'พาณิชย์'เผย 8 เดือนแรกปีนี้ ธุรกิจหอบเงินลงทุนอีอีซีพุ่ง 38%

'พาณิชย์'เผย 8 เดือนแรกปีนี้  ธุรกิจหอบเงินลงทุนอีอีซีพุ่ง 38%

ภาคธุรกิจตบเท้าเข้า "อีอีซี" หลังยอดจดทะเบียนตั้งธุรกิจใหม่ 8 เดือนแรกปีนี้ ด้านจำนวนธุรกิจเพิ่มขึ้นเพียง 2.03% ขณะที่ด้านทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้น 38% ชลบุรีธุรกิจมากสุด

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า สถิติการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ส.ค.2562 มีจำนวน 4,976 ราย เพิ่มขึ้น 2.03% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2561 โดยมีทุนจดทะเบียนจัดตั้ง 17,462ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38.05% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2561

สำหรับประเภทธุรกิจที่มีการจัดตั้งสูงสุด 3 อันดับแรกได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ 829ราย มูลค่าทุนจดทะเบียนจัดตั้ง 2,364ล้านบาท รองลงมาคือก่อสร้างอาคารทั่วไป 398 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 661 ล้านบาท และภัตตาคารและร้านอาหาร 183 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 438 ล้านบาท

ส่งผลให้มีนิติบุคคลคงอยู่ในพื้นที่อีอีซี 70,301 ราย ทุนจดทะเบียน 1,898,070 ล้านบาท แบ่งเป็น

ฉะเชิงเทรา 5,468 ราย คิดเป็นสัดส่วน 7.78% มูลค่าทุนจดทะเบียน 176,895 ล้านบาท

ชลบุรี 51,728ราย คิดเป็นสัดส่วน 73.58% มูลค่าทุนจดทะเบียน 1,111,338 ล้านบาท

ระยอง 13,105ราย คิดเป็นสัดส่วน 18.64% มูลค่าทุนจดทะเบียน 609,836 ล้านบาท

ส่วนขนาดธุรกิจในพื้นที่อีอีซี เป็นธุรกิจบริการ คิดเป็นสัดส่วน 60.61%และธุรกิจเอสเอ็มอี คิดเป็น 98.15%

ด้านการลงทุนของต่างชาติในนามนิติบุคคลไทย (ถือหุ้นไม่เกิน 49.99%) ที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซี มีมูลค่าทั้งสิ้น 752,780ล้านบาท คิดเป็น 39.66% ของมูลค่าทุนทั้งหมด โดยมีการถือหุ้นของต่างชาติในนามนิติบุคคลที่จัดตั้งในไทย 4 อันดับแรก ได้แก่

1.ญี่ปุ่น 49.93% มูลค่าทุน 375,907ล้านบาท

2.จีน 9.01% มูลค่าทุน 67,872 ล้านบาท

3.สิงคโปร์ 5.63% มูลค่าทุน 42,358 ล้านบาท

4.สหรัฐ 3.71% มูลค่าทุน 27,908 ล้านบาท

สำหรับการจัดตั้งธุรกิจใน เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ 4 จังหวัด (เอสอีซี) ประกอบด้วย ชุมพร ระนอง สุราษฏร์ธานี นครศรีธรรมราช มีจำนวน 1,787 รายเพิ่มขึ้น 9.90%เทียบกับช่วงเดียวกันปี 2561