที่มักได้รับบริการที่มีคุณภาพต่ำกว่า และไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้

2.การบริหารจัดการภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และระบบการให้บริการประชาชน ยังไม่ได้มาตรฐานสากลโดยเฉพาะการให้บริการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ยังไม่มีประสิทธิภาพและความโปร่งใสบางจุด กระบวนการที่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมใน การตัดสินใจและใช้งบประมาณยังไม่เพียงพอซึ่งต้องปรับปรุง

3.การขยายตัวของเมืองเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จากข้อมูลสำมะโนประชากรและเคหะในรอบ 40 ปี (2523-2553) พบว่า จำนวนประชากรเมืองเพิ่มขึ้น จาก 26.4% ในปี 2523 เป็น 44.1% ในปี 2553 และคาดว่าภายใน 10 ปี ข้างหน้าจะมีประชากรเมืองเพิ่มขึ้นเป็น 60% แม้ว่าการขยายตัวของเมืองจะเป็นโอกาสในการยกระดับ รายได้และคุณภาพชีวิต แต่ต้องมีการบริหารจัดการเพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองในอนาคต

4.กระบวนการจัดสรรงบประมาณยังขาดประสิทธิภาพเท่าที่ควร เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านกฎหมาย ระเบียบขั้นตอนการจัดสรรงบประมาณที่ซ้ำซ้อนการทำงานที่เน้นความเป็นเอกเทศของกระทรวง กรม กอง ไม่ บูรณาการในการแก้ไขปัญหาระดับชาติ ตลอดทั้งขาดการบูรณาการในมิติต่างๆ มีสภาพเป็นเบี้ยหัวแตกไม่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงซึ่งแผนพัฒนาจังหวัดซึ่งเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนการจัดสรรงบประมาณลง สู่พื้นที่ยังไม่มีคุณภาพเท่าที่ควรในหลายจังหวัด

การจัดทำนโยบาย แผนงาน โครงการ ไม่สอดคล้องกับความต้องการ ของประชาชนส่วนใหญ่ของสังคมไทยอย่างแท้จริง จึงนับเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องเร่งปรับปรุง เพื่อให้การบริหารจัดการเชิงพื้นมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น